พาชมเบื้องหลังเตรียมความพร้อมสู่เบื้องหน้านิทรรศการงานออกแบบสุดยิ่งใหญ่ “สถาปนิก’68”

พาชมเบื้องหลังเตรียมความพร้อมสู่เบื้องหน้านิทรรศการงานออกแบบสุดยิ่งใหญ่ “สถาปนิก’68”

หากเอ่ยถึงงานใหญ่ประจำปีของวงการออกแบบสถาปัตยกรรมและเป็นงานที่ได้การยอมรับจากนานาชาติ ต้องยกให้ งานสถาปนิก หรือ Architect Expo โดยปีนี้ งานสถาปนิก’68 มีกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2568 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งเชื่อว่าแฟนๆ ของงานนี้ตั้งตารอคอย เพื่อชมความยิ่งใหญ่และนิทรรศการไฮไลต์ของปีนี้อย่างแน่นอน a day ขออาสาพาทุกคนไปชมเบื้องหลังการทำงานของบรรดาทีมผู้ออกแบบนิทรรศการในปีนี้ นำโดยกรรมการจัดงานสถาปนิก’68 คุณนิวัติ คูณผล, คุณอรรถสิทธิ์ ศรีมาเสริม, คุณภูริวัฒน์ ศรีประสาธน์ และคุณศิธร เพ็ญพร ร่วมกับ บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) และพันธมิตร เช่น โปรดักชั่น แอนด์ โปรดักส์ และ บ้านส้ม อาร์ตแอนด์ดีไซน์ ในการเตรียมงาน ก่อนนำไปจัดแสดงสู่เบื้องหน้าให้ทุกคนได้ชม 

พร้อมไปพูดคุยกับประธานจัดงานสถาปนิก’68 คุณธันว์ ศรีจันทร์ และคณะกรรมการจัดงานครั้งนี้ ได้แก่ คุณอรรถสิทธิ์ ศรีมาเสริม, คุณภูริวัฒน์ ศรีประสาธน์ และตัวแทนจาก บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) คุณวิลาสินี บุญธรรม ร่วมสำรวจและติดตามการทำงานออกแบบตกแต่งนิทรรศการในแนวคิด “ทบทวน ทิศทาง: Past Present Perfect” ซึ่งเป็นหนึ่งในนิทรรศการหลักภายในงาน “สถาปนิก’68” ณ Bangkok Canvas ย่านพุทธมณฑล จ.นครปฐม

คอนเซ็ปต์ของงานสถาปนิก’68

งานสถาปนิก’68 เป็นงานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมและผลิตภัณฑ์ก่อสร้างใหญ่ที่สุดในอาเซียน ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ทบทวน ทิศทาง: Past Present Perfect” สะท้อนถึงการเดินทางของสถาปัตยกรรมไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยผู้ที่เข้าร่วมงานจะได้ร่วมสำรวจและทบทวนถึงทิศทางที่สถาปัตยกรรมไทยได้ก้าวเดินผ่านมาหลายยุคสมัย โดยมีนิทรรศการหลักภายใต้แนวคิด “ทบทวน ทิศทาง: Past Present Perfect” ซึ่งใช้ผ้าเป็นวัตถุดิบหลักในการออกแบบตกแต่งในครั้งนี้

คุณธันว์ ศรีจันทร์ ประธานจัดงานสถาปนิก’68 เล่าว่า ในปีนี้ผู้จัดมีความตั้งใจออกแบบการจัดงานให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แม้ไม่ใช่สถาปนิกก็สามารถเข้าร่วมงานนี้ได้ ทั้งนักเรียนออกแบบ มัณฑนากร ภูมิสถาปนิก ฯลฯ โดยในงานนี้ยังมีผลงานประติมากรรม (Sculpture) มาร่วมแสดง อีกทั้งยังเป็นการรวมตัวของนักออกแบบจากทุกสาขาอาชีพจากทั่วประเทศ 

