เบื้องหลัง Love Stuck หนังรักวนลูปกับการมองหาความสุขเล็กน้อยที่ซ่อนอยู่ในทุกวัน

ถ้าพูดถึงหนังวนลูป หนึ่งเรื่องที่น่าจะแวบเข้ามาในความคิดของใครหลายคน คงมีภาพยนตร์เรื่อง The Map of Tiny Perfect Things ซึ่งเป็นผลงาน Amazon Original ที่โด่งดังในปี 2021 อยู่ในนั้นด้วย

ครั้งนี้ ‘ดิว-จงดล สุกุลวรภัทร’ ผู้กำกับหนุ่มจากวงการมิวสิกวิดีโอและโฆษณา ควบตำแหน่งผู้กำกับหนังเรื่องแรกของเขา ร่วมกับ ‘รัตน์-นพรัตน์ รามวงค์’ มาช่วยกำกับหนังเรื่องนี้ด้วยอีกคน โดยนำเอา ‘The Map of Tiny Perfect Things’ มารีเมกใหม่ในชื่อว่า ‘Love Stuck รักวนลูป’ โปรเจกต์ร่วมระหว่าง ระหว่าง Amazon MGM Studios กับ Benetone Films

“ถึงแม้จะไม่ได้ติดอยู่ในลูปเวลา แต่อาจจะติดกับลูปการใช้ชีวิต แล้วลืมสังเกตสิ่งรอบๆ ตัว ได้ย้อนคิดถึงคุณค่าบางอย่าง ที่จะช่วยให้ชีวิตที่ดูเหมือนแสนธรรมดามีความพิเศษขึ้นมาได้”

Love Stuck รักวนลูป ได้ออกแบบรายละเอียดของ Tiny Perfect Moment ให้รายล้อมอยู่ในสถานที่และสถานการณ์ต่างๆ พร้อมชวนให้คนดูได้ลองมองหาความสุขเล็กน้อยที่ซ่อนอยู่ในทุกๆ วันที่เราอาศัยอยู่ เบื้องหลังการทำงานครั้งนี้จะเป็นอย่างไร ไปอ่านพร้อมกันได้เลย

ที่มาที่ไปของโปรเจกต์นี้และการร่วมงานกันระหว่าง Amazon MGM Studios กับ Benetone Films 

ดิว: เราเคยทำงานร่วมกับทาง Benetone Films มาก่อน ทางเขาก็เห็นว่าเรามี Potential สามารถทำหนังยาวได้ เขาก็เลยให้เรานำเสนอเรื่องที่เป็น Original ว่าอยากเอาเรื่องไหนมาทำเป็นเวอร์ชันไทย โดยที่เราจะต้องทำ Vision ทั้งหมดว่าเราจะปรับหนังเรื่องนี้ในบริบทไหนบ้างแล้วไปพรีเซนต์กับทางอเมริกาว่าเขาชอบไหม ปรากฏว่าเขาก็ชอบ อยากร่วมงานด้วยก็เลยมาทำเรื่องนี้ด้วยกัน

คุณมีการปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาบทในเวอร์ชันต้นฉบับมาสู่เวอร์ชันไทยอย่างไรบ้าง

ดิว: สิ่งที่เรื่องนี้ต่างออกไปจาก Original คือการเล่าเรื่องที่ค่อนข้างกระชับและสนุก เวอร์ชัน Original จะเป็นแค่เมืองเล็กๆ ที่อยู่ในอเมริกา แต่เวอร์ชันนี้ปรับมาเป็นเมืองใหญ่ในกรุงเทพฯ วิถีชีวิตก็จะอยู่ระแวกบ้านและที่ทำงาน ซึ่งก็จะมีโอกาสได้พบเจอเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่ซ่อนอยู่ในแต่ละวัน 

ช่วงอายุก็ต่างกัน Original เป็นช่วง High School ที่มีปัญหาเรื่องครอบครัวและอนาคตของตัวเอง แต่เวอร์ชันนี้จะพูดถึงคน Generation ใหม่ที่ต้องการพิสูจน์ตัวเอง อาจจะเป็น First Jobber หรือกำลัง stuck กับชีวิตว่าจะไปยังไงต่อ เรารู้สึกว่าคนในช่วงวัย 24 – 25 ปี เป็นช่วงที่กำลังชาเลนจ์และค้นหาตัวเองอยู่พอสมควร หรือแม้กระทั่ง Background ครอบครัวก็จะไม่เหมือนกัน อย่างฝั่งของอเมริกาก็จะมีความห่างมากกว่าฝั่งเอเชียที่ค่อนข้างใกล้ชิดสนิทสนมกัน

