หลังจากนายเอจอดรถสปอร์ตคันหรูริมฟุตบาท และมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่แถวนั้นเข้ามาตักเตือนว่า ไม่สามารถจอดได้ นายเอจึงได้พูดกับพวกเขาด้วยน้ำเสียงหงุดหงิดไปว่า “ผมลูกพ่ออ๊อด” ก่อนจะควงกุญแจออกไปจากจุดดังกล่าวทันที ทิ้งให้ชาวบ้านสับสนงุนงงว่า ‘พ่ออ๊อดนี่ใครวะ’ และเกี่ยวอะไรกับการจอดรถในจุดที่ห้ามจอด
พฤติกรรมดังกล่าวอาจฟังดูคุ้นๆ ว่าเคยเกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นการบอกกลายๆ ว่า ‘อย่าขัดใจฉัน’ เพราะฉันมีอำนาจที่ช่วยเปิดทางทุกการกระทำให้สะดวกโยธิน
เป็นการกล่าวอ้างถึงอำนาจในมือ (ที่จริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้) ที่สะท้อนผ่านนิสัย ‘เบ่ง’ ไปจนถึง ‘กร่าง’ มองผู้อื่นต่ำต้อยกว่า คิดว่าตนเองเหนือกว่า พาลทำให้คิดว่าจะทำอะไรก็ได้
ในทางจิตวิทยา พฤติกรรมแบบนี้ถูกเรียกว่า A superiority complex โดย อัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfred Adler) นักจิตวิทยาชาวเวียนนาผู้บัญญัติคำนี้ขึ้นในช่วงต้นปี ค.ศ. 1900 เขาอธิบายว่ามันคือปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา ที่บุคคลจะให้ความสำคัญต่อตนเอง ทักษะ หรือความสำเร็จที่เกินจริง ซึ่งเป็นพฤติกรรมและลักษณะนิสัยที่เกิดจากความเชื่อที่ว่า ความสามารถและความสำเร็จของตัวเองเหนือกว่าคนอื่นมาก
นิเกีย โลวเวอรี (Nickia Lowery) นักบำบัดมืออาชีพ กล่าวว่า A superiority complex เป็น ‘กลไก’ ป้องกันตัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับบุคคลนั้น เมื่อบุคคลหนึ่งทำตัวเหนือกว่าผู้อื่น นั่นหมายถึงพวกเขารู้สึกว่าผู้อื่นเป็นภัยคุกคาม และในแง่หนึ่ง พวกเขาเชื่อว่าผู้อื่นจะรู้ว่าตนเอง ‘ไม่ได้ดีพอจริงๆ’ จึงแสดงพฤติกรรมที่ทำให้ตนเองรู้สึกว่า ‘ดีกว่า’ คนอื่นๆ
ลักษณะนิสัยนี้ สามารถเริ่มพัฒนาได้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ถึง 12 ขวบ ซึ่งเป็นระยะพัฒนาการที่เด็กจะแสวงหาการยอมรับ และหากผู้ดูแลไม่สามารถจัดการความรู้สึกเหล่านี้ได้ดีพอ เด็กจะเติบโตพร้อมกับความรู้สึก ‘ด้อยกว่า’ ที่ติดอยู่ในใจ กล่าวอีกนัยหนึ่ง มันจะกลายเป็น ‘ปมด้อย’
เมื่อเป็นเช่นนั้น คนที่มีปมด้อยจึงอาจต้องชดเชยสิ่งที่ตนขาดหายไป หลายครั้งพวกเขาจึงทำเช่นนี้โดยแสดงพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น อาจกล่าวสรุปได้ว่า คนที่มีสุขภาพทางอารมณ์และจิตใจที่ดี จะไม่ทำพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่ทำร้ายผู้อื่น แต่ผู้ที่กระทำการในลักษณะดังกล่าว จึงรู้สึกเจ็บปวดทางอารมณ์
เชื่อว่ารอบตัวหลายคนน่าจะมีคนรู้จักที่มีพฤติกรรมทำนองนี้ แต่เอ๊ะ เราเองก็เป็นแบบนั้นหรือเปล่า งั้นลองมาเช็กดูว่าเราเข้าข่ายคำว่า A superiority complex ที่มี ‘บัตรเบ่ง’ ไหม
แสวงหาการยอมรับอยู่เสมอ
เมื่อใครสักคนมีพฤติกรรมแบบ A superiority complex ความรู้สึก ‘มีคุณค่า’ ในตัวเองจะมาจากปัจจัยภายนอก และพวกเขาจะรู้สึกดีพอหรือมีคุณค่าพอเมื่อคนอื่นมองว่าพวกเขาเป็นเช่นนั้น นักจิตวิทยาประสาทและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เคยบอกว่า คนเหล่านี้ ‘พูดเกินจริงเกี่ยวกับความสำเร็จและความคิดเห็นของตัวเอง เพราะพวกเขาไม่สามารถโน้มน้าวได้ว่า ตนเองคู่ควรหรือประสบความสำเร็จในชีวิตมากพอแล้ว’ ดังนั้น คนเหล่านี้จึงไม่เคยมีความสุขกับตัวเองจริงๆ ได้นานเกินไป