เราอยากทำลายกำแพงของความเป็น architect ออกไป แล้วชวนทุกคนมาร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น เด็กนักเรียนนักศึกษาในทุกสาขาอาชีพจากทั่วประเทศ ให้ทุกคนเข้ามาแลกเปลี่ยนกัน ภายใต้แนวคิด Past Present Perfect เพื่อส่งต่อให้กับเด็ก ๆ ในอนาคต”  

นิทรรศการ Past Present Perfect

ทบทวน ทิศทาง : Past Present Perfect ถือเป็นนิทรรศการหลักและเป็นส่วนสำคัญที่แสดงผลลัพธ์จากกิจกรรม  Student Workshop กับการนำเสนอผลงานของนักศึกษาในรูปแบบที่ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการคิด กระบวนการออกแบบ การสัมผัสประสบการณ์ในมิติต่างๆ ของงานสถาปัตยกรรม จนไปถึงโมเดลต้นแบบของผลงานที่ออกแบบใหม่นิทรรศการนี้จะช่วยถ่ายทอดเรื่องราวของสถาปัตยกรรมไทยในอดีตที่ถูกตีความใหม่ในปัจจุบัน และสะท้อนถึงบทบาทของสถาปนิกในยุคปัจจุบันที่ต้องผสานความรู้และความสร้างสรรค์เพื่อมุ่งสู่อนาคตอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งสองส่วนจะทำให้งานสถาปนิก’68 เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ การแบ่งปัน และการเชื่อมโยงความรู้ระหว่างรุ่น พร้อมสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาทิศทางใหม่ของสถาปัตยกรรมไทยในอนาคต

ทบทวน ทิศทาง แรงบันดาลใจสู่อนาคต

คุณภูริวัฒน์ ศรีประสาธน์ กรรมการจัดงานสถาปนิก’68 เล่าเสริมว่า ธีมงานนิทรรศการ “ทบทวน ทิศทาง: Past Present Perfect” เป็นการทบทวนให้เห็นว่า ในอดีตที่ผ่านมางานสถาปัตย์ของไทยเราเป็นยังไง ออกแบบยังไง แล้วพัฒนามาถึงจุดนี้ได้ยังไง แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่กว้างกว่า อย่างน้องๆนักเรียนที่ยังไม่ทราบเลยว่า เขาอยากจะทำอะไรในอนาคต หากเขาเข้ามาในงานก็จะได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานการออกแบบต่างๆ ของนักศึกษากว่า 30 สถาบัน ซึ่งจะอยู่ในนิทรรศการ “ทบทวน ทิศทาง: Past Present Perfect” พวกเขาอาจจะไม่อยากเป็นสถาปนิก แต่อาจจะชอบงานศิลปะในแขนงอื่นก็ได้เชื่อว่าเขาจะได้อะไรดี ๆ จากงานนี้

การใช้ผ้าในงานสถาปัตยกรรม 

คุณอรรถสิทธิ์ ศรีมาเสริม กรรมการจัดงานสถาปนิก’68 อธิบายว่า ธีมการออกแบบในปีนี้ ใช้รูปแบบของการจัดวางกลุ่มอาคารที่ลอยอยู่ด้านบน (ดูตัวอย่างได้ใน perspective) โดยเลือกใช้ผ้าเป็นวัตถุดิบหลัก ด้วยลักษณะของความโปร่งแสง ด้วยการตกกระทบของแสงสีและเงา สื่อถึงพัฒนาการออกแบบที่ปรับเปลี่ยนจากอดีตมาถึงปัจจุบันส่งต่อไปยังอนาคต 

“ในปีนี้ เราจะได้เห็นความพยายามในการนําผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างอื่นที่ไม่คุ้นชินมาใช้ในงานสถาปัตยกรรม เช่น ผ้าใบกันฝุ่น ซึ่งในทางการออกแบบถือว่า Advance (ระดับสูง) ตัวอย่างเช่นที่สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นตัวอย่างของการนำผ้ามาใช้ในงานสถาปัตยกรรม แม้ว่าจะดูเรียบง่าย แต่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ด้วยความโปร่งแสง หรือรูปทรงที่ปรับเปลี่ยนได้ สามารถสื่อสารถึงความหมายได้หลายอย่าง เช่น การสะท้อนแนวคิด Past Present Perfect ที่จะเห็นในงานสถาปนิก’68 เพราะ แค่ขององศาที่แตกต่างของหลังคาเพียงแค่ 1 – 2 องศา ก็แสดงให้เห็นถึงคาแรคเตอร์ที่เปลี่ยนแปลงไป จะเป็น “วัด” “บ้าน” หรือ “โบสถ์โกธิค” ก็จะมีรายละเอียดที่ต่างกัน เป็นหนึ่งในสิ่งที่คณะทำงานได้เดินทางมาติดตามการทำงานถึงตัวโรงงานในวันนี้”

