‘ไม่ต้องสุขให้ไวอย่างใครเขา’ รู้จักเทรนด์ ‘Low Dopamine’ ของเจน Z เมื่อสมองมันรกเกินไปจึงต้องหาทางรีเซ็ต

ในยุคสมัยที่สิ่งต่างๆ ช่างล่อตาล่อใจ ไม่ว่าในโซเชียลและสิ่งรอบข้าง มันจึงง่ายเหลือเกินที่บางครั้งเราจะถูก ‘จูงใจ’ ให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับอะไรบางอย่างที่เย้ายวนใจ และกระตุ้นให้รู้สึกถึง ‘ความสุข’ หรือ ‘อารมณ์’ จากผลพลอยได้ของสิ่งนั้น 

ที่สำคัญ คือเราแทบไม่ต้องรอสิ่งที่จะได้รับมาเลย ไม่ว่าจะเป็นยอดไลก์ การเสพข่าว การเสพคอนเทนต์ การแชต ไปจนถึงเรื่องของการใช้ชีวิต เช่น การทำงาน หรือแม้กระทั่งการกิน ที่ดูเหมือนว่าทุกสิ่งจะถูกกดเร่งให้ไปไวกว่าปกติ

แม้มันจะเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์แห่งยุคสมัย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือสิ่งกระตุ้นที่บางครั้งก็ดูเหมือนเกินความจำเป็น นอกจากจะเป็นสาเหตุให้เกิดความเครียด การเปรียบเทียบ สมาธิสั้น การได้ ‘รับ’ สิ่งกระตุ้นบ่อยเกินไป ก็ทำให้สมอง ‘ดื้อ’ ต้องการสิ่งกระตุ้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ชีวิตดูน่าเบื่อ หรือหมดแรงจูงใจกับสิ่งที่ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ในเมื่อทุกวันนี้กระแสรักสุขภาพได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ บวกกับความเหนื่อยหน่ายทางความรู้สึก โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z จึงเกิดเป็นเทรนด์สุขภาพจิตที่ชื่อ ‘Low Dopamine’ ขึ้น

อธิบายง่ายๆ โดพามีน คือสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจ ความสุข และรางวัล เมื่อเราทำสิ่งที่ทำให้รู้สึกดี เช่น ได้ยอดไลก์เยอะๆ ได้กินของหวาน หรือชนะเกม ระบบโดพามีนจะทำงาน แต่เมื่อไลฟ์สไตล์ทำให้สิ่งเหล่านี้ถูกกระตุ้นง่ายขึ้น มันจึงทำให้สมองเกิดความ ‘ด้านชา’ ขึ้น

แนวคิดของเทรนด์ Low Dopamine ไม่ใช่การกำจัดโดพามีน แต่คล้ายกับ ‘Minimalism’, ‘Digital Detox’ หรือ ‘Slow Living’ ที่มองว่าการอยู่กับสิ่งเรียบง่ายจะช่วยให้รู้สึกสงบและชัดเจน เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่มีความต้องการ ‘ควบคุม’ ชีวิตตนเองมากขึ้น

หากเราเป็นคนหนึ่งที่กำลังเหนื่อยหน่ายกับการเสพติด ‘ความสุขที่ง่ายและรวดเร็ว’ แบบยุคสมัยนี้และกำลังมองหาเส้นทางใหม่ๆ เพื่อ ‘รีเซ็ต’ ระบบคิดของสมองให้กลับมาเพลิดเพลินกับสิ่งธรรมดาเล็กๆ อีกครั้ง เทรนด์นี้อาจเหมาะก็ได้

แล้วคำแนะนำเพื่อเข้าสู่กิจกรรมของ Low Dopamine คืออะไร?

เคลื่อนไหวช้าลงแต่คงสติไว้

ชีวิตประจำวันของคนทุกวันนี้ส่วนใหญ่มักตกอยู่ในโหมดความเครียดและถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าต่างๆ มากเกินไป จนหลายคนไม่ทันสังเกตว่าตนเองกลายเป็นคน ‘ไร้สติ’ ในการโฟกัสสิ่งต่างๆ ไปเรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้ว ดังนั้นการปรับมาเคลื่อนไหวแบบช้าๆ และมีโฟกัส จะช่วยให้เราได้กลับมา ‘เชื่อมต่อ’ กับร่างกาย ช่วยลดความเครียด เช่น การเดินแบบไม่มีสิ่งรบกวน ยืดเส้นยืดสาย หรือฝึกการหายใจ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเคลียร์สมอง ลดการเสพติดสิ่งกระตุ้นจากภายนอก แถมยังทำให้รู้สึก ‘สำเร็จ’ เล็กๆ ทำให้เพิ่มสารโดพามีนตามธรรมชาติได้

