“มี Blue Card มั้ยคะ” เสียงหวานใสของพนักงานในเสื้อคอปกสีเขียวมะกอกถามขึ้น เมล็ดกาแฟถูกบดเป็นผงพร้อมไออุ่นๆ ลอยขึ้น ถึงรู้ว่าคนแน่นขนัดทุกสาขาแต่ก็อดไม่ได้ที่จะเดินเข้าไปสั่ง ไม่ใช่แค่เพราะกาแฟหอมเตะจมูก แต่บรรยากาศราวถูกป่าขนาดย่อมล้อมรอบก็ดึงดูดไม่แพ้กัน เรียกได้ว่า ‘อเมซอน’ สมชื่อ
แต่ก่อนจะมาถึงเบื้องหน้าที่ลูกค้าหลั่งไหลเข้ามา เบื้องหลัง ‘Café Amazon’ ทั่วทุกแห่งมีความลับที่แสนพิถีพิถันซ่อนอยู่ และคุณไม่ต้องเดินค้นหาที่ไหน เพียงเปิดกล่อง Box Set Amazon ฉีกห่อกาแฟแล้วหลับตาดมกลิ่น นับหนึ่งถึงสามพร้อมลืมตาขึ้นอีกครั้ง อาจพบว่าตัวเองกำลังยืนอยู่บนยอดดอยแล้วก็ได้นะ

และหากพลิกไปด้านหลังของ Box set นี้ก็จะได้เห็นที่มาความอร่อยยาวนาน และรสชาติไม่เคยตก เราอยากพาไปทำความรู้จักกับ ‘โครงการพัฒนาการปลูกกาแฟที่ยั่งยืนฉบับ Amazon (Sustainable Coffee Project)’ จากบริษัทปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่นอกจากจะสร้างโครงการเฟ้นหาเมล็ดกาแฟพันธุ์ดีแล้ว ยังช่วยเหลือเกษตรกรชาวไทยด้วยการส่งเสริมความรู้ เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน เสมือนฟันเฟืองขนาดจิ๋ว (แต่แจ๋ว) ควบคู่ไปกับการเพิ่มแนวคิดอนุรักษ์ป่า ลดการเผาทำลาย เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้แก่โลก ชนิดว่าละเอียดอ่อนทุกกระบวนการ
ตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ’ ที่สนับสนุนการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ร่มเงา ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นตลาดรับซื้อผลผลิตด้วยราคาที่เป็นธรรม สร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกร ทั้งยังก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ ‘Café Amazon Park’ แหล่งวิจัยพัฒนาไว้สร้างกาแฟสายพันธุ์ดีโดยเฉพาะ ช่วยพัฒนาแปรรูปกาแฟให้ได้มาตรฐานแบบครบวงจรกันไปเลย และยังเป็น Landmark ท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งใหม่ให้ผู้คนดื่มด่ำกับธรรมชาติด้วยนะ
‘กลางน้ำ’ รับซื้อกาแฟกะลาโดยตรงจากเกษตรกร ก่อนนำไปแปรรูป ณ โรงแปรรูปเมล็ดกาแฟ Café Amazon อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ส่งตรงด้วยรถบรรทุกไฟฟ้าขนาดใหญ่ไปยังโรงคั่วกาแฟ Café Amazon อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยการใช้ทรัพยากรในการผลิตอย่างคุ้มค่า เช่น ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ จัดการเหล่าของเสียด้วยการรีไซเคิล หรือหากต้องกำจัดทิ้งก็จะไม่ฝังกลบให้เหม็นฉึ่งอยู่ใต้ดิน ทั้งหมดนี้เพื่อจะขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ Carbon Neutrality ให้ได้ภายในปี 2030 และ Net Zero ภายในปี 2050!
หลังจากเสิร์ฟกาแฟกลิ่นกรุ่นๆ ถูกปากคนไทยมายาวนานกว่า 22 ปีแล้ว Café Amazon ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ แต่ยังก้าวต่อด้วยการสร้างความแฟร์ให้แก่โลกใบนี้ ผ่านผลิตภัณฑ์ และโครงการต่างๆ อย่างร้าน Café Amazon for Chance ให้ผู้สูงวัย และผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้สร้างอาชีพ บรรจุภัณฑ์ Café Amazon Bio Cup ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการคืนคัพ รับคืนแก้วพลาสติกใช้แล้วของ Café Amazon เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกให้กับโลก และนี่คือ ‘ปลายน้ำ’ ของ ‘Café Amazon’

เอาล่ะ! เรามาเริ่ม Unbox กล่องกันเลย เริ่มด้วยห่อแรก ‘กาแฟดริปปางขอน’ ที่ปลูกด้วยความใส่ใจของเกษตรกรบ้านปางขอน จ.เชียงราย กลั่นออกมาเป็นเมล็ดที่ Taste Notes หวานคาราเมล ตามด้วยรสดาร์กช็อกโกแลต และเฮเซลนัทติดปลายลิ้น กระซิบว่าเป็นอะราบิกาแท้ 100% เลยเชียว ดูสิ! แค่ห่อแรกก็ยังทำให้อยากเหมาจนหมดเชลฟ์ขนาดนี้ แล้วห่อที่เหลือล่ะจะพาให้คลั่งกาแฟได้มากขนาดไหน

ต่อด้วยกาแฟอะราบิกาคุณภาพเยี่ยมที่ปลูกบนความสูง 1,000 – 1,200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลที่บ้านผาลั้ง จ.เชียงราย หอมละมุนแบบ Floral Notes สะกดให้หลงใหลทุกครั้งที่ดื่มราวดอกไม้บานสะพรั่งล้อมรอบตัว แน่นอนชื่อของห่อนี้ต้องเป็น ‘กาแฟดริปผาลั้ง’

ปิดท้ายด้วยความกลมกล่อมจากชื่อดอยที่คุ้นเคย อย่าง ‘กาแฟดริปดอยอินทนนท์’ ส่งตรงจากต้นกาแฟบนดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เลยเจ้า

เมล็ดกาแฟขนาดจ้อยแต่บ่มเพาะด้วยความใส่ใจแบบเล่นใหญ่ ไม่ใช่แค่เพราะรักกาแฟ และผู้บริโภค แต่ยังรักโลกไปด้วยดังถ้อยคำที่ ‘Café Amazon’ ยึดถือเสมอมา ‘เพราะเราไม่ได้แค่ทำธุรกิจ…แต่เรากำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกที่ดีกว่า’
ถ้าหลังจากนี้ได้ยินคำถามว่า “มี Blue Card มั้ยคะ” บทความนี้อาจทำให้คุณยื่นบัตรสีฟ้าออกไปแลกกับกาแฟหนึ่งแก้ว และความปลาบปลื้มในใจที่มีให้แก่ ‘Café Amazon’
ตอนนี้ตาเริ่มจะปิดแล้ว ขอประเดิมฉีกสักซองเลยแล้วกันนะ