“เกิดเป็นมนุษย์ อย่าให้อายุกำหนดการกระทำของเรา” – สมชาย จงนรังสิน ชายผู้พิชิตมาราธอนในวัย 66 ปี

Highlights

  • เบน-สมชาย จงนรังสิน เกษียณจากอาชีพนักบินก่อนกำหนด เขามองว่าช่วงเวลาหลังเกษียณคือกำไรชีวิตที่จะได้ดูแลตัวเองอย่างเต็มที่ และได้ทดลองทำสิ่งใหม่ที่เขาไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือการปั่นจักรยานทางไกล
  • จากการปั่นจักรยาน สมชายต่อยอดการออกกำลังกายของตัวเองสู่การแข่งขันไตรกีฬาและวิ่งมาราธอนครั้งแรกตอนอายุ 66 ปี
  • อาจฟังดูเป็นการทรมานสภาพร่างกายที่เสื่อมลงทุกวัน แต่สำหรับสมชาย นี่คือการต่อสู้กับข้อจำกัดนี้อย่างเข้าใจ เขาไม่ได้ลงสมัครแข่งขันเพื่อหวังรางวัลใดๆ แต่เพียงแค่อยากชนะใจตัวเอง และรักษาสุขภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะสำหรับเขาในวัยนี้ สุขภาพที่ดีหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดี

จินตนาการภาพผู้ชายคนหนึ่งที่วิ่งฟูลมาราธอนครั้งแรกตอนอายุ 66 ปี สมชาย จงนรังสิน

ก่อนหน้านั้น เขาผ่านการลงแข่งขันไตรกีฬาในระยะทางเดียวกับการแข่งขันโอลิมปิก และปั่นจักรยานทางไกลระยะทาง 600 กิโลเมตร ติดต่อกัน 40 ชั่วโมงโดยไม่หยุด–หลายครั้ง

เช่นเดียวกับผู้สูงอายุหลายคนที่เริ่มหันมารักษาสุขภาพในวัยหลังเกษียณ เพราะหลังผ่านการทำงานในต่างประเทศมาหลายปีจนถึงจุดสูงสุดของอาชีพ เบน–สมชาย จงนรังสิน กลับประเทศไทยมาพร้อมปณิธานใหม่ว่าจะใช้เวลาที่เหลืออยู่เพื่อดูแลตัวเอง ไม่ใช่แค่เดิน-วิ่งเหยาะธรรมดา แต่เขายังกระโดดเข้าหาความท้าทายใหม่ๆ อย่างจักรยานทางไกล ไตรกีฬา และวิ่งมาราธอนในวัย 66 ปี

อะไรทำให้ชายวัยหลังเกษียณคนหนึ่งต้องลุกขึ้นมาออกกำลังกายทุกวัน พาตัวเองลงไปแข่งขันในสนามที่คนวัยหนุ่มสาวบางคนยังไม่กล้าลงแข่งด้วยซ้ำ

ชีวิตที่ไม่มีอายุมาลิมิต สมชาย จงนรังสิน

ก่อนหน้านี้ สมชายเคยเป็นนักบินอยู่ที่สายการบินหนึ่งในประเทศซาอุดีอาระเบีย

ตลอดเวลากว่า 30 ปีของเขา สมชายทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แต่เหมือนคำกล่าวที่ว่า Work Hard, Play Hard เขาเต็มที่กับช่วงเวลาพักผ่อนเหมือนกัน ในทุกวันหยุดที่เว้นว่างจากการทำงาน สมชายจะออกไปสังสรรค์กับเพื่อน ดื่มหนัก เอ็นจอยกับการดื่มถึงขนาดที่ว่าตอนเช้าก็ยังไม่เลิกดื่ม

ช่วงเวลาวัยหนุ่มของเขาคือช่วงแห่งความสนุกสุดเหวี่ยง เขาออกไปว่ายน้ำกับเพื่อนบ้างในบางเวลา แต่มันเป็นแค่การออกกำลังกายสนุกๆ ไม่ได้จริงจังหรือมีการวางแผนเพื่อดูแลสุขภาพในระยะยาว

