ห้องสี่เหลี่ยมเล็กผนังทาสีขาวคลีน ชั้นวางของ เก้าอี้ หน้าต่างล้วนทำจากไม้อ่อน ความสว่างภายในที่ไม่ต้องพึ่งหลอดนีออน เพราะแสงอาทิตย์ยามบ่ายที่ส่องเข้ามา และผู้หญิงผมสั้นมัดจุกคนหนึ่งที่เราคงทายอายุไม่ถูกหากเธอไม่บอก
ดวงตาใต้แว่นกลมลายเสือที่ยิ้มทีกลายเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว ทำเอาห้องที่ไม่มีชีวิตดูจะหายใจได้ขึ้นมา ฟังแล้วจะว่าเวอร์ไปหน่อย แต่เราเชื่อว่าถ้าคุณได้เจอเธอ และยิ่งได้พูดคุยด้วย จ๋าจะอยู่ในความทรงจำที่นึกถึงเมื่อไหร่ ภาพดอกทานตะวันกำลังเบ่งบานจะลอยขึ้นมา ไม่ต่างจากยูสเซอร์เนม ‘sunflower.jah’ บนอินสตาแกรมของเธอ

‘จ๋า-จารุวรรณ คงบรรทัด’ เจ้าของ ‘Kaori Craftroom’ ได้สวมสายสะพายคนน่ารักแบบเนิร์ดๆ ประจำปี 2025 สำหรับเราไปเรียบร้อยแล้ว
ร้าน ‘Kaori’ มาจากคันจิตัวหนึ่งในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า ‘กลิ่น’ เพราะเธออยากตั้งชื่อที่แห่งนี้ให้รีเลทกับตัวเอง ไม่แปลกเลยหากจะเป็นแบบนั้น ด้วยเดรสคอเต่าสีดำดูเรียบง่าย และแววตาที่เปล่งประกายทุกครั้งเมื่อได้ย้อนความหลังถึงประเทศนี้ ชัดแจ๋วเลยว่าเธอตกหลุมรักความเป็นญี่ปุ่นเข้าอย่างจัง และไม่ได้ละทิ้งความเป็นแม่มดแต่อย่างใด จากการประดับตัวเองด้วยเครื่องรางหินสีรอบคอ และข้อมือ
‘ถ้าหากฉันมีเวทมนตร์เป็นแม่มดมีฤทธิ์เหมือนในนิยาย จะเสกเธอให้สนใจ’ เพลงของแสงระวี จากอัลบั้มแมงมุมขยุ้มหัวใจ (พ.ศ.2534) ดังขึ้น ถึงจะดูโคตรเก่าแต่ถ้าเปิดฟังแล้วมันยังเพราะ ก็นับว่าใหม่แหละ
จากประวัติของจ๋า เธอคือเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่ขีดเส้นทางให้ตัวเอง ทั้งเดินเท้าตามมันอย่างมุ่งมั่น ใบปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ สาขา Food Science and Technology จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใบหนึ่ง และใบปริญญาโท Food Science จากมหาวิทยาลัยคากาวะ ประเทศญี่ปุ่นใบหนึ่ง ในสถานะของคนเรียนด้านนี้ สายอาชีพก็เป็นไปได้หลากหลาย ทั้งอยู่ในองค์การอนามัย ทำงานด้านอาหาร การแต่งกลิ่น และจ๋าเลือกอย่างสุดท้าย ‘กลิ่นและรสของจิน (Gin)’

แต่แล้วทำไมถึงเลือกจิน