การเซ็ตอัพวัน Original ก็จะเป็นวันปกติธรรมดาวันหนึ่ง แต่เราเลือกเป็นวันที่ 31 ธันวาคม เพราะภาพชัดเลยว่าวันต่อไปคือวันปีใหม่ เมื่อจะถึงวันปีใหม่เราจะรู้สึกดีเสมอ เราจะทิ้งเรื่องร้ายๆ ในปีนี้ไปแล้วก็ตั้งต้นใหม่ ทุกคนก็จะมีความหวัง มีการอธิษฐานหรือคิดสิ่งที่เราอยากจะทำในปีหน้า แต่ถ้าเราต้องติดอยู่ในวันนี้ ไม่มีปีใหม่สักที ไม่เดินหน้าไปสักที แล้วจะเป็นยังไง ก็รู้สึกว่าคอนเซปต์นี้น่าสนใจที่จะเอามาใช้ในการเล่าเรื่อง 

ทำไมถึงหยิบเรื่องนี้มารีเมกใหม่

ดิว: เรารู้สึกว่าคอนเซปต์การติดลูปมันน่าสนใจ ส่วนตัวเป็นคนชอบหนัง Time Loop อยู่แล้ว เป็นหนึ่งในหนังที่เราอยากทำ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เป็นหนัง Time Loop ทั่วไป แต่จะเน้นไปที่ความสัมพันธ์ของตัวละคร ทั้งในมุมพระเอกและนางเอก หรือในมุมของครอบครัวก็จะมีมิติขึ้น 

คิดว่าความยากของหนัง Time Loop คืออะไร

ดิว: หนัง Time Loop ของเมืองนอกเขาทำกันเยอะแล้วในหลากหลายวิธี แต่จะต่างกันในแง่ของรายละเอียด ของจังหวะเวลา อะไรคือสิ่งที่เหมือนเดิม อะไรคือสิ่งที่ต่างออกไป เป็นเรื่องของไอเดียในการนำเสนอว่าจะทำยังไงให้มันไม่ซ้ำกับเรื่องอื่นๆ ที่เคยทำมา

รัตน์: เรื่องนี้เป็นหนังวนลูปก็จริงนะ แต่ทุกวันที่เกิดขึ้นใหม่มันไม่เคยซ้ำกันเลย เพราะฉะนั้นการเล่าเรื่องก็จะต่างกันในทุกๆ วัน สิ่งที่เหมือนเดิมคือบรรยากาศ เพราะฉะนั้นมันจะไม่ใช่ความลูปแบบน่าเบื่อ แต่เรื่องจะพัฒนาต่อไปข้างหน้าเสมอ ทำให้รู้สึกน่าติดตาม

ดิว: คอนเซปต์คือทุกเที่ยงคืนของวันที่ 31 จะวนกลับมาเวลา 8 โมงเช้าเสมอ แต่หลังจากนั้นก็จะไม่เหมือนเดิมเลย ด้วยความที่เรื่องนี้ใช้โลเคชัน 20 กว่าที่ เพราะเราอยากให้คนดูได้เห็นเห็นไลฟ์สไตล์ชีวิตในกรุงเทพที่หลากหลาย ก็เลยเป็นการ combination กันระหว่างความเก่าและความใหม่ เราอยากดึงเสน่ห์ของกรุงเทพ ทั้งศิลปะและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น ความเป็นย่านเมืองเก่าที่ผสมกับความชิค ทำให้มีกลิ่นอายโมเดิร์นในปัจจุบันหรือสีสันที่ค่อนข้างฉูดฉาด อยากให้คนดูแล้วรู้สึกอยากมาเที่ยวกรุงเทพมากขึ้น

รัตน์: เหมือนการที่เราเล่นเกมแล้วจะมีมีจุด check point ไปข้างหน้า แต่ระหว่างทางจะไม่เหมือนกันเลย เวอร์ชันนี้จะมีความฉูดฉาด การเล่าเรื่องที่สนุกและกระชับมากขึ้น 