สมชายเล่าให้ฟังว่า จุดเปลี่ยนความคิดของเขาเริ่มต้นจริงๆ ในช่วงวัยใกล้เกษียณ 

“ระหว่างนั้น เราเห็นเพื่อนๆ ที่รักเสียชีวิตเพราะโรคที่สะสมจากการดื่มหนักกันหลายคน บางคนทนทุกข์ทรมานแล้วต้องจ่ายเงินที่หามาได้ทั้งหมดในการรักษาตัว อีกอย่างคือลูกเราเป็นหมอ รายได้ดีมาก แสดงว่าคนที่ไม่แข็งแรงต้องเอาเงินไปให้เขา ให้โรงพยาบาล เพราะฉะนั้นเราจึงตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องเอาเงินที่สะสมมาทั้งชีวิตไปให้หมอด้วย” 

สมชาย จงนรังสิน

“เราคิดว่าถ้าเรายังดื่มต่อไป มันก็คงต้องเป็นแบบเพื่อนแน่ๆ ฉะนั้นเลิกดีกว่า พอเกษียณก็หยุดแบบหักดิบเลย”

สมชายโชคดีที่สายการบินอนุญาตให้เขาเกษียณได้ก่อนเวลาอันสมควร เขากลับมาพักอยู่กับภรรยาและลูกชายที่ประเทศไทย ได้รับการติดต่อจากสายการบินอีกหลายแห่งที่อยากได้นักบินอาวุโสผู้มีความเชี่ยวชาญไปทำงานให้ แต่สมชายปฏิเสธทั้งหมด

เพราะเป้าหมายของเขาในวัย 57 ปีมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือการดูแลสุขภาพ

“เราเริ่มซื้อจักรยานมาปั่น เพราะมองว่าจักรยานเป็นสิ่งที่สามารถพาเราไปที่ไหนก็ได้ ถึงก่อนหน้านี้เราออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำอยู่แล้ว แต่ปั่นจักรยานมันไม่เหมือนกัน เราไม่ได้ขี่มาก่อนหน้านั้นเลย ก็ตื่นเต้นดี ขี่กิโลสองกิโลก็เหนื่อย แต่เราเห็นคนที่เขาขี่ผ่านไปผ่านมาเขาก็ขี่ได้ เราก็คิดว่าวันหนึ่งเราต้องขี่ได้เหมือนกัน”

แม้ตอนนั้น เขาจะรู้ดีว่าสองขาของตัวเองปั่นได้ไม่ไวเท่าหนุ่มสาว แต่สมชายก็ยืนหยัดที่จะทำต่อไป 

“เราชอบความท้าทายมาตั้งแต่ตอนเป็นนักบินแล้ว พอเกษียณก็ท้าทายตัวเองด้วยการเล่นกีฬาต่อ เพิ่มระยะไปเรื่อยๆ จากวันแรกที่ปั่นได้ 1 กิโลเมตร ก็ไป 2, 3, 10, 20, 30, 40 จนถึง 100 กิโลเมตร 

“ในใจมุ่งมั่นอย่างเดียวว่า เกิดเป็นมนุษย์ อย่าให้อายุกำหนดการกระทำของเรา เราเชื่อว่าทุกอย่างเราทำได้หมด แล้วแต่ว่าเราจะเริ่มหรือเปล่า”

 

ลองให้รู้ (จักร่างกายตัวเอง)

ตามผลวิจัยทางการแพทย์ว่าด้วยการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ โดยปกติเมื่อเราอายุ 40 ปีขึ้นไป กล้ามเนื้อในร่างกายของเราจะเสื่อมสภาพเพราะภาวะการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อลดลง 8% ทุกๆ 10 ปี 

เรื่องน่าตกใจคือถ้าเราไม่รีบดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อเข้าสู่วัย 70 ปี เราอาจสูญเสียกล้ามเนื้อที่แข็งแรงทั้งหมดไป และกลายเป็นผู้สูงอายุที่ต้องนั่งวีลแชร์เพราะเดินไม่ได้ไปตลอดกาล