“มียุคที่เรากินเหล้าฮึบๆ เฮ้วๆ ไปเรื่อย จนได้เริ่มรู้จักกับคราฟต์เบียร์ แล้วก็สงสัยว่ามันคืออะไร ทำไมมันอร่อยกว่าที่เคยกิน เราศึกษาไปเรื่อยๆ ค่อยๆ รู้จักกับไวน์ ต่อด้วยสาเก และจิน เฮ้ย! มันมีมิติ ของกลิ่น และรสผ่านแอลกอฮอล์ไปเรื่อยๆ จนถึงช่วงที่กินเหล้าน้อยลงตามอายุอานาม แต่ยังชอบบางสิ่งในมันก็คือกลิ่น อาจจะไม่ได้เอนจอยเท่าตอนเด็ก แต่ยังเอนจอยกับการดมกลิ่นนะ”
เหล้าไทยกับเหล้าญี่ปุ่นต่างกันยังไง
“เวลาเราพูดที่ไทยว่าไปกินเหล้าขาวกันเว้ย! อารมณ์แบบเลิกงาน นึกถึงนี่กลิ่นลอยมาเลย แต่พอพูดว่าเฮ้ย! ไปกินสาเกกัน ภาพมันไม่เหมือนกัน ทั้งที่เป็นหลักเดียวกัน เพราะการปลูกฝังในเรื่องการดื่มไม่เหมือนกันตั้งแต่แรก การชูวัตถุดิบสำคัญของแต่ละประเทศก็ด้วย ถ้าพูดถึงเรื่องรสชาติยิ่งไม่เหมือนกันเข้าไปใหญ่ ทั้งในเชิงของวัฒนธรรมและการผลิต”
คนฟังพยักหน้ารับว่ามันโคตรจะเซอร์เรียลเลย วงเหล้าที่เติบโตมาไม่ใช่การดื่มด่ำว่าเหล้าแบรนด์นี้อร่อยเพราะอะไร ไม่เคยพลิกอ่านส่วนผสมด้านหลัง แค่เพื่อนชวนก็พร้อมแต่งตัวโฉบเฉี่ยว เตรียมสะกดสมองว่าคืนนี้ต้องมึนทันที แต่เพราะความเป็น ‘จ๋า’ เธอถึงไม่ได้หยุดอยู่แค่วังวนเมามาย
จ๋าเปิดประสบการณ์ตัวเองในดินแดนซากุระด้วยการทำงานเป็นนักกลั่นจิน หรือ Gin Distiller อยู่ระยะหนึ่ง กระทั่งปีก่อนเพิ่งตัดสินใจตีตั๋วกลับไทย แม้ว่ามันจะเป็นถึง Plan C ของเธอก็ตาม ก่อนหน้านี้จ๋าตั้งใจจะอยู่ญี่ปุ่นต่ออย่างน้อยก็สัก 10 ปี ถึงค่อยบินไปอังกฤษที่เป็นต้นกำเนิดจิน เพราะอยากต่อยอดแพสชันนี้ไปให้ถึงที่สุด หรือเรียนปริญญาเอกเพื่อเป็นอาจารย์ แต่เธอก็เอ๊ะกับตัวเอง ว่าฉันไม่ได้ชอบสอนขนาดนั้น จนลากจุดมาถึง Plan C ช่างแม่ง! ทำในสิ่งที่มีความสุขไปเลยดีกว่า ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม แค่ว่าคงน่าเสียดายไปหน่อย อุตส่าห์ไปเอาความรู้มาจากต่างถิ่น หากมีโอกาสก็น่าบอกต่อ และ Kaori Craftroom จึงถือกำเนิดขึ้น

ภาพ Kaori Craftroom ในหัวทีแรกเป็นยังไง
“หลักๆ คือเป็นจินก่อน เราตั้งใจเปิดเวิร์กชอปเกี่ยวกับ Mindful ให้ความรู้ แต่พอมันอยู่ในความเป็นจริง กฎหมายในวันนี้ก็ยังทำยาก ผลิตยาก เลยเริ่มจากสอนทำจินขยับไปน้ำมันหอมระเหย โดยที่มันไปตามธรรมชาติ แต่ไม่ได้อยู่ในหัวเราตั้งแต่แรก”
