ตามไปดูเทศกาลศิลปะที่จัดโดยกลุ่มคนไทยรุ่นใหม่ในนิวยอร์ก

บรรยากาศการปิดถนนจัดงาน
มีบูทกิจกรรมวาดรูปพอร์เทรตโดยศิลปิน เด็กๆ ออกมาร่วมละเลงสีบนผืนผ้าใบยักษ์ บรรยากาศฉาบด้วยบทเพลงผสมผสานทั้งเพลงพระราชนิพนธ์ในกลิ่นแจ๊ซ ไปจนถึงเพลง สรรเสริญพระบารมี แนวทดลอง
หญ้าเทียมวางแผ่หราให้คนได้นั่งเล่นและชมงานศิลปะ ทั้งหมดนี้อาจฟังดูไม่แปลกแตกต่างไปจากภาพจำของงานเทศกาลศิลปะย่อมๆ
หรืองานวัดในไทยเท่าไรนัก หากทั้งหมดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองนิวยอร์ก
สหรัฐอเมริกา

ไม่ว่าสิ่งนี้จะอยู่ที่ไหน
ไม่ว่าโปรเจกต์นี้จะเป็นของใคร ถ้าหากเรารู้ เราจะตามไปดู

ทำอะไร: SPRINGBOARD :
Art Walk First Time

SPRINGBOARD
คือกิจกรรมถนนคนเดินศิลปะของคนไทยครั้งแรกในนิวยอร์ก เชิญชวนศิลปินและนักสร้างสรรค์ชาวไทยที่อาศัยอยู่ในนิวยอร์กมาร่วมกันจัดงาน
พบปะคนในชุมชนหลากหลายเชื้อชาติย่าน Elmhurst บนท้องถนนในวันที่
16 เมษายน 2559 ทั้งแต่เที่ยงถึงเย็น
เป็นทั้งงานที่ตรงกับเทศกาลสงกรานต์ในไทยและยังเป็นช่วงที่เมืองนิวยอร์กเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
หรือ Spring จึงเป็นโอกาสที่เหมาะเจาะสำหรับจัดงานศิลปะขนาดย่อมโดยกลุ่มคนไทยรุ่นใหม่เป็นครั้งแรก

กิจกรรมในงานแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือเวิร์กช็อปศิลปะร่วมกับชุมชน
นิทรรศการ และการแสดงบนเวที โดยศิลปินสิบกว่าชีวิตที่เข้ามาร่วมจัดกิจกรรมกันมีทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า
บ้างก็อยู่ที่นี่มานานเป็นสิบปี บ้างก็เพิ่งย้ายมาใช้ชีวิตที่นี่ได้ไม่กี่เดือน
อย่างเช่นในส่วนเวิร์กช็อป ป๊อก-ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ผู้พกม้วนภาพสีน้ำมันไปเดินวาดคนไร้บ้านในนิวยอร์กมายาวนานต่อเนื่องถึง
3 ปี ก็มาชวนคนในชุมชนวาดภาพในม้วนภาพของเขา หรือ SUNTUR ที่เพิ่งย้ายมานิวยอร์กได้ไม่กี่เดือน ก็มาร่วมวาดภาพพอร์เทรตให้คนที่มาในงานด้วย

ตัวอย่างของฝั่งนิทรรศการก็มีงานของสาวนักวาดภาพประกอบที่ย้ายมาอยู่นิวยอร์กได้ร่วมปีแล้วอย่าง Jay’s Paper ผลงานจากกลุ่มของ Thai Artivist ที่ส่งข้ามน้ำข้ามทะเลมาร่วมแสดงในงาน
ส่วนการแสดงบนเวทีก็มีทั้งลุงฝรั่งสุดกวนจากคลิปไวรัลอย่าง Nelson Howe มาร่วมเต้น
หรือกระทั่งดนตรีแนวทดลองของ กอล์ฟ วง GAD ที่มากับเพื่อนอีก 2 คนในนามของวง WX ก็มาคัฟเวอร์เพลง สรรเสริญพระบารมี เป็นเพลงปิดงานได้อย่างน่าสนใจ

ใครทำ: TANY Thai Artists in New York

TANY คือกลุ่มศิลปินไทยรุ่นใหม่ที่อาศัยอยู่ในเมืองนิวยอร์ก
ซึ่งมารวมตัวกันเพื่อสร้างชุมชนคนทำงานสร้างสรรค์สำหรับคนไทยที่เดินทางมาหาโอกาสและแรงบันดาลใจใหม่ๆ
ในเมืองนี้ ในกลุ่มประกอบด้วยคนจากหลากหลายสาขางาน เช่น จิตรกรรม สื่ออินเตอร์แอ็กทีฟ
ฟิล์ม ดนตรี และอีกมากมาย โดยหวังจะสร้างพื้นที่รวมคนทำงานสร้างสรรค์ที่มีรากจากประเทศไทยเหมือนกัน
แต่เปิดกว้างออกไปจากกำแพงวัฒนธรรมไทยแบบเดิมๆ
โดยมีศิลปะเป็นตัวกลางที่เชื่อมต่อทุกคนเข้าด้วยกัน