เพิ่มกิจกรรมสร้างสรรค์

เราต่างรู้ว่าการคิดอย่างสร้างสรรค์นั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะถือเป็นการฝึกสมอง แต่หลายครั้งที่ชีวิตในปัจจุบันบอกว่าการทำงานความคิดสร้างสรรค์จำเป็นต้องคาดหวังรางวัลบางอย่าง เช่น ยอดไลก์ แต่กับเทรนด์ Low Dopamine บอกว่าการทำกิจกรรมสร้างสรรค์โดยไม่ ‘คาดหวัง’ อะไร จะช่วยให้เราเชื่อมต่อกับตัวเองได้ลึกขึ้น และรู้สึกพอใจกับสิ่งเรียบง่าย เพราะจะกระตุ้นสมองส่วนที่คิดลึกและสงบ ทำให้เราเข้าสู่สภาวะ ‘โฟลว์’ ทางความคิด และเปิดพื้นที่ให้ความคิดในใจออกมาได้อย่างปลอดภัย ไร้การตัดสิน

มองหากิจกรรมแบบแอนะล็อกบ้าง

โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยกิจกรรมแบบ ‘ดิจิทัล’ ที่รวดเร็วและทำให้เราเข้าสู่ ‘โลกเสมือนจริง’ ได้ง่าย การลองมองหากิจกรรมที่เป็นแบบ ‘แอนะล็อก’ บ้าง จะช่วยให้เรากลับมาจดจ่อกับโลกแห่งความเป็นจริง ได้สัมผัสสิ่งรอบตัว และช่วยฟื้นสมาธิที่สั้นลงจากการใช้เทคโนโลยีได้ เช่น การอ่านหนังสือเล่ม ทำอาหาร หรือลองทำอะไรสนุกๆ อย่างการเขียนจดหมายถึงใครสักคน นอกจากจะทำให้ได้ห่างจากความเป็นดิจิทัลแล้ว เรายังได้ ‘สัมผัส’ ความเป็นจริงผ่านสายตาและมือ ไม่มีการเร่งเร้าเหมือนเทคโนโลยี และทำให้ได้ ‘ระลึก’ ถึงความทรงจำหรือช่วงเวลาที่มีความหมายในชีวิตที่เราอาจหลงลืมไปก็ได้

ปิดโลกดิจิทัล

หลายครั้งโลกดิจิทัลทำให้เราเหนื่อยเกินจำเป็น หลายคนจึงเลือกหนทางของการ ‘ดีท็อกซ์’ ตนเองจากเทคโนโลยี เพราะการที่เราได้ ‘ปิดเสียงโลกดิจิทัล’ แม้เพียงชั่วคราวก็สามารถช่วยให้สมองและหัวใจมีพื้นที่ว่างเพิ่มขึ้น เพื่อฟื้นฟูความสงบ ความคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มแรงบันดาลใจได้ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย เพลง หรือพอดแคสต์ที่เราชอบก็ตาม การปล่อยให้ตัวเองอยู่กับสิ่งรอบตัวที่แท้จริง โดยไม่ต้องหาความบันเทิงจากภายนอกจะทำให้ได้ฟัง ‘เสียงภายใน’ ที่เรามักมองข้ามและอาจทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วเราต้องการสิ่งใดกันแน่

เชื่อมต่อกับธรรมชาติ

แน่นอนว่าธรรมชาติเป็นยาที่ดีที่สุดต่อสมอง และระบบโดพามีนจะตอบสนองต่อความสงบของธรรมชาติได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด การพาตัวเองเชื่อมต่อกับธรรมชาติบ้างจึงเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการเดินเงียบๆ ในสวน ฟังเสียงใบไม้ เสียงนกร้อง นั่งรับแดดอุ่นยามเช้า ลองสัมผัสใบไม้ หิน เปลือกไม้ ทราย หรือแม้กระทั่งมองท้องฟ้า จะทำให้เรารู้สึก ‘ตัวเล็กลง’ สิ่งนี้จะช่วยลดฮอร์โมนความเครียด และช่วยให้เชื่อมโยงกับชีวิตจริง ไม่ใช่โลกเสมือน

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าสุดท้ายเราก็ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งความเร่งด่วนอยู่ดี แต่การไม่ปล่อยให้ชีวิตต้องคอยวิ่งอยู่ในลู่วิ่งแห่งยุคสมัยของการไขว่คว้าตลอดเวลา และลองหาเวลาลงมาหยุดพักอยู่ช้าๆ บ้าง ก็เป็นการช่วยรีเซ็ตสมองให้ไม่เหนื่อยเกินไป ก่อนจะกลับขึ้นไปบนลู่ต่อ

เพราะสุดท้ายแล้ว ‘ไม่ต้องสุขให้ไวอย่างใครเขา แต่สุขเอาเท่าที่เราจะพอไหว’ ก็พอแล้ว

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Banana blah blah

Banana blah blah กล้วยค่ะ เป็นนักวาดภาพประกอบอิสระบางวันจับเม้าส์ปากกา บางวันจับลูกกลิ้งทำภาพพิมพ์ลิโนคัท เชื่อว่าศิลปะจะเป็นประตูเพื่อนำพาทั้งผู้วาดและผู้ชมให้เข้าใจตนเอง