เครื่องทองเหลืองที่ข้างหนึ่งเป็นทรงน้ำเต้าพาดด้วยเข็มนาฬิกาชั่งตวง ข้างหนึ่งทรงแก้วน้ำ ทั้งสองเชื่อมต่อกันด้วยน็อตและท่อยาว มันคือ ‘เครื่องกลั่นจิน’ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ในห้องนี้ ขวดแอลกอฮอล์สีใสคล้ายกันไปหมดวางบนชั้น เราสะดุดตาเข้ากับขวดแปะป้ายกระดาษชื่อ ‘อัศจรรย์-อัศจิน’ อืม จ๋าน่าจะคลั่งไคล้ในแอลกอฮอล์มากจริงๆ
ก่อนหน้านี้เรียกว่าเป็น Alcoholic เลยไหม
“Alcoholism เลยค่ะ (หัวเราะ) ตอนแรกนึกว่าเราชอบกินเหล้า แต่พอมีโอกาสไปอยู่ญี่ปุ่นก็เออ เราแค่เป็นเอ็กซ์โทรเวิร์ตจัดๆ นี่นา เสพติดสังคมมากกว่า เหมือนเหล้าเป็นแค่ตัวกลาง แต่พอกลับมาอยู่ไทย เราเจอความสุขแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวกลางนั้นเหมือนเดิม เปลี่ยนจากเหล้าเป็นชา เป็นแฮนด์แพนก็ได้ จนคิดว่าถ้าไม่ได้อยู่ในหมวดแอลกอฮอล์แล้ว มันยังมีอะไรอีกบ้าง นำพาเรามารู้จักกับ Essential oil หรือว่าน้ำมันหอมระเหย เพิ่งรู้เลยว่าสิ่งที่ได้กิน ได้ดม ทุกอย่างสามารถสกัดจากธรรมชาติได้ทั้งหมด
“ที่ญี่ปุ่นเขาจะชอบมีตลาด หรือกิจกรรมน่ารักๆ เราก็ไปทำนู่นทำนี่ จนได้มีโอกาสรู้จักกับเจ้าของโรงงานกลั่นน้ำมันหอมระเหย เพราะว่าจริงๆ แล้ว การกลั่นจินกับน้ำมันหอมระเหยมันใช้เครื่องเดียวกัน หลักการเดียวกัน เราก็เอามาอะแดปต์กัน เริ่มรู้ว่ามันไม่ใช่แค่หอมนะ มีหลายเกรดแล้วบำบัดได้ด้วย เอาไปใส่อาหาร ทำเป็น Diffuser ได้ ตอนนั้นถึงรู้จักกับกลิ่น รสเพิ่มขึ้นในพาร์ตที่มันไม่ใช่แอลกอฮอล์”

สิ่งแรกที่เริ่มทำหลังจากเปิด Kaori Craftroom คืออะไร
“เบลนด์สมุนไพรก่อน เพราะเริ่มคอนเนกต์ในหัวได้ว่าจินคือเหล้าสมุนไพร ชากับจินมีวิธีเบลนด์ต่างกัน เราเอาสองอันนี้มารวมกัน เบลนด์ชาเหมือนจิน แล้วก็เบลนด์จินเหมือนชา สมมติเบลนด์สมุนไพรเสร็จแล้วไปใส่แอลกอฮอล์ มันจะกลายเป็นจิน ถ้าเอาชาไปใส่สมุนไพรก็จะกลายเป็นชา”
เพราะสิ่งที่จ๋าได้ค้นพบคือบทบาทของผู้หลงใหลในกลิ่นและรส ทำให้ในห้องไม่ได้มีแต่เครื่องกลั่นจินเท่านั้น สมุนไพร ดอกไม้แห้งในโหลแก้วโปร่ง ขวดน้ำมันหอมระเหย และชา! ทั้งหมดมีจำนวนไม่น้อยไปกว่าจินเลย เธอเลือกที่จะดึงความชอบของตัวเองมาผสมเป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้ผู้ที่มาเยือน Kaori Craftroom มีตัวเลือกมากขึ้นตามไปด้วย