กับสมชายที่เริ่มออกกำลังตอน 57 ปี แน่นอนว่ากล้ามเนื้อของเขาเริ่มเสื่อมสภาพลงเพราะภาวะการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อตามธรรมชาติ ตัวช่วยในเรื่องนี้ของสมชายคือการสร้างกล้ามเนื้อขึ้นใหม่จากการออกกำลังกายเป็นประจำ (6 วันต่อสัปดาห์) การกินอาหารที่ดี มีแคลเซียมสูง อาทิ กล้วยและโยเกิร์ตที่เขากินทุกวัน หรือแม้ในวันที่ป่วยไข้ ไม่สามารถออกกำลังกาย การกินอาหารเสริมแบบชงที่มีแคลเซียมก็ช่วยเสริมความแข็งแรงให้ร่างกายเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้สองขาของเขาไม่เคยหยุดปั่นจักรยานเลยนับจากวันแรก และต่อยอดให้เขาก้าวเข้าสู่การเล่นกีฬาชนิดใหม่ คือคนรอบข้างที่คอยสนับสนุนเขาอยู่เสมอ

“เรามีเพื่อนจากกลุ่มสไมล์คลับ ซึ่งเป็นกลุ่มคนรักการขี่จักรยานทางไกลมาขี่ด้วยกันอยู่บ่อยๆ ขี่ไปก็นึกสนุก ชาเลนจ์กันว่าทำไมเราไม่หาอย่างอื่นที่ตื่นเต้นกว่านี้ทำ แล้วมีคนแนะนำให้ลองลงแข่งไตรกีฬา เพื่อนก็เอาด้วยเพราะไม่เคยมีใครเล่นไตรกีฬาเหมือนกัน”

การลงแข่งไตรกีฬาอาจดูเป็นเรื่องที่ต้องคิดอย่างถี่ถ้วนสำหรับคนทั่วไป ยิ่งคิดหนักเข้าไปใหญ่สำหรับคนที่เลขอายุเกิน 60 

“อะไรที่ทำให้เขากระโดดลงสนามทั้งที่ไม่เคยทำมาก่อน” เราสงสัย  

“ในไตรกีฬาเราต้องว่ายน้ำ 750 เมตร ปั่นจักรยาน 20 กิโลเมตร วิ่ง 5 กิโลเมตร ก่อนหน้านี้เราขี่จักรยานสลับกับว่ายน้ำอยู่แล้ว แต่เราไม่เคยวิ่งมาก่อน เราคิดว่าวิ่งคงไม่ยาก เพราะถ้าเฉลี่ยเวลาก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะต้องทำให้ผ่านเวลาที่เขากำหนดภายใน 3.5 ชั่วโมงหรือ 4 ชั่วโมงเท่านั้น

“หลังจากผ่านไตรกีฬาแรก เราก็ลงแข่งไตรกีฬาในระยะที่ใช้แข่งโอลิมปิก คือว่ายน้ำ 1.5 กิโลเมตร ปั่น 40 กิโลเมตร และวิ่ง 10 กิโลเมตร หนักกว่าเดิมเท่าตัวหนึ่ง ซึ่งเราก็คิดเหมือนทุกครั้งที่ลงสนาม คือไม่หวังอยากได้เหรียญหรืออันดับอะไร ไม่อยากแข่งกับใคร แค่อยากพิสูจน์ตัวเราว่าทำได้ในกรอบเวลาที่เขากำหนด”

หลังจากทำสำเร็จกับไตรกีฬา สมชายก็เริ่มมองหาสิ่งใหม่เพื่อท้าทายตัวเองอีกครั้ง อะไรที่โหดหินกว่า แต่ประเมินแล้วว่าตัวเขาสามารถทำได้

และท่ามกลางประเภทของการแข่งขันทั้งหมด สมชายสะดุดใจกับการวิ่งมาราธอนขึ้นมา

“เรามีเพื่อนอยู่ที่ขอนแก่นที่จะลงวิ่งมาราธอนเหมือนกัน เขาชวนไปเที่ยวบ้านที่ขอนแก่น เราเลยเกิดไอเดียว่าทำไมเราไม่ลงวิ่งกับเขาด้วยเลยล่ะ ก่อนหน้านี้เราเคยแค่วิ่งเหยาะแยะในไตรกีฬา ไกลสุดก็แค่ 10 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ฟูลมาราธอนตั้ง 42.195 กิโลเมตร 