เป็นเรื่องยากที่จะยอมรับในสิ่งที่ทำผิดพลาด
คนที่มีพฤติกรรมแบบ A superiority complex มักจะมีปัญหาหรือปฏิเสธที่จะรับผิดชอบต่อพฤติกรรมแย่ๆ ของตนเอง เชื่อว่าตนเองถูกต้องเสมอ และไม่เต็มใจจะรับฟังความคิดเห็นที่ขัดแย้งจากผู้อื่น หรือถึงขั้น ‘โวยวาย’ เมื่อมีใครมาแย้งพวกเขา เพราะเมื่อพวกเขา ‘ไม่สบายใจ’ กับตัวตนที่แท้จริง ก็มักจะซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังตัวตนสมบูรณ์แบบในแบบที่คิดว่าคนอื่นจะชอบ และการยอมรับผิดในสิ่งที่ทำพลาด หมายถึงการยอมรับว่าตนเองไม่ได้สมบูรณ์แบบ

เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นบ่อย
เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แต่คนที่มีลักษณะ A superiority complex มักจะทำเช่นนั้นอยู่ตลอดเวลา เพราะความรู้สึกมีค่าในตัวเองนั้น ขึ้นอยู่กับสิ่งที่พวกเขาคิดว่าคนอื่นกำลัง ‘ทำ’ อยู่ และเมื่อคนอื่นทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเอง ‘ขาดตกบกพร่อง’ บางอย่าง พวกเขาจึงแสร้งทำเป็นเหนือกว่าคนอื่น เพื่อปกปิดความรู้สึกไม่มั่นคงและความรู้สึกด้อยกว่า

มีแนวโน้มที่จะมีอารมณ์แปรปรวน
คนที่มีพฤติกรรม A superiority complex จะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเขาอาจจะเป็นปกติกับคนหนึ่ง แต่อาจไม่ใช่กับอีกคนหนึ่ง นั่นเพราะพวกเขามีความคิดที่ชอบเอาชนะคนอื่นอยู่เสมอ ปฏิสัมพันธ์ของคนประเภทนี้มักจะวนเวียนอยู่กับการพยายามพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าตนเหนือกว่า ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงมีอารมณ์แปรปรวน หากรู้สึกถูกคุกคามจากใครบางคน ก็อาจเปลี่ยนจากความรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่ากลายเป็นความเชื่อมั่นว่าตนเองเหนือกว่าแบบผิดๆ

รู้สึกว่าตนมีสิทธิ์
ในบางแง่มุม A superiority complex อาจเป็นพฤติกรรมในการบอกว่าตนเองมี ‘สิทธิ์’ เหนือกว่าคนอื่น เพราะบุคคลประเภทนี้เชื่อว่าคนอื่นด้อยกว่าตน ซึ่งหลายครั้งความคิดทำนองนี้มีต้นตอมาจากการถูก ‘สปอยล์’ ในวัยเด็ก พวกเขาได้เรียนรู้ตั้งแต่เด็กว่าสามารถ ‘ปฎิบัติต่อบุคคลใดๆ’ ก็ได้ตามที่ต้องการ และจะได้รับในสิ่งที่ต้องการ

ชอบให้สิ่งต่างๆ อยู่ภายใต้การควบคุม
ลองสังเกตว่า หากมีโอกาสอยู่ใกล้คนที่มีพฤติกรรมแบบ A superiority complex และไม่ทำตามที่คนเหล่านี้คาดหวัง พวกเขาอาจใจร้ายกับเรา นั่นเป็นเพราะพวกเขาชอบความรู้สึกที่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ เมื่อใครสักคนไม่ทำในสิ่งที่ต้องการ จึงรู้สึกหงุดหงิด นอกจากนี้ คนเหล่านี้มักไม่สามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมักมุ่งหวังตำแหน่ง ‘ผู้นำ’ ในการทำงาน เนื่องจากจะช่วยให้ได้รับการยอมรับมากกว่า…ฟังดูคุ้นๆ ไหม

ไม่พอใจหากไม่ได้รับคำติชมเชิงบวก
คนที่มีพฤติกรรม A superiority complex มักไม่ชอบคำวิจารณ์ ถ้าพูดให้ตรงไปตรงมา คือพวกเขาไม่ต้องการได้ยินอะไรนอกจากคำติชมเชิงบวก แม้กระทั่งมุมมองที่เป็นกลางก็อาจทำให้คนเหล่านี้มองว่าเป็นการถูกวิจารณ์ด้วยซ้ำ บ่อยครั้งที่ความรู้สึกเช่นนี้มาจากการไม่ได้ถูกยอมรับจากพ่อแม่ในฐานะคนคนหนึ่ง แต่กลับได้รับคำชื่นชมก็ต่อเมื่อพวกเขา ‘ดีกว่าคนอื่น’ หรือ ‘ดีที่สุด’ สิ่งเหล่านี้จึงแสดงออกมาโดยไม่รู้ตัวเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

อย่างไรก็ตาม การมีพฤติกรรมแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าคนคนหนึ่งจะเป็นคนเลวเสมอไป เพราะมันมักเกิดจากความเจ็บปวดทางอารมณ์ที่มีที่มาที่ไปเสมอ การเอาชนะความรู้สึกเหล่านี้ได้ จึงจำเป็นต้องเต็มใจที่จะไตร่ตรองและเปลี่ยนแปลงจาก ‘ภายใน’ ไม่ใช่เอาไประบายกับสิ่ง ‘ภายนอก’
คนนะ ไม่ใช่ปู ไม่ต้องวางก้ามขนาดนั้นก็ได้