ความท้าทายของโปรเจกต์นี้มีพาร์ทไหนที่เป็นอุปสรรคและท้าทายมากที่สุด

ดิว : พาร์ทที่ท้าทายที่สุดคือตอนถ่ายกลางฝน มีหลายคิวที่ฝนตกหนักแล้วเราก็ต้องแข่งกับเวลา ซีนใหญ่ เอ็กตร้าเยอะ เราต้องปิดตรงที่เป็นแลนมาร์กช่องนนทรี เพื่อเซ็ตอัพวันปีใหม่ เราก็ถือว่าทุ่มทุนมาก เพราะต้องปิดเป็นอาทิตย์เพื่อเซ็ตอัพให้งานปีใหม่มันดูแกรนด์ ถ่ายซีนกลางคืนทั้งเรื่อง มีเอ็กตร้า 300-400 คนมาร่วมงาน และมีซีนเซอร์ไพรส์อยู่ในนั้น ซึ่งเราก็ต้องขึ้นผ้าดำคลุมทั้งหมด เพื่อไม่ให้มีใครมาแอบถ่าย ต้องป้องกันหนาแน่นมาก ถ่ายซีนกลางคืนยันสว่าง บางวันถ่ายไม่จบก็ต้องมาถ่ายต่อ

หนังมีความธรรมชาติมาก คุณหานักแสดงยังไง

ดิว : การหานักแสดงค่อนข้างยาก เพราะตัวพระเอกมีซีนที่จะต้องถวายตัวอยู่เหมือนกันและเสี่ยงในการแสดงพอสมควร ตอนแรกก็กลุ้มใจอยู่เหมือนกันว่าจะหาใครมาเล่นได้ คงยากที่จะมีใครกล้าเล่น จนกระทั่งเราได้ไปดู Yotube ส่วนตัวของเจมส์ (ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) ถ่ายเรื่องชีวิตรัก ครอบครัว เราก็รู้สึกว่าใกล้เคียงกับตัวละครทอยมาก บวกกับเจมส์ไม่เคยเล่น RomCom (romantic comedy) มาก่อนด้วย ก็ดูเป็นอะไรที่ชาเลนจ์ตัวเขาเหมือนกัน ในขณะเดียวกันตัวละครวี ตอนที่เขียนบทคือมีหน้าจูเน่อยู่ตลอดเลย เรารู้สึกว่าคู่นี้เข้ากันดีมาก ทั้งคู่เป็นนักแสดงที่เก่ง ทุ่มเท และทำการบ้านหนักมาก พวกเขาจะมีอะไรแอบมาเซอร์ไพรส์เราเสมอ ทำให้หนังพัฒนาไปมากกว่าบทที่เราคาดหวังไว้ เป็นเคมีใหม่ๆ ที่มันพอดี

คุณใช้เวลาพัฒนาบทนานไหม

ดิว : จริงๆ เรื่องนี้เราปรับบทแทบจะตลอดเวลาเพื่อให้เข้ากับเรื่องและนักแสดง เราเปิดโอกาสให้นักแสดงมีส่วนร่วมกับทีมทุกตัวละคร เรามีคอนเซ็ปของซีนและไดอาล็อกเป็นโครงไว้แล้วให้นักแสดงลองเล่นโดยไม่จำเป็นต้องพูดตามบทเป๊ะๆ เพราะเราอยากให้ออกมาจากความรู้สึกของตัวละครจริงๆ ทำให้หนังเรื่องนี้มีความเป็นธรรมชาติสูงมาก 

ในฐานะผู้กำกับหนังหน้าใหม่ คุณภูมิใจกับมันมากน้อยแค่ไหน 

ดิว : สำหรับเรื่องแรกเป็นบทเรียนที่สำคัญมาก เราเคยทำมิวสิควิดีโอ เคยทำโฆษณามาเยอะแล้ว แต่ว่าศาสตร์ของภาพยนตร์มันเป็นอีกโลกนึงเลย เป็นสิ่งที่ยากมากๆ ที่จะทำออกมาให้มันสมบูรณ์แบบ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ แต่พอมันเสร็จแล้ว ผมค่อนข้างภูมิใจกับผลงานนี้มากๆ เราตั้งใจและทุ่มเทในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเรื่องบท ภาพ การแสดง หรือแม้กระทั่งเพลงประกอบ ทุกอย่างคือรวมคนเก่งมาช่วยกัน เพื่อทำให้ภาพยนตร์ Amazon Original เรื่องแรกของไทย เป็นหมุดหมายที่คนดูจะรู้สึกว่าหนังไทยที่มีคุณภาพมากๆ

รัตน์ : สำหรับคนที่เคยดูมาแล้ว ถ้าได้ดูเรื่องนี้จะลืมต้นฉบับ เพราะเราไม่ได้เล่าตามนั้นเลย หลายๆ ซีนมันมาไกลกว่าบทที่เราอ่าน จากการทำหนังเรื่องนี้ทำให้เราเรียนรู้ว่าเราไม่สามารถคอนโทรลทุกอย่างได้ เพราะมีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้เยอะ แต่เราก็พยายามทำเต็มที่เพื่อทำให้คนดูไม่รู้สึกเสียเวลาที่ได้ดูมันแน่นอน