สมชาย จงนรังสิน

“พอเราโพสต์เรื่องนี้ลงในเฟซบุ๊ก เพื่อนในเฟซบุ๊กก็มาคอมเมนต์เตือนกันใหญ่ว่าอย่าไปเลยมันอันตราย วิ่งกับขี่จักรยานมันใช้กล้ามเนื้อคนละส่วนกัน แต่ลึกๆ เรารู้สึกว่าไม่น่ากลัวอย่างที่เขาพูดกัน เพราะตัวเราเคยขี่จักรยาน 600 กิโลเมตร ใช้เวลาบนจักรยาน 40 ชั่วโมงติดต่อกันมาหลายครั้ง เพราะฉะนั้นจะวิ่งแค่ 7-8 ชั่วโมง เราน่าจะทำได้ สุดท้ายก็ตัดสินใจลงสมัครไปกับเพื่อน

เพื่อสร้างความเคยชินให้กล้ามเนื้อ สมชายวางแผนซ้อมวิ่งอยู่หนึ่งเดือนเต็มๆ ก่อนวันจริงจะคิดสูตรการลงสนามส่วนตัวเพื่อให้ตัวเองสามารถพิชิตเป้าหมายได้อย่างปลอดภัยมากที่สุด 

“เราแบ่ง 42.195 กิโลเมตรเป็นสี่ส่วนหลัก 10 กิโลแรกต้องทำให้ได้ภายใน 1 ชั่วโมงครึ่ง, 10 กิโลที่สอง 1 ชั่วโมงครึ่ง พอถึง 10 กิโลที่สาม ร่างกายจะเริ่มล้า เราให้เวลาตัวเอง 1 ชั่วโมง 45 นาที เช่นเดียวกับ 10 กิโลที่สี่ ดังนั้น 40 กิโลเมตรจะใช้เวลา 6 ชั่วโมงครึ่ง เหลืออีกราว 2 กิโลเมตร เราจะใช้เวลา 30 นาที

“วันลงสนามเราตื่นตั้งแต่ตี 4 เริ่มวิ่ง 10 กิโลเมตรแรกก็ใช้เวลาน้อยกว่าปกติ เลยวิ่งไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบร้อน จนกระทั่งมาถึงกิโลเมตรที่ 39 เราวิ่งได้เกือบ 6 ชั่วโมง เหลืออีก 2 กิโลเมตรกว่าๆ ก็บอกตัวเองว่าพอแล้ว หยุดวิ่งดีกว่า ต่อจากนี้จะเดินเพื่อเซฟร่างกายไม่ให้บาดเจ็บ เราเลยหยุดวิ่งแล้วเดินเข้าร้านกาแฟแถวนั้น เพื่อนๆ ก็งงว่าทำไมไม่เข้ามาสักที ก็วิ่งมาตาม ปรากฏว่าเราบอกไม่เป็นไร นั่งกินกาแฟแป๊บ” เขาหัวเราะอย่างอารมณ์ดี “พอดื่มกาแฟเสร็จเราก็เดินเข้าเส้นชัย สรุปใช้เวลาทั้งหมด 6 ชั่วโมง 30 นาที นั่นเป็นมาราธอนแรกของเรา และคิดว่าน่าจะเป็นมาราธอนเดียว”

“ทำไมถึงจะเป็นมาราธอนเดียวของคุณล่ะ” เราโยนคำถาม

สมชายนิ่งคิดไปครู่ใหญ่ ก่อนจะตอบว่า “เรารู้ว่าสังขารมันจะต้องเสื่อมทุกวัน เราไม่จำเป็นจะต้องหยุด แต่เราก็ควรรู้จักร่างกายของเรา ผ่อนบ้าง อย่าหักโหม รู้จักการออกกำลังกายที่สบายกับกล้ามเนื้อและร่างกายตัวเองให้มากที่สุด เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเสื่อมลงทุกวัน