แรกๆ อาจดูทุลักทุเลอยู่บ้างกับการต้องทำให้คนเข้าใจว่าที่นี่คืออะไร ดูเป็นศาสตร์ใหม่เหลือเกิน อาจจะต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจหน่อย เธอพยักหน้ารับว่ามีปัญหากับการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย เดิมทีลงแต่รูปโทนสีมืด ใช้คำยากอธิบาย ด้วยชอบเสพสื่อยุโรปแนวแม่มด อย่างคำว่า Apothecary Herbalism (คนปรุงยาสมุนไพร) ถ้าเธอพูดขึ้นมามีอันต้องรีบถามอากู๋เป็นแน่
“เราพยายามปรับตัวด้วยการทำให้มันเข้าใจง่ายมากขึ้น เปลี่ยนเป็น Essential Oil ไม่ก็มาทำสเปรย์ธรรมชาติกันเถอะ หรือคอร์สชื่อ Gin Testing สอนเรื่องวงล้อกลิ่นรส (Flavor Wheel) เป็นวิทยาศาสตร์สุดๆ แล้วก็ฟังดูยาก เลยปรับเป็น Make your own Gin ทุกคนมาทำจินของตัวเองกัน คนเข้าใจก็เข้าใจ ไม่เข้าใจก็เจ๊ง (หัวเราะ)”

แม้การบริหารธุรกิจ และทำคอนเทนต์สำหรับจ๋าจะไม่ง่ายเท่าไหร่นัก แต่กลายเป็นว่าบิงโก! ทุกเดือนมีลูกค้าหลั่งไหลเข้ามาเรียนกับเธอ กลุ่มหนึ่งคือชอบดื่มชาเป็นทุนเดิม กลุ่มสองมีใจรักในน้ำหอม กลุ่มที่สามมักในฤทธิ์รสเมา เธอใช้ความรู้ที่เรียนมาอย่างคุ้มค่า ถ่ายทอดเรื่องราวกลิ่น และรสได้สมน้ำสมเนื้อ ผู้มาเยือนจะไม่แค่รู้จักกับสิ่งที่พวกเขาชอบมากขึ้น แต่จะลึกซึ้งกับมันจนลืมไม่ลง เช่นว่า ‘ชา’ เป็นมากกว่าใบไม้และน้ำร้อนอย่างไร เช่นเดียวกับที่จ๋ารู้ กระทั่งเธอสามารถออกแบบกลิ่นรสให้แต่ละคนได้เลยทีเดียว
เวลาออกแบบชาให้คนอื่น เริ่มจากอะไร
“เริ่มจากพูดคุย ค่อยๆ ถามสถานการณ์ในใจเขา คำถามซิกเนเจอร์เลย คือ ‘ช่วงนี้เต็มสิบให้เท่าไหร่’ เป็นเวลาให้คนได้คิดทบทวนกับตัวเองว่ามันเท่าไหร่กันนะ ถ้าตอบว่าให้แค่เจ็ด จ๋าก็จะถามว่าแล้วอีกสามหายไปไหน สมมติเขาบอกช่วงนี้หงุดหงิดแฟน โอเค นึกออกแล้ว! พวกหงุดหงิดต้องกินเปปเปอร์มินต์ อิงจากน้ำมันหอมระเหยด้วยเหมือนกัน เพราะมันใกล้เคียงกับชา”
แปลว่าชามีบุคลิกเฉพาะตัวไหม
“มี เหมือนคนเลย เพราะชาคือสิ่งมีชีวิต ต้นไม้ไปเติบโตที่ไหนก็ไม่เหมือนกัน คนไปเติบโตที่ไหนก็ไม่เหมือนกัน และ You are what you eat, you are your บรรพบุรุษอะ ชาที่เติบโตในน้ำดี ดินดี หรือใกล้ทะเลมันก็จะอูมามิ ถ้าตามแพทย์แผนไทยเขาจะเรียกว่า ‘จุลพิกัด’ ความแตกต่างของสิ่งเดียวกัน อย่างเช่น อบเชยก็มีทั้งไทยเทศ คือเรากำลังพูดถึงสิ่งเดียวกันในสถานที่ต่างกัน
“จ๋ามีสมุนไพรที่