Silence : In the Age of Noise ความเงียบคือความทรมานอันหอมหวาน

ชื่อหนังสือ : Silence : In the Age of Noise เงียบ
ผู้เขียน : Erling Kagge
ผู้แปล : วรรธนา วงษ์ฉัตร
สำนักพิมพ์ : OMG books

1

เมื่อเดือนก่อนระหว่างอยู่อังกฤษ ฉันและเพื่อนตัดสินใจนั่งรถไฟไป Brighton เมืองชายทะเลแสนสดใสทางใต้สุดของเกาะ เราปักหมุดว่าจะไปหน้าผาริมหาดชื่อดัง Seven Sisters ให้จงได้ แผ่นดินตั้งตระหง่านกับท้องทะเลเมื่ออยู่เคียงกันนั้นงดงาม และคุ้มค่าที่จะไปแม้ต้องเสียเวลาเดินทางจากในเมืองเป็นชั่วโมง

ตามประสาคนงบน้อย เราเชื่อกูเกิ้ลด้วยการลงที่ป้ายรถประจำทางและเริ่มเดินสู่จุดหมาย แต่มันกลับเป็นทางเดินแสนไกลไม่รู้จบ เราต้องเดินอ้อมเนินเขา ผ่านป่าที่มีรังนกกามากมาย ก่อนจะเห็นสิ่งก่อสร้างเล็กๆ ที่ปลายสายตา แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราแค่ต้องเดิน เดิน แล้วก็เดิน

บางคนในกลุ่มบ่นกระปอดกระแปด ฉันเป็นหนึ่งในนั้น ความเหนื่อยระดับต่างกันค่อยๆ แยกพวกเราให้เดินตามกันไปทีละคนอย่างห่างๆ ตำแหน่งเกือบรั้งท้ายคือฉัน สองข้างทางมีแค่ทุ่งกว้างโล่งกับแกะ บ่นให้ตายยังไงก็ไม่มีใครเข้าใจ

แต่ชั่ววูบหนึ่งที่ฉันขี้เกียจแม้แต่จะปริปากบ่น ความเงียบแห่งทุ่งหญ้าและท้องฟ้าก็เข้าโอบล้อมอย่างรวดเร็ว–ทว่าอ่อนโยน

พอฉันยอมอยู่กับความรู้สึกนั้นและแค่เดินหน้าไปเรื่อยๆ อยู่ดีๆ ก็รู้สึกหายเหนื่อย อยู่ดีๆ ก็รู้สึกสงบอย่างไม่เคยเป็น ไม่ได้พบพานมาแสนนาน มันคือความรู้สึกเป็นสุขที่ผุดขึ้นมาเฉยๆ

เหมือนตาน้ำปรากฏกายในผืนดินแห้งแล้งเงียบเชียบ


2

ตอนเห็นหนังสือ Silence : In the Age of Noise หรือฉบับแปลภาษาไทยในชื่อ ‘เงียบ’ ของสำนักพิมพ์ OMG books ฉันยกมือสมัครใจเป็นลูกค้าทันที

อาจเพราะชีวิตการงานที่ต้องติดต่อกับคนตลอดเวลา ด้านหนึ่งในตัวฉันเป็นจึงถวิลหาความสงบ ฉันปิดเสียงโทรศัพท์ตลอดเวลาแล้วใช้วิธีคอยรีเช็คแทน บางวันที่รู้สึกวุ่นวายข้างในและอยู่นอกเวลางาน ฉันจะปิดเครื่อง ถ้าไม่ทำอย่างนั้น เดี๋ยวนั้น ฉันจะรู้สึกเหมือนเป็นบ้า

แต่ในบางวันที่ได้ความสงบมาครอบครองอย่างแท้จริง การอยู่ในบ้านเงียบๆ มีเสียงนกร้องคลอเบาๆ ไม่มีอะไรต้องทำ ฉันกลับรู้สึกวุ่นวายและกระสับกระส่าย มันไม่ได้เป็นสุขอย่างที่คิด สุดท้ายระหว่างวันก็เป็นต้องเปิดโซเชียลดูนั่นนี่ไปเรื่อย

ความเงียบคืออะไร? เราจะพบมันได้ที่ไหน? ทำไมมันจึงสำคัญกว่าที่เคย? สามประโยคนี้คือคำโปรยและเป็นแก่นหลักของหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียน Erling Kagge เขียนวิเคราะห์ถึงความเงียบในบริบทต่างๆ ผ่านสายตาของมุมมองส่วนตัวในฐานะคนเป็นพ่อที่ลูกๆ พลัดหลงอยู่ในโลกโซเชียลตลอดเวลา ผ่านข้อมูลและการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ผ่านโลกศิลปะ ดนตรี ศิลปิน และผ่านประสบการณ์การเดินทางครั้งสำคัญของเขา