การสื่อสารด้วยผ้าในงานสถาปัตย์ 

คุณอรรถสิทธิ์ ศรีมาเสริม กรรมการจัดงานสถาปนิก’68 ให้ความเห็นอีกว่า ผ้ากับงานสถาปัตย์ เป็นศาสตร์ที่นำมาประยุกต์ใช้ตั้งแต่ประวัติศาสตร์จีนในอดีต สมัย “เจง กิสข่าน” มีการนำผ้ามาทำเต็นท์ เนื่องจากผ้ามีความฟรีฟอร์ม ยืดหยุ่นได้ พับได้  อีกทั้งยังมีคุณสมบัติที่โปร่งแสงและทึบแสงตามลักษณะของเนื้อผ้า ถือเป็นหนึ่งในวัสดุที่แอดวานซ์และพรีเมี่ยมมากในวงการสถาปัตยกรรม อย่างการออกแบบชุดอวกาศก็ทำจากผ้า เพราะมันคือบ้านหลังเล็กๆของเราที่ห่อหุ้มเราไว้เมื่อออกไปสู่โลกอวกาศ ขณะที่การพาลูกไปเล่นบ้านบอลตามงานวัดนั่นก็คือผ้าที่สามารถเป่าขึ้นมาเป็นอาคารได้ภายใน 2 ชั่วโมง

ผ้ายังได้ชื่อว่าเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นวัสดุที่สนับสนุนความยั่งยืน sustainable มันไม่สร้างมลภาวะมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม แต่แน่นอนว่าการออกแบบและการการดึงขึงผ้า ต้องใช้ศาสตร์ที่สูงมาก ถ้าจำได้ตอนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดเอเชียนเกมส์ก็มีการใช้ผ้า จากนั้นก็ที่สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากต่างประเทศ  การนำผ้ามาเป็นวัสดุในการออกแบบตกแต่งนิทรรศการในครั้งนี้ เพื่อคุมธีมที่กลมกลืนภายใต้พื้นที่ขนาดใหญ่ มีบูธหลายบูธ สามารถย้อมให้เกิดสีสัน และด้วยความโปร่งแสงของมันก็เหมือนโปรเจคเตอร์ตัวหนึ่งเป็นจอที่เล่าเรื่องราวได้ สื่อสารได้ นี่คือเสน่ห์ของผ้า 

Theme Song งานสถาปนิก’ 68

คุณอรรถสิทธิ์ ศรีมาเสริม กรรมการจัดงานสถาปนิก’68 กล่าวว่า การจัดนิทรรศการ “ทบทวน ทิศทาง: Past Present Perfect” ภายในงานสถาปนิก’68 นอกจากจะมีการใช้แสงสีเพื่อสะท้อนเรื่องราวความรู้สึก ยังมีการสร้างสรรค์บทเพลง “Stone and Soul” ซึ่งเป็นเพลงของงานสถาปนิก’68  ครั้งแรกกับบทเพลง ที่ถ่ายทอดความรู้สึกของ “สถาปัตยกรรม” ผ่านจังหวะ เสียง และภาพ 

“เราพยายามทะลายกำแพงบางอย่างที่ผู้คนกั้นไว้ว่า สถาปนิกเหรอ โอ๊ย แพง มันไฮโซเกินไป เรากำลังจะบอกว่าทุกอย่างที่เราออกแบบคือสิ่งที่ดีกับทุกคน ทางผู้จัดงานจึงมีเจตนาที่นำเพลงมาเป็นตัวเชื่อมโยงและสื่อสาร เป็นเสน่ห์และสร้างความทรงจำให้ผู้เข้าชมงาน ซึ่งเพลงนี้แต่งขึ้นโดยสถาปนิกเอง”