ที่ไหน: ใจกลางชุมชนคนไทยในนิวยอร์กใน Elmhurst,
Queens

เทพีเสรีภาพ ตึกเอ็มไพร์สเตท แยกไทม์สแควร์ เซ็นทรัลปาร์ก
สถานที่เหล่านี้คงเป็นภาพแรกๆ ที่ลอยเข้ามาในหัวถ้าหากพูดถึงเมืองนิวยอร์ก แต่ย่าน
Elmhurst ใน Queens หลายคนที่ไม่เคยมานิวยอร์กคงส่ายหัวว่าสถานที่ที่ต้องนั่งรถไฟไกลออกไปจากใจกลางเกาะแมนฮันตันนี้มันจะมีอะไรน่าสนใจยังไง

สำหรับคนไทยที่อาศัยอยู่ในนิวยอร์กแล้ว
ย่านนี้เป็นเหมือนแหล่งพักใจที่มีทั้งรสชาติอาหารไทยแบบแท้ ไม่มีดัดแปลงเผื่อฝรั่งกิน รวมถึงร้านขายของไทยที่หาที่อื่นแทบไม่ได้
จริงอยู่ว่าย่านนี้อาจจะไม่ได้มีแต่คนไทย เดินๆ ไปก็เจอร้านรวงหลากชาติ ทั้งจีนบ้าง
เกาหลีบ้าง ปะปนกันไป แต่ก็เป็นย่านที่ถ้าเดินไปบนถนนตอนเย็นๆ
ยังไงก็ต้องได้ยินภาษาไทยลอยมาจากผู้คนที่เดินวนไปมาบนถนนเป็นแน่

ทำทำไม: สร้างชุมชนคนทำงานสร้างสรรค์ในนิวยอร์ก

อย่างที่ท่อนหนึ่งในเพลง New York, New
York
ของ Frank Sinatra กล่าวไว้ว่า “If
I can make it there, I’ll make it anywhere”
เมืองหลวงของโลกศิลปะอย่างนิวยอร์กจึงเป็นหนึ่งในปลายทางในการแสวงหาเส้นทางใหม่ให้กับชีวิตและผลงานของคนทำงานสร้างสรรค์
แต่ที่นี่กลับไม่ค่อยมีพื้นที่สำหรับคนไทยที่สนใจศิลปะเหมือนกันให้ได้มาเจอกันเท่าไรนัก
เพราะอะไร เราลองไปนั่งจับเข่าคุยกับ นริศรา ธนปรีชากุล หนึ่งในทีมงานหลักของ TANY

“ชุมชนคนไทยในนิวยอร์ก (TANY) เป็นพื้นที่ที่เวลาคนไทยมาเจอกันแล้วต่างจากการเจอกันในเมืองไทยมาก
เพราะบางคนที่เราเจออาจไม่มีทางได้เจอได้คุยเลยถ้าอยู่เมืองไทย ไม่ว่าจะเพราะความดัง
ฐานะ หรือสถาบันอะไรที่ต่างกันที่นั่น พอมาที่นี่แล้วเหมือนรีเซ็ตหมดเลย เริ่มต้นใหม่หมด ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากส่วนไหนของเมืองไทย
พอมาที่นี่ยังไงคุณก็ไม่ใช่คนอเมริกัน สำหรับคนอเมริกัน ขนาดของประเทศไทยก็เหมือนแค่รัฐหนึ่งของเขา
จะมาจากส่วนไหนของรัฐ เขาก็ไม่ลึกซึ้งไปกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ หรอก”

“เราอยากให้ TANY เป็นพื้นที่ที่แตกความหมายศิลปะของคนไทยออกไปในพื้นที่ใหม่ๆ
มุมใหม่ๆ กว่ารูปแบบดั้งเดิมที่คนที่นี่เขาคิดกัน ให้เขาได้รู้ว่าคนไทยรุ่นใหม่ทำงานออกมาเป็นแบบนี้
มีความหลากหลาย สดใหม่กว่าภาพที่เขามีในใจ และอีกด้านหนึ่งก็อยากให้ประสบการณ์การมาค้นหาเส้นทางในเมืองนิวยอร์กมันไม่ได้มีแค่การมาดูว่าคนที่นี่เขาทำงานกันยังไงแล้วลอกกลับไปแค่นั้น
แต่เป็นการสร้างบทสนทนาระหว่างคนทำงานสร้างสรรค์ด้วยกันเองด้วย เพื่อพัฒนาน้ำเสียงใหม่ๆ
ให้วงการศิลปะไทยต่อไป”

แนะนำให้ตามไปดู

ถึงงานเทศกาลครั้งนี้จะจัดขึ้นมาเป็นครั้งแรกและยังไม่แน่ว่าจะมีอีกทีเมื่อไร
แต่หากมีโอกาสได้ผ่านมาในย่าน Elmhurst ก็แวะมาเยี่ยมเยียนชมนิทรรศการที่ทางกลุ่ม
TANY จัดเป็นประจำทุกเดือนได้ที่ร้านน้ำตาล และรอฟังข่าวของกิจกรรมต่อๆ
ไปทางเฟซบุ๊กเพจ TANY Thai Artists in New York และเข้ามาจอยเฟซบุ๊กกลุ่ม Thai Artists in New York เพื่อพูดคุยเรื่องศิลปะกันได้อย่างไม่จำกัด
ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนบนโลก รวมไปถึงเว็บไซต์หลักของกลุ่มอย่าง tany.nyc

ภาพ จิตตรัตน์ จินตศิริกุล

AUTHOR