Modern Romance ความรักเอย จงซับซ้อนยิ่งขึ้น

ชื่อหนังสือ: Modern Romance
ผู้เขียน: Aziz Ansari และ Eric Klinenberg
สำนักพิมพ์: Penguin Press

Read เป็นถ้อยคำสั้นๆ ง่ายๆ ที่เราทุกคนคุ้นเคยกันดี รู้จักมักจี่กันมาตั้งแต่ในห้องเรียนชั้นประถม แต่เมื่อมันมาปรากฏอยู่ใต้ข้อความที่เราเพิ่งกดส่งไปนั้น กลับทำให้เรารู้สึกอะไรได้มากกว่าที่เคย-กดดัน คาดหวัง รอคอย แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความกระวนกระวาย ขุ่นข้อง จนยากจะสลัดคำนี้ออกไปได้ง่ายๆ เพราะมันทำให้เราจินตนาการไปได้ร้อยแปดว่าคู่สนทนาอีกฝ่ายกำลังคิดอะไรอยู่

ภาวะ ‘อ่านแล้วไม่ตอบ’ ในโปรแกรมสนทนาออนไลน์เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ จากอีกนับร้อยนับพันเรื่องราวที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเราได้ไม่นาน แต่แทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวันของเราอย่างเงียบเชียบแต่ทรงพลังเสียจนเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต วิธีการคิด ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนนับพันล้านทั่วโลก

Aziz Ansari เป็นนักแสดงที่สร้างชื่อจากซีรีส์ตลกเรื่อง Park and Recreation และสร้างเสียงหัวเราะบนเวทีในบทบาทของสแตนด์อัพคอมเมเดียนที่โดดเด่นในเรื่องการหยิบจับความสัมพันธ์ของมนุษย์มาเล่าได้อย่างแสบสันต์ แต่ใช่ว่าเป็นคนดังแล้วจะรอดไปได้ Tanya หญิงสาวคนหนึ่งที่เขาปิ๊งก็อ่านข้อความชวนเดทของเขาแล้วไม่ตอบเหมือนกัน ความงุนงงและสงสัยเหล่านั้นอาจมีพลังรุนแรงกว่าพวกเรามาก Aziz จึงจับมือกับนักสังคมวิทยาอย่าง Eric Klinenberg ตระเวนหาคำตอบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของชายหญิงต่างยุค ต่างเมือง ต่างรูปแบบความสัมพันธ์

ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา ปารีส โดฮา และโตเกียว พาเราถอยหลังย้อนกลับไปเปิดอ่านจดหมายรัก แอบดูความกิ๊กกั๊กของคุณปู่คุณย่า พบว่าตัวเลือกของคนยุคก่อนนั้นมักเป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียงเกือบทั้งนั้น และต้องแต่งงานกับคนที่พ่อแม่เห็นดีเห็นงามด้วยตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ เปรียบเทียบกับคนยุคนี้ที่มีตัวเลือกเป็นล้านๆ ในมือบนโลกออนไลน์ ทำให้เราได้รับโอกาสและความลังเลแถมมาพร้อมกันเป็นแพ็กเกจคู่ เป็นยุคสมัยแห่ง The Paradox of Choice ที่กระตุ้นให้เราค้นพบผู้คนใหม่ๆ ได้แบบไม่รู้จบ

จังหวะยิงมุก หยอดมุกตลอดทั้งเล่มนั้นไม่ต่างจากการนั่งดูสแตนด์อัพคอมเมดี้นัก เพราะการเล่าเรื่องที่ผู้เขียนล้วงควักความคิดเห็น ความรู้สึกส่วนตัวออกมาเผยกับเราอย่างตรงไปตรงมานั้นดึงความสนใจของเราไว้ได้ตลอดการอ่าน แม้บางช่วงบางตอนจะตาพร่าไปด้วยตัวเลขทางสถิติ กราฟข้อมูลเรียงเป็นพรืด แต่ด้วยท่าทีของหนังสือที่ไม่ได้พยายามจะเป็นนักวิชาการเต็มตัวแต่ก็ใช้วิธีสำรวจ สัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มตัวอย่างแบบเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้เราสนุกไปกับการแหวกว่ายทะเลข้อมูลในเล่มที่ผู้เขียนตั้งใจเก็บรวบรวมและถ่ายทอดออกมาผ่านท่าทีที่สนุกสนาน เหมือนกวักมือเรียกเราเข้าไปนั่งร่วมวงสนทนาเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ที่ทุกคนกำลังคุยกันอย่างออกรส

กลุ่มตัวอย่างที่หลากหลายและแตกต่างก็ยิ่งแสดงให้เราได้เห็นความเป็นมนุษย์อันสุดแสนจะซับซ้อนและเลื่อนไหลไปตามเครื่องมือที่ใช้สื่อสารกัน แค่เรื่องภาพโปรไฟล์ก็สนุกแล้ว เพราะผู้เขียนพบว่าชาวญี่ปุ่นมักจะใช้ภาพแมว ดอกไม้ (หรือหม้อหุงข้าว!?) แทนหน้าตาตัวเองลงในเว็บไซต์หาคู่ หรือเลือกภาพที่มีคนอื่นอยู่ด้วย เพื่อไม่ให้ดูเหมือนเป็นคนมั่นใจในรูปร่างหน้าตาของตัวเองเกินไป

หรือในสังคมชายเป็นใหญ่สุดโต่งอย่างอาร์เจนตินาที่การแซวหญิงบนถนนเป็นความชอบธรรมนั้น ผู้หญิงที่นั่นใช้ชีวิตกันยากแค่ไหน การพิมพ์ข้อความโต้ตอบเวลาจีบกันใหม่ๆ ทำไมเราจึงต้องแกล้งตอบช้ากว่าอีกฝ่ายเสมอ เกิดขึ้นของ Tinder เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเลือกคู่ของมนุษย์ไปอย่างไรบ้าง พื้นที่ส่วนตัวในสมาร์ทโฟนนั้นทำให้เรานอกใจกันง่ายขึ้นนั้น ทำให้เรานอกใจกันมากขึ้นจริงหรือเปล่า และอีกสารพัดคำถามที่ทำให้เราหันมามองความสัมพันธ์กับคนรอบตัวใหม่ และนึกขอบคุณเทคโนโลยีทั้งหลายที่นอกจากจะทำให้เรามีโอกาสพบเจอผู้คนใหม่ๆ ได้มากขึ้น แล้วยังทำให้เราย้อนกลับมาทบทวนตัวเองได้ลึกซึ้งยิ่งกว่าเคยด้วย

ความยากง่ายในการอ่าน: ใครที่ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงอย่าเพิ่งตกใจสัดส่วนระหว่างตัวหนังสือกับภาพในเล่ม เพราะภาษาที่ใช้ค่อนข้างอ่านง่ายมาก มีศัพท์เฉพาะไม่กี่คำ และต่อให้เป็นคนโสดเสมอต้นเสมอปลาย หรือมีความสัมพันธ์มาแล้วหลากหลายรูปแบบก็อินไปด้วยได้ไม่ยาก

AUTHOR