ภาพจำของงานสถาปนิก’ 68

คุณธันว์ ศรีจันทร์ ประธานจัดงานสถาปนิก’68 กล่าวว่า “ความแตกต่างจากวัสดุใหม่และรูปทรงใหม่ แม้จะเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยก็สามารถสื่อสารออกมาเป็น Messaege ใหม่ สิ่งที่เรามุ่งหวังคือ “ภาพจำ” ซึ่งเป็น Key Message ที่จะถูกส่งไปถึงคนที่ได้เข้าชมงาน อยากให้เห็นภาพที่เกิดขึ้นภายในงานแล้วเกิดความประทับใจและภูมิใจกับผลงานของนักออกแบบไทย ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน นี่คือหน้าร้อนแห่งความภาคภูมิใจของทุกคน

ความตั้งใจของเราอยากให้เกิดขึ้นมากกว่าคำว่า “กระแส” แต่อยากให้ไปไกลกว่านั้น ให้ทุกคน ไม่เฉพาะผู้ที่เรียนด้านการออกแบบได้เห็นและภาคภูมิใจว่านักออกแบบไทยกำลังทำสิ่งดีๆให้เกิดขึ้น เพราะสิ่งที่เราออกแบบ มันคือของขวัญที่มอบให้กับทุกคน เราไม่ได้ออกบ้านแล้วอยู่ของเราคนเดียว เราไม่ได้ออกแบบแค่ตึก แต่เราออกแบบสิ่งดี ๆ เหล่านี้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน” 

วางแผนดำเนินงานด้านความยั่งยืน 

หลังจากการจัดงานสถาปนิก’68 ในกรุงเทพฯ ผ้าเหล่านี้จะถูกหมุนเวียนนำไปใช้ในการเดินสาย จัดงานใน 4 ภาค ซึ่งขึ้นอยู่กับว่านักออกแบบจะปรับแต่งต่อยอดอย่างไร โดยทางทีมผู้จัดงานจะส่งวัสดุหลักไปให้ เนื่องจากเล็งเห็นแล้วว่า ผ้าเป็นวัสดุที่พับเก็บหรือขนส่งได้สะดวก สามารถนำไปใช้ซ้ำได้หลากหลายรูปแบบ เมื่อบวกกับ Lighting จากผ้าเรียบ ๆ ธรรมดาก็จะมีความพิเศษ เสร็จงานแล้วยังพับเก็บไว้ใช้ต่อได้ ซึ่งถึงตอนนั้น จะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะส่งต่อผ้าเหล่านี้ไปยังหน่วยงานหรือมูลนิธิใดที่เหมาะสม ทั้งนี้คาดว่าจะมีการใช้ผ้าชีฟองสำหรับการจัดงานในครั้งประมาณ 1,000 ตารางเมตร

ฝากทิ้งท้ายถึงงานสถาปนิก’68

คุณวิลาสินี บุญธรรม หัวหน้าหน่วยธุรกิจ บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) 

“ในฐานะพันธมิตรด้านการออกแบบและก่อสร้าง หรือฝั่งออแกไนเซอร์ของงาน อยากให้ทุกคนเข้ามาลองชมดูว่า งานสถาปนิกมันคือสิ่งที่ไม่ได้จับต้องยากอย่างที่เข้าใจ แต่เข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคน อยากให้มองย้อนไปว่า สิ่งที่เราต้องการทำมันคือบ้านหลังหนึ่ง ดังนั้นในบ้านก็จะมีองค์ประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์และห้องต่าง ๆ เราอยากให้ทุกคนมาเห็นว่าทุก ๆ ห้องที่เรากำลังจัดสรรพื้นที่ มันให้อะไรกับคุณบ้าง มันเข้าถึงคุณอย่างไร น้อง ๆ นักศึกษาในปัจจุบันไม่ได้ทำงานแค่ Presentation หรือทำแค่โมเดล แต่มี Concept Idea ที่มากกว่านั้น และพวกเขาก็เก่งมาก ๆ อยากให้ทุกคนมาชื่นชม