“สมมติว่าเราตอนอายุ 57-58 เคยปั่นจักรยาน 400 กิโลเมตรในเวลา 21 ชั่วโมง หรือว่ายน้ำ 2,000 เมตรได้ใน 1 ชั่วโมง แต่ทุกวันนี้เราจะไม่ทำแบบนั้นแล้ว เราจะปั่นจักรยาน 25-26 ชั่วโมง ว่ายน้ำโดยไม่จำกัดเวลา ซึ่งมันช้ากว่าเดิมแน่ๆ แต่มันสบายกับร่างกายเรามากกว่า เราก็ทำ 

“ในวัยนี้ เราอยากออกกำลังกายตามสิ่งที่ร่างกายเรารับไหวเท่านั้น เพราะเรารู้ศักยภาพของเรา เราไม่ได้เป็นนักกีฬามาตั้งแต่เยาว์ เรามาเริ่มหลังจากเกษียณ เราทำได้ขนาดนี้ก็ภูมิใจมากแล้ว” เขายิ้ม

สมชาย จงนรังสิน

ล้มแล้วลุกไปต่อ สมชาย จงนรังสิน

เท่าที่ฟัง (หรืออ่าน) มา อาจดูเหมือนว่าการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของสมชายมีเพียงข้อดีเท่านั้น แต่เขายอมรับกับเราว่ามีครั้งหนึ่ง เขาก็ต้องเจ็บตัวเพราะการออกกำลังกายเหมือนกัน

“จำได้ว่าเป็นอุบัติเหตุจากการขี่จักรยาน ตอนนั้นเราประสบการณ์น้อย แต่ไปปั่นจักรยานประเภทดาวน์ฮิลล์ที่เขาอีโต้ นครนายก ก่อนหน้านั้นเคยไปดาวน์ฮิลล์เล็กๆ สนุกๆ ขี่เข้าป่าแถวกาญจนบุรี เราคิดว่าไม่อันตรายหรอก แต่พอที่เขาอีโต้เราขี่ลงมาด้วยความเร็ว แล้วเกิดตกเขา

การตกเขาครั้งนั้นทำให้สมชายซี่โครงหัก 4 ซี่ ไหปลาร้าหัก เอ็นไหล่ขาด หมวกกันน็อกแตก และอยู่ในพื้นที่ที่รถพยาบาลไม่สามารถเข้าถึงได้ ท่ามกลางสภาพร่างกายที่สู้ไม่ไหวขนาดนั้น แต่เขาก็ต้องฝืนขึ้นมาขี่จักรยานต่อโดยต้องใช้มือซ้ายจับมือขวามาจับแฮนด์อีกที แล้วอาศัยเพื่อนที่ไปด้วยกันนำทางออกมา

“เราหลงทางอยู่นานจนร่างกายล้ามาก ต้องปล่อยรถล้มอีกครั้งเพราะทนไม่ไหว ครั้งนั้นเราโดนเหล็กของจักรยานบาดหน้าขาจนกลายเป็นแผลเป็นถึงทุกวันนี้

“ตอนนั้นในหัวคิดอยู่อย่างเดียวว่า ไม่น่าเลยนะ ไม่มีประสบการณ์แล้วยังพาตัวเองมาทำแบบนี้อีก ตัวเราเจ็บไม่เท่าไหร่ แต่คนที่อยู่ข้างหลังคือเมียเรา ลูกเรา เขาไม่ได้มาสนุกกับเราด้วยเลย เขาต้องมาคอยดูแลเราในวันที่เราเดินไม่ได้ ขยับตัวไม่ไหว”