Erling สวมหมวกหลายใบ หนึ่งในนั้นที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักคือหมวกนักเดินทาง เขาเป็นคนแรกของโลกที่เดินกว่าแปดร้อยไมล์ไปยังขั้วโลกใต้ตามลำพัง ขั้วโลกใต้ไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นคอยส่งเสียง ไม่มีต้นไม้ มีแต่น้ำแข็ง และภาพฟ้ากว้างๆ กับแสงอาทิตย์ที่ยาวนาน มันเป็นดินแดนที่ท่วมท้นไปด้วยความเงียบ เพียงจินตนาการฉันก็รู้สึกอึดอัดได้แล้ว

‘คนที่ไม่รู้สึกพิศวงในความยิ่งใหญ่และสง่างามนี้จะหวาดกลัวมัน นี่คงเป็นเหตุผลที่คนจำนวนมากกลัวความเงียบ’ เขายกประโยคของ จอน ฟอส นักประพันธ์และนักเขียนชาวนอร์เวย์มาอธิบายตั้งแต่ต้น

ผมพยายามยุ่งวุ่นวายกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพื่อหลีกหนีความเงียบ มีชีวิตอยู่กับงานใหม่ในมือ ผมส่งข้อความ เปิดเพลง ฟังวิทยุ หรือปล่อยให้ความคิดวิ่งแล่นไปทั่ว แทนที่จะอยู่นิ่งๆ และปิดกั้นโลกออกไปสักครู่หนึ่ง ผมคิดว่าความกลัวที่ฟอสพูดถึงคือความกลัวที่จะรู้จักตัวเราเองให้ดีขึ้น

ในมุมหนึ่งมนุษย์มีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อความเงียบ ความเงียบอาจเท่ากับความว่างเปล่า หรือยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นว่ามันมักปรากฏตัวในเวลาที่คนสองคนกำลังทะเลาะและมึนตึงต่อกัน แต่ความเลวร้ายเหนือสิ่งอื่นใดคือการถูกทิ้งให้อยู่กับตัวเองตามลำพัง แล้วเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็จะวูบวาบเข้ามาในสมองไม่หยุดหย่อน

ความเงียบนึงที่ฉันเกลียดคือความเงียบยามวิกาล ประสบการณ์นอนไม่หลับทำให้ฉันรังเกียจความเงียบกลางดึกที่ไม่อาจหนี เพราะยิ่งมีความเงียบเท่าไหร่ ฉันก็ยิ่งได้ยินเสียงหัวใจเต้นตุบๆ ด้วยความเครียด

คนเกลียดความเงียบจริงไหม Erling ยกตัวอย่างการทดลองหนึ่งที่เปิดให้ผู้ร่วมทดสอบเลือกระหว่างการนั่งอยู่ในห้องปิดเฉยๆ โดยไม่มีเสียงเพลงและไม่ทำอะไร กับยอมถูกช็อกไฟฟ้า (หลังผ่านประสบการณ์นั่งในห้องเงียบมาแล้วครั้งหนึ่ง) ผู้ร่วมทดสอบเกือบครึ่งกดปุ่มช็อกไฟฟ้าตัวเองเพื่อบรรเทาความรู้สึกเงียบเชียบนั้นลง

ไม่ต่างอะไรกับที่เราเลือกสไลด์หน้าจอเฟซบุ๊กดูไปเรื่อยๆ แม้มันไม่มีความหมาย

Erling ที่ผ่านประสบการณ์อยู่กับความเงียบอย่างเข้มข้นและเห็นคุณค่าของมันบอกเราว่า ที่แท้แล้วความเงียบเหมือนทรัพย์สิน มันเป็นความหรูหราประเภทหนึ่ง ในบางมุมมันเป็นเครื่องบ่งบอกฐานะด้วยซ้ำ สังเกตได้ว่าในที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ หรือเครื่องใช้ในบ้านของคนรวย มักให้เสียงที่น้อยกว่า พวกเขาได้ใช้เวลาอยู่กับความสงบและได้ครุ่นคิดมากกว่า

หรือในเวลาที่เราปะทะกับความงามในธรรมชาติ หลายครั้งเราเลือกจ้องมองอย่างสงบและไม่เอ่ยคำพูดใด เพราะความยิ่งใหญ่ตรงหน้าไม่มีอะไรบรรยายได้ดีเท่าความเงียบอีกแล้ว

ฉันเคยไปเข้าค่ายที่อำเภอเชียงดาวเป็นเวลาสั้นๆ แค่ 4 วัน พอเดินทางกลับด้วยรถไฟมาลงหัวลำโพงและใช้บริการบีทีเอสต่อในยามเช้าตรู่ ภาพบิลบอร์ดโฆษณาตามตึกสูง บนรถไฟฟ้า บนป้าย บนบันได เหมือนเสียงที่พยายามพูดด้วยจนน่ารำคาญ ฉันต้องการความเงียบกลับมา สภาวะที่ทุกคนอยู่ร่วมกัน พูดคุยกัน มองแสงดาวยามค่ำคืนเงียบๆ ด้วยกัน

กลับมามองสถานการณ์ง่ายๆ เราล้วนต้องการความเงียบเวลาที่ต้องการคิดหรือประมวลสิ่งใดอย่างจริงๆ จังๆ นึกง่ายๆ ว่าเรายังพยายามใส่หูฟัง เปิดเพลงกั้นเสียงจากข้างนอกเพื่อให้เกิดโมเมนต์แห่งความเงียบส่วนตัว บ่อยครั้งที่เขียนงาน ฉันทำแบบนั้น แล้วก็ไม่ได้ยินเสียงที่ตัวเองเปิดด้วยซ้ำเวลาที่สมองแล่นดี

