เผลอแวบเดียว ปฏิทินก็ผลัดเปลี่ยนสู่ช่วงปลายปี พร้อมกับลมหนาวน้อยๆ ที่เข้ามาสั่นสะท้านหัวใจ โดยเฉพาะหัวใจดวงที่ยังไม่มีใครจับจอง
คนมีคู่อาจไม่รู้ เพราะพวกเขาคงมีกิจกรรมบันเทิงเริงใจทำกันมากมาย แต่คนที่ไม่มีใคร อาจต้องมองหากิจกรรมบางอย่างที่จะทำคนเดียวได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนข้างๆ และ ‘การอ่าน’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น
การอ่านหนังสือนับเป็นกิจกรรมของคนจำนวนมากมาอย่างยาวนาน ด้วยความที่หนังสือถือเป็นคลังความรู้ขนาดย่อมที่สามารถเปิดมุมมองของคนอ่านให้กว้างไกลได้โดยที่ไม่ต้องลงทุนมากมาย แถมยังพกพาไปไหนมาไหนได้โดยไม่รกพื้นที่ในกระเป๋าสะพายนัก
ใครหลายคนอาจมองว่า ‘หนังสือ’ โดยเฉพาะหนังสือเล่มที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์นั้นอยู่ในช่วงขาลงสุดๆ แต่รู้หรือไม่ว่า ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ผ่านมา (10 – 20 ตุลาคม) มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย อย่างเช่น ยอดขายของสำนักพิมพ์หลายแห่งพุ่งมาก โดยเฉพาะการ์ตูนกับมังงะที่ยอดแซงหน้านิยาย หนังสือที่ต่อยอดมาจากนักเล่าเรื่องทั้งหลาย เช่น ยูทูบเบอร์หรือพอดแคสต์เตอร์ ได้รับความนิยมอย่างมาก รวมถึงจำนวนคนมางานหนังสือกว่า 236,686 คน ในวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม ที่ทำลายสถิติคนมางานสัปดาห์หนังสือที่จัดมากว่า 53 ปี
เช่นนั้นแล้ว แม้คนรุ่นใหม่จะมีทางเลือกบนโลกออนไลน์มากมาย และการพกหนังสือทีละเล่มอาจสู้การพกหนังสือทีละหลายเล่มผ่าน E-Book ไม่ได้ แต่รู้หรือไม่ว่า เดอะ การ์เดียน เคยมีบทความที่กล่าวว่า ‘การหักมุมของพล็อตเรื่อง Gen Z ที่น่าแปลกใจ’ เนื่องจากวัยรุ่นที่เกิดระหว่างปี 1997 ถึง 2012 ชื่นชอบการอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่มมากกว่าแบบดิจิทัลเป็นอย่างมาก หนึ่งในปัจจัยหลักคือ เพื่อหลีกหนีจากความวุ่นวายของโลกดิจิทัล
ถึงกับเคยมีคำแนะนำที่น่าสนใจ สำหรับคนมีอายุที่ต้องการติดตามเทรนด์ล่าสุดในหมู่คนหนุ่มสาว นั่นคือ ‘ให้ไปที่ห้องสมุด’
ในบทความเดียวกัน ฮาลี บราวน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Books on the Bedside ที่ติดตามเทรนด์การอ่านของคนรุ่นใหม่ วัย 28 ปี กล่าวว่า “ขอบเขตหนังสือของ Gen Z นั้นกว้างอย่างไม่น่าเชื่อ” โดยอธิบายว่า คนรุ่น Gen Z มีความชื่นชอบอย่างมากต่อนิยาย วรรณกรรม บันทึกความทรงจำ นิยายแปล และโดยเฉพาะวรรณกรรมคลาสสิก
ที่น่าสนใจคือมันสอดคล้องกับการสำรวจของ Survey Center on American Life ที่ระบุว่า คนรุ่น Gen Z และ Millenials มีอัตราการออกเดตน้อยลง เมื่อเทียบกับเจนก่อนหน้า
เหตุผลนั้นเป็นไปได้หลากหลายปัจจัย เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางบริบทของสังคมในปัจจุบัน แต่มีไม่น้อยเลยที่คนจำนวนไม่น้อยเลือกไม่ผูกสัมพันธ์ แต่อยู่คนเดียวและหันมาเดตกับหนังสือ!
การมีคนรักอาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิต แต่บางครั้งก็อาจเป็นเรื่องยากลำบาก ยิ่งในสภาพสังคมปัจจุบันที่มีปัจจัยหลายข้อทำให้คนต้องเบรกจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่จะสานต่อไปถึงการใช้ชีวิตคู่ เนื่องจากความไม่มั่นคงหลายอย่าง และหันมาอยู่กับตัวเอง และนั่นเอง หนังสือจึงเป็นตัวแทนคู่รักที่คนหันมาให้ความสนใจ
การมีคนรัก ในบางครั้งอาจเกิดความไม่เข้าใจเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งนำไปสู่การทะเลาะกัน แต่เมื่อบ่อยครั้งก็กลายเป็นการสะสมความท็อกซิกในความสัมพันธ์ แต่กับหนังสือ นึกง่ายๆ คือ เราไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟกต์ เพราะหนังสือไม่เคยตัดสินเรา
ไหนๆ คนไม่มีคู่ก็คิดเข้าข้างตัวเองมาถึงตรงนี้แล้ว ลองดูสักหน่อยว่า ในเมื่อไม่มีใครข้างเคียง แต่มีเพียงหนังสือเป็นคู่ใจ แล้วมันมีเรื่องดีๆ อย่างไรซ่อนอยู่ในนั้น
ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘หนังสือเก่า’
คำว่าแฟนเก่าอาจฟังแล้วเจ็บปวดรวดร้าว แต่กับหนังสือ ไม่ว่าเราจะอ่านมาแล้ว 72 ครั้ง หรือไม่ได้เปิดอ่านเลยในรอบหลายปี หนังสือทุกเล่มที่เคยอ่านหรือ ‘กองดอง’ จะยังคงรอคอยอยู่บนชั้น รอวันที่เราจะพร้อมกลับมาเปิดอ่านอีกครั้ง โดยไม่มีดราม่าการรอคอยใดๆ ทั้งสิ้น แน่นอนว่าเราสามารถเลิกอ่านหนังสือที่ไม่ชอบได้ แต่หนังสือก็จะเต็มใจต้อนรับให้เรากลับมาทุกครั้งที่รู้สึกอยากกลับมาอ่าน
หนังสือไม่เคยแสดงปฏิกิริยาที่บ่งบอกว่าเรา ‘ดราม่า’ เกินไป
คงไม่มีใครชอบความรู้สึกที่ว่า มีใครสักคนแสดงออกว่า ‘ความรู้สึก’ ของเราไม่ถูกต้องในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นหลายครั้งในความสัมพันธ์ ไม่ว่าเราจะทำกับคนรัก หรือคนรักทำกับเรา แต่กับหนังสือ ไม่ว่าเราจะปิดมันลงและโยนขึ้นชั้นกี่รอบ มันก็ไม่เคยคิดแย่แม้แต่น้อย หรือบางครั้งที่เราฟูมฟายกับตัวละครในเรื่อง หนังสือก็เข้าใจและไม่คิดว่าเราดราม่าเลยสักนิด
หนังสือไม่เคยนอกใจ แต่ให้เพิ่มเป็นพิเศษเลยเอ้า!
ข้อนี้หลายคนชื่นชอบเป็นพิเศษ แน่นอนว่าคงไม่มีใครชอบให้คนรักนอกใจ เพราะนั่นคือสิ่งร้ายกาจที่อาจทำลายความสัมพันธ์ลงได้ทันที แต่หนังสือต่างจากคนรักตรงที่มันไม่เคยนอกใจ ซ้ำยังไม่สนใจด้วยซ้ำว่าเราจะอ่านหนังสือเล่มอื่นไปพร้อมกันอีกกี่เล่มระหว่างที่กำลังอ่านมันอยู่ หรือก่อนหน้านั้น หลังจากนั้น เราจะอ่านเล่มอื่นอีกกี่เล่ม!
หนังสือทำให้ฉลาดขึ้นไม่ใช่โง่ลง
บางครั้งการมีความสัมพันธ์ที่ท็อกซิกก็ทำให้เรากลายเป็นคนโง่ สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจและความไม่เข้ากันหลายอย่างระหว่างคู่รัก และนั่นนำไปสู่การเลือกที่ผิดพลาดหลายอย่างในชีวิตคู่ แต่หนังสือไม่เคยขอให้เราเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าหนังสือบางเล่มอาจท้าทายเรา แต่มันก็ไม่เคยคาดหวังให้เราทำสิ่งที่นอกเหนือขอบเขตของเรา ที่สำคัญ หนังสือและการอ่านจะทำให้เรามีความรู้หรือข้อมูลในการตัดสินใจที่ดีขึ้นมากกว่าแย่ลงแน่ๆ
ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะเจนไหนๆ หลายคนย่อมต้องการมี ‘คนข้างๆ’ ที่ดี และจับมือกันเดินไปยาวนาน นอกจากในแง่ความรู้สึกเชิงปัจเจกแล้ว ในเชิงสังคม การมีคู่มันยังโยงใยไปถึงอัตราการเกิดของประชากร ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโครงสร้างทางสังคมของแต่ละสังคม
แต่แน่นอนว่า คงไม่มีใครอยากอยู่ในความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยพิษร้ายทำลายชีวิต ถ้าเผื่อว่าหน้าหนาวนี้ยังหาใครสักคนมาเคียงข้างไม่ได้หรือไม่ทัน ลองมองไปบนชั้นหนังสือดู คู่ของเราอาจอยู่บนนั้นก็ได้