The Story of Art by E.H. Gombrich : หนังสือที่คนรักศิลปะทั่วโลกควรอ่าน

ชื่อหนังสือ: The Story of Art : ว่าด้วยเรื่องศิลปะ
ผู้เขียน: อี. เอช. กอมบริช (E. H. Gombrich)
ผู้แปล: รติพร ชัยปิยะพร (แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ)
สำนักพิมพ์: Fine Art Magazine Thailand

‘The Story of Art’ ฉบับแปลไทยครั้งแรกในชื่อ ‘ว่าด้วยเรื่องศิลปะ’ เป็นหนังสือเกี่ยวกับศิลปะที่โด่งดังมายาวนาน และมีจุดเด่นเรื่องการใช้ภาษาเล่าอย่างเรียบง่าย

ตั้งแต่อดีต เมื่อคนเราเริ่มประทับฝ่ามือลงบนฝาผนังถ้ำ จนถึงปัจจุบันที่งานศิลปะคือสิ่งที่เห็นได้ในชีวิตประจำวัน ผู้เขียนอย่าง อี.เอช. กอมบริช พาคนอ่านย้อนเวลากลับไปเมื่อหลายหมื่นปีก่อนเพื่อค้นหาจุดเริ่มต้นของการนิยามคำว่า “ศิลปะ” ซึ่งกลุ่มคนในอารยธรรมโลกโบราณ ได้พัฒนางานสร้างสรรค์ขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ผลงานศิลปะมีรูปแบบและเทคนิควิธีการสร้างมากมาย ภายใต้ความเจริญรุ่งเรืองและเสื่อมสลายของกระบวนแบบทางศิลปะต่างๆ โลกของศิลปะไม่เคยหยุดนิ่งเหมือนชีวิตของคนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

แม้กอมบริชจะเน้นความสำคัญของประวัติศาสตร์ศิลปะในโลกตะวันตกมากเป็นพิเศษ (เนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะตะวันออกมีเพียงไม่กี่บท) แต่การตั้งคำถามและชวนให้ผู้อ่านร่วมค้นหาคำตอบกับประเด็นทางศิลปะสากลต่างๆ ก็ทำให้เนื้อหาในหนังสือมีความหลากหลาย ทั้งในการนำเสนอแนวคิดและการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับการสร้างภาพความจริงที่ศิลปินถูกกำหนดนิยามด้วยกรอบของสังคมในยุคแรกเริ่ม ซึ่งจะค่อยๆ เปลี่ยนและพัฒนาไปสู่ความเป็นส่วนตัว หรือปัญหาในเชิงเทคนิคการวาดยังไงให้ ‘เหมือนจริง’ การมองความจริงในแง่มุมต่างๆ ทำให้ภาพวาดที่ใช้วิธีต่างกันถูกให้คำนิยามต่างกันสุดขั้ว หรือการถกประเด็นมันๆ อย่างศิลปะคืออะไรกันแน่ และงานศิลปะแบบไหนที่สมควรถูกยกย่องเชิดชู

ทั้งหมดตั้งอยู่บนสมมติฐานที่กลายเป็นวาทะอันมีชื่อเสียงมากที่สุดอันหนึ่งของกอมบริช เขาเริ่มต้นบทแรกของหนังสือด้วยการเสนอว่า “There really no such thing as Art. There are only artists.” (ความจริงแล้วศิลปะเป็นสิ่งไม่มีตัวตน จะมีก็แต่ศิลปินเท่านั้น) ซึ่งมาจากการที่ผู้เขียนได้ย้อนกลับไปทบทวนต้นกำเนิดความหมายทางภาษาศาสตร์ของคำว่า ‘Art’ อันสื่อถึงความสามารถและทักษะเฉพาะ เราจึงอาจมองได้ว่าศิลปะไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่เป็นผลของศิลปิน นอกจากนี้ กอมบริช ยังมีบทวิเคราะห์และวิพากษ์แสนละเอียดอ่อนค่อยๆ ชี้ให้ผู้อ่านเข้าใจว่าจริงๆ แล้วศิลปะคือผลผลิตทางวัฒนธรรมที่สะท้อนสภาพสังคมและตัวบุคคลแต่ละยุคสมัย

ความยากง่ายในการอ่าน: เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้เริ่มต้นที่ต้องการเข้าสู่โลกประวัติศาสตร์ศิลปะ ตลอดจนนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะทั่วไป (โดยเฉพาะศิลปะตะวันตก) ด้วยการใช้ภาษาที่เรียบง่ายดูเป็นการเล่าให้ฟังมากกว่าบรรยายแบบงานวิชาการ แต่ก็อัดแน่นไปด้วยประเด็นที่น่าสนใจจำนวนมาก พร้อมภาพประกอบสีสันสวยงามที่แทรกไปตามเนื้อหาอย่างลงตัว เพราะผู้เขียนประกาศอย่างแน่วแน่ตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องการใส่ภาพตัวอย่างทุกภาพที่ได้รับการกล่าวถึงในเนื้อหา และภาพเหล่านั้นต้องอยู่ข้างๆ กันกับเนื้อหาช่วงที่กล่าวถึงจริงๆ ด้วย

ภาพ อนวัชร ดีนอก

AUTHOR