“เหตุการณ์นั้นทำให้คุณอยากถอดใจจากการขี่จักรยานไปเลยไหม” เราอยากรู้

สมชายส่ายหัวแล้วคลี่ยิ้ม

“เราไม่เคยถอดใจจากการขี่จักรยาน เชื่อไหมว่าแผลเดิมยังไม่หายดี เราก็พาตัวเองกลับไปปั่นใหม่ ตอนนั้นจะไปบางแสน ปรากฏว่าระหว่างทางมีรถกระบะบรรทุกน้ำแข็งทำน้ำแข็งร่วงบนถนน เราเบรกไม่ทัน ขี่ไปชนจนล้ม ได้แผลมาเพิ่ม (หัวเราะ) แต่ก็ขี่ต่อไปถึงบางแสนแล้ววนกลับมาถึงจะได้ไปโรงพยาบาล”

“ทำไมถึงไม่ถอดใจ” เราสงสัย

“เราเข้าใจว่าบางคนที่เจอแบบนี้อาจล้มเลิกความคิดในการขี่จักรยานไปแล้ว แต่เรามองว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่การขี่จักรยานหรือออกกำลังกายเท่านั้น อยู่ดีๆ นั่งกินข้าวอยู่ข้างทาง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีรถขับมาเสยเราตาย สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน บางคนบอกว่าขี่จักรยานอันตราย แต่มันก็เป็นส่วนน้อยที่จะเกิดอุบัติเหตุ เราคิดอย่างนี้นะ”

สมชาย จงนรังสิน

 

ถ้าร่างกายยังไหว ก็ออกกำลังกายได้เหมือนเดิม

ถึงวันนี้ สมชายเกษียณมาเกือบ 10 ปี แต่ทุกวันนี้ก็ยังออกกำลังกาย 6 วันต่อสัปดาห์เหมือนเดิม 

“เคยคิดอยากหยุดออกกำลังกายแล้วอยู่บ้านพักผ่อนไหม” เราถาม

“เอาจริงๆ นะ ไม่เคยคิดหยุดเลย แต่ถ้าถึงวันหนึ่งร่างกายของเราจะไม่ไหว ออกกำลังกายไม่ได้แล้วจริงๆ เราไม่เสียใจเลยนะ เพราะเราเข้าใจว่าคนเราจะอยู่ค้ำฟ้าไม่ได้ แต่กว่าจะถึงจุดนั้น เราก็ต้องทำร่างกายของเราให้แข็งแรงตลอดเวลา ถึงมันจะค่อยๆ เสื่อมไปแต่เราต้องต่อสู้กับมันไปตลอด

“สำหรับเรา ชีวิตหลังเกษียณไม่ใช่แค่การพักผ่อนเฉยๆ อยู่ที่บ้าน ความคิดของเราคือนั่นไม่ใช่หน้าที่เรา เพราะหน้าที่เราหมดแล้วตั้งแต่เลี้ยงลูกของเราให้ดีที่สุด เรารักหลานเรานะ แต่ไม่ต้องไปเป็นเจ้าของหรือดูแลเขา เพราะเราไม่ได้เป็นคนเจนฯ เดียวกัน การเลี้ยงแบบคนยุคโบราณใช้ไม่ได้แล้วกับสมัยนี้ ฉะนั้นคนที่เลี้ยงเขาได้ดีที่สุดคือพ่อแม่ของเขาเอง

“วัยหลังเกษียณคือกำไร เป็นช่วงเวลาที่เราอยากใส่ใจในตัวเราและสุขภาพ เรารู้ว่าเรายังมีกำลังทำอะไรสนุกๆ ได้ ทำไมเราจะไม่ทำล่ะ เราอยากทำอะไรให้เป็นตัวอย่างให้คนรุ่นหลังเห็นว่าอายุ 60 กว่าแล้วยังทำได้ เป็นแบบอย่างให้พวกเขาด้วย

“สังคมผู้สูงอายุในไทยกำลังเติบโตขึ้นทุกวัน การจะเป็นสังคมผู้สูงอายุไทยที่มีคุณภาพ เราคิดว่าผู้สูงอายุต้องเริ่มจากการพัฒนาตัวเองก่อน นอกจากเรื่องสุขภาพร่างกาย ดูแลตัวเองแล้ว ผู้สูงอายุต้องรู้จักฟังเด็ก เคารพพวกเขาเหมือนที่เขาเคารพเรา เพราะเกิดมาคนละยุค ชุดความคิดคนละแบบกัน เราถือคติว่าเป็นคนแก่ยุคนี้ต้องไม่ขี้บ่น ไม่ทำเป็นรู้ดี คนแก่จะต้องปิดปากเงียบ ฟังให้มาก แล้วก็ต้องน่ารัก