คุณคิดว่าการมองหาความสุขเล็กน้อยที่ซ่อนอยู่ในทุกๆ วัน มีความสำคัญกับคนในสังคมทุกวันนี้อย่างไรบ้าง 

ดิว : การที่เราได้สังเกตรายละเอียดรอบๆ ตัว เรื่องนี้อยากให้คนดูรู้สึกว่าการที่เราติดลูปทำให้เราเห็นดีเทลของวันนี้ที่เราติดอยู่ในหลายๆ มิติ หลายๆ มุมมอง เหตุการณ์นึงเราอาาจะไม่เคยสังเหตมัน แต่พอเราได้อยู่กับมัน ได้มองอีกมุมนึง เราก็จะเห็นวิธีที่มันต่างออกไป

โลกทุกวันนี้หมุนเร็วมาก แต่ถ้าเราได้ลองช้าลง แล้วมองรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ รอบตัวดูบ้าง ก็จะช่วยทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มีคุณค่า และมันก็ช่วยฮีลใจเราได้ ทำให้เรามีแรงใช้ชีวิตต่อ หรือมองเห็นคุณค่าของชีวิต แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องดีเทลเล็กๆ ก็ตาม

เคยมีความรู้สึกว่าตัวเองติดอยู่ในลูปมั้ย แล้วเรื่องนั้นคืออะไร

ดิว : ติดอยู่ทุกวัน (หัวเราะ) สำหรับเราการขึ้นมาเป็นผู้กำกับไม่ใช่เรื่องง่าย การเป็นผู้กำกับให้ความรู้สึกเหมือนม้าที่ต้องวิ่งอยู่ตลอดเวลา ต้องคอยเฆี่ยนตัวเองเพื่อให้ไปข้างหน้า เพราะเมื่อไหร่ที่หยุดก็จะมีผลกระทบเลย เราต้องพยายามพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ใช้แรงกายแรงใจเยอะ อาชีพนี้ต้องแลกในหลายๆ อย่างเพื่อผลงานและสิ่งที่เราวาดฝันไว้ แต่อีกมุมนึงก็มีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่รัก แม้ว่ามันจะเป็นลูปแต่ก็เป็นลูปที่เราได้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของคุณคืออะไร

ดิว :  การได้มีครอบครัว ได้มีลูกเป็นของตัวเอง สิ่งนี้ทำให้เปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิตของเราไปเลย ช่วงที่เราเป็นวัยรุ่น เราก็ไม่รู้หรอกว่าการเป็นพ่อคนจะมีรายละเอียดเล็กๆ ที่คนไม่เคยมีลูกก็จะไม่รู้ ซึ่งมันทำให้เราเป็นคนในเวอร์ชันที่ดีขึ้น และส่งผลต่อการทำหนังมาก เพราะเราเข้าใจมิติของความเป็นมนุษย์ได้ครบขึ้น ความรู้สึกของเราตอนที่เป็นพ่อคนแล้ว เหมือนได้อัพเกรดตัวเองเป็นอีกเวอร์ชันนึงเลย ทั้งทางความคิด ความอ่าน และความรู้สึก การที่ได้อยู่กับลูก เห็นเขาค่อยๆ เติบโต เรารู้สึกว่ามีคุณค่ามากเลย

รัตน์ : การมองสิ่งเล็กๆ ผมเป็นมาก่อนที่จะมาทำหนังเรื่องนี้ เมื่อก่อนผมก็เล่นโซเชียลปกติ แต่ช่วงห้าปีที่แล้วก็เริ่มหันหลังให้โซเชียล อยู่กับครอบครัวมากขึ้น ผมรู้สึกว่าการรอคอยลูกเลิกเรียนแล้วกลับบ้าน มาเล่นเกมกันแม่งมีความสุขมาก ทำให้เราเข้าใจมนุษย์ครบทุกด้านมากขึ้น ทุกวันนี้อยากมีเงิน เพื่อใช้เวลากับครอบครัว ไปเที่ยวกับครอบครัว ความรู้สึกอยากมีอยากได้ในวัตถุมันน้อยลงไปมาก

PHOTOGRAPHER

Cozy Cream

ไม่ใช่โซดา อย่ามาซ่ากับพี่

gunsept

เด็กหาดใหญ่ แหลงใต้ไม่เป็นแต่ว่า รักดนตรี ศิลปะ ภาพยนตร์