รวมทั้งงานนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการได้รับฟังวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญสูงในแต่ละด้าน อยากให้ทุกคนได้มาร่วมสัมผัสประสบการณ์ที่น่าสนใจในงานสัมมนาที่จะเกิดขึ้นภายในงาน พร้อมกิจกรรมบนเวทีที่จะเกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาของการจัดงาน”

คุณธันว์  ศรีจันทร์ ประธานจัดงานสถาปนิก’68

“ความรัก ความรู้ และแรงบันดาลใจ คือ เป้าหมายที่ทําให้หน้าร้อนนี้จะเปลี่ยนทุกอย่างในประเทศนี้ ด้วยความพยามของนักออกแบบและผู้จัดงานทุกท่าน เป็นความตั้งใจเดียวที่จะทำให้หน้าร้อนนี้ หรือการเป็นเด็กในปีนี้ไม่เหมือนเดิม และมันจะเปลี่ยนทุกอย่างของเราให้ดีขึ้น คุณจะได้พบกับอาหารจานที่ชิมได้ง่ายขึ้น เข้าถึงคุณได้มากขึ้น ถึงขั้นพกติดกระเป๋า เป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งได้เลย แต่อาจจะยังไม่เฉลยว่าคืออะไร ด้วยความตั้งใจที่ลดความห่างของสถาปัตยกรรมกับผู้คนให้น้อยลงที่สุด อยากให้ลองมาสัมผัสด้วยตัวเอง”

 คุณอรรถสิทธิ์ ศรีมาเสริม กรรมการจัดงานสถาปนิก’68

“ในฐานะผู้รับผิดชอบในด้านการดีไซน์และก่อสร้างที่ทุ่มมาทั้งตัวและหัวใจประมาณ 6 เดือนเต็ม เมื่อเจออะไรที่ขัดหูขัดตาก็จะทักทันที เพราะฉะนั้น อยากให้ทุกคนเปิดใจยอมรับว่า จริง ๆ แล้วงานออกแบบ หรือสิ่งที่น้อง ๆ ลูก ๆ หลานๆ  อยากจะเรียน อยากจะเสพ ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าที่วัดเป็นมูลค่าไม่ได้ เพราะทุกรายละเอียดมีความหมาย เมื่อได้สัมผัสภายในงานก็จะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารออกไป

คุณภูริวัฒน์ ศรีประสาธน์ กรรมการจัดงานสถาปนิก’68

“เรามีความตั้งใจและพยายามให้การจัดงานสถาปนิก’68  มีความแตกต่างออกไปจากเดิม เพื่อให้คนทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่แค่สถาปนิกหรือนักออกแบบเท่านั้น อยากให้กระจายไปถึงประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา หรือเด็กเล็กก็เข้ามาดูได้ เพราะในงานนี้มีหุ่น ASA-Character Toy ขนาดสูง 4 เมตร จำนวน 3 ตัว ที่ออกแบบจากการนำสถาปัตยกรรมเอกลักษณ์ของไทยที่ผ่านการตีความใหม่ จากสถาปัตยกรรมไทยในรอบ 90 ปี ด้วยการดึงลายเส้น และดีเทลจากอาคารที่โดดเด่นในแต่ละยุคมาตัดทอน และผสมผสานกับวัฒนธรรม Pop Culture สมัยใหม่ บอกเล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสถาปัตยกรรมไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน พร้อมจินตนาการสู่อนาคต นอกจากนั้นในทุกรายละเอียดของงานยังเต็มไปด้วยดีไซน์ มีไอเดียที่ชวนติดตามได้อย่างสนุก ถ้ายังนึกไม่ออกว่าจะมางานนี้ทำไม หรือไม่ได้ชอบงานก่อสร้างเลย ก็มาถ่ายรูปกับหุ่น 3 ตัวนี้ก็ได้”

AUTHOR