เขาบอกว่าแท้จริงแล้วทุกคนค้นพบความเงียบได้ที่ปลายจมูก เราจะค้นเจอความเงียบได้แม้อยู่ในที่อึกทึกเพียงใด เพราะเมื่อมองให้กว้างขึ้น การอยู่กับความเงียบได้โดยไม่พะวักพะวง ก็คือการอยู่กับปัจจุบัน การมีสมาธิกับสิ่งที่ทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ถักนิตติ้ง ทำอาหาร หรือมีเซ็กส์

ความเงียบในภวังค์ทำให้เราได้มีชีวิตอยู่ในห้วงเวลานั้นจริงๆ ไม่ไหลไปตามกระแสเสียง ไม่ว่าเสียงภายนอกหรือภายในก็ตาม


3

ไม่นานมานี้สภาพร่างกายไม่แข็งแรงทำให้ฉันต้องพักผ่อนอยู่บ้านสักระยะหนึ่ง ฉันใช้ชีวิตซับซ้อนน้อยลงมาก คือตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อกินข้าวให้ตรงเวลา เคลื่อนไหวช้าๆ และทำงานตามที่ร่างกายจะทำได้ แล้วก็เข้านอนไม่เกินห้าทุ่ม นี่คือกฎเหล็กที่ร่างกายมอบให้ตอนนี้

ระหว่างวันที่ทุกคนออกไปใช้ชีวิต บ้านจะเงียบ เหลือเพียงเสียงนกร้องเบาๆ แทนที่จะรู้สึกสงบอย่างเต็มที่ ข้างในกลับว้าวุ่นที่ไม่อาจทำภารกิจประจำวันได้ดังเดิม ร่างกายจะฟื้นตัวได้เต็มที่ไหมในอนาคตอันใกล้ จะมีปัญหาอะไรซ่อนอยู่รึเปล่า จนกระทั่งใครสักคนกลับบ้านและฉันได้พูดคุย เสียงแห่งความกังวลจะหนีไป

พอถูกปล่อยให้อยู่กับความเงียบ หัวใจอันอ่อนแอจะฉายชัดกว่าเดิม

มานึกย้อนดูอีกที สิ่งที่ทำให้ฉันกลัวไม่ใช่ความเงียบ มันคือจิตใจอันว้าวุ่นของตัวฉันเองต่างหาก

คืนหนึ่งระหว่างเอนกายลงช้าๆ ฉันไม่ทำอะไรเพิ่มเติม ไม่เอื้อมไปหยิบมือถือมาเล่นเพราะเพียงขยับตัวหันซ้ายขวายังลำบาก เพียงบรรจงห่มผ้าแล้วนอนนิ่งๆ หวังจะพักผ่อนให้เต็มที่ ฉันเพียงอยู่กับร่างกายตัวเองเฉยๆ นี่เป็นสภาวะที่ไม่เกิดขึ้นมานานแล้ว

Erling เล่าถึงศิลปินด้านการแสดงสดอย่าง มารินา อบราโมวิค ที่ทำให้ความเงียบกลายเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่ง ครั้งหนึ่งในปี 2010 เธอนั่งเฉยๆ เป็นเวลา 736 ชั่วโมงกับ 30 นาที ใน MoMA (Museum of Modern Art) สบตาผู้เข้าชมกว่า 1,500 คนโดยไม่พูดอะไรสักคำ เมื่อนั่งนานขึ้นๆ เธอก็ได้ยินเสียงต่างๆ ที่อยู่ไกลนอกตัวตึกออกไป ศิลปินอยู่กับความเงียบได้เนิ่นนาน แม้ในครั้งการเดินทางไปทะเลทรายครั้งแรก เธอจะรู้สึกกลัวมันก็ตาม

อบราโมวิคกล่าวว่าสิ่งตรงข้ามกับความเงียบคือสมองที่วิ่งแล่น ถ้าคุณอยากสัมผัสความสงบสุข คุณต้องหยุดคิด หยุดทำสิ่งต่างๆ ความเงียบคือเครื่องมือที่ช่วยให้เราหลุดพ้นจากโลกที่แวดล้อมเราอยู่

เมื่อทำอะไรไม่ได้แล้วก็จงผ่อนคลายกับวินาทีนี้ให้เต็มที่ อย่ากังวลถึงอดีตหรืออนาคตเลย ฉันบอกตัวเองในคืนนั้น

แม้อยู่ท่ามกลางความเงียบ พอยอมรับความรู้สึกนั้นได้ เลิกนึกถึงสิ่งต่างๆ เสียงในหัวจึงหยุดลง อยู่ดีๆ ความรู้สึกเป็นสุขก็ผุดขึ้นมาเฉยๆ ที่ข้างใน

เหมือนตาน้ำปรากฏกายในผืนดินแห้งแล้งเงียบเชียบ

ภาพ เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

AUTHOR