“ตอนนี้สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเราคือสุขภาพ เราอยากอยู่กับภรรยาแบบสบายจิตสบายใจ ใช้ชีวิตกับเพื่อนฝูง ไม่แข่งขันกับใคร แข่งอย่างเดียวคือแข่งเรื่องสุขภาพ ภรรยาเราก็ออกกำลังกายนะ แต่เขาจะเป็นสายเล่นในยิมมากกว่า”

“อะไรน่ากลัวสำหรับคุณที่สุดในวัยนี้” เราโยนคำถามสุดท้าย 

“ถึงวันนี้ ไม่มีเรื่องอะไรน่ากลัวสำหรับเราอีกแล้ว เพราะเรารู้สัจธรรมว่าคนเราทุกคนเกิดมาต้องตาย เราคุยกับเมียอยู่ตลอดว่าถ้าเราคนใดคนหนึ่งตายก่อน อีกคนต้องอยู่ให้รอด แล้วก็ต้องอยู่ให้ดี ไม่ต้องเศร้าโศก จะต้องอยู่ให้ดีเหมือนวันนี้ที่อยู่ด้วยกัน

“แต่ระหว่างนั้น เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้นเราสองคนจะต้องทำสุขภาพให้ดี เพราะเราจะต้องดูแลซึ่งกันและกันจนถึงตอนที่แก่กว่านี้ ถ้าในวันที่เราอายุ 80 แล้วยังสามารถออกกำลังกาย เราก็ยังมีความสุขได้ จูงแขนเดินไปด้วยกันได้เหมือนเดิม” สมชายทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มกว้าง

สมชาย จงนรังสิน

คงไม่เกินจริงหากจะกล่าวว่าสมชายคือตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จในการดูแลตัวเอง และไม่ยอมให้เลขอายุมาเป็นกรอบจำกัดในการทำสิ่งที่อยากทำ ความกล้าหาญที่จะก้าวข้ามลิมิตของสมชายคล้ายบอกเราว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยไหน ไม่มีคำว่าสายไปสำหรับการสร้างความแข็งแรงให้ตัวเอง

ความน่าสนใจอีกประการคือความฟิตของร่างกายที่ยังวิ่งมาราธอนแม้จะอายุ 66 ปี สมชายทำให้เราประหลาดใจ ในขณะเดียวกันก็อยากลุกขึ้นมาวิ่งเหมือนเขาเลยเหมือนกัน เราไม่อยากเผชิญภาวะการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อจนกลายเป็นผู้สูงวัยที่เดินไม่ได้ตอน 70 ปี อันที่จริง เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสภาพกล้ามเนื้อในตอนนี้ของเราเป็นยังไง จะดีหรือแย่แค่ไหน เราควรเริ่มออกกำลังและกินอาหารแคลเซียมสูงเลยหรือเปล่า?

ถ้าคุณเป็นอีกคนที่เริ่มหวั่นใจกับกล้ามเนื้อของตัวเองอยู่เหมือนกัน ลองเล่นทริคสนุกๆ ว่าด้วยการทดสอบความสมบูรณ์ของมวลกล้ามเนื้อด้วยเก้าอี้ฉบับที่ใครก็ทำได้ ซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์ญี่ปุ่นแนะนำมาให้ดูกันตามภาพนี้เลย

วิธีง่ายๆ ที่คุณจะเริ่มดูแลมวลกล้ามเนื้อตัวเองคือการกินโปรตีนที่สำคัญ 3 ชนิดซึ่งมีอยู่ในอาหารเสริมจาก Ensure อยากรู้เคล็ดลับเสริมสร้างความแข็งแรงเพิ่มเติม คลิกเลยที่ ensure.co.th


อ้างอิง

static-nocdn.abbottnutrition.com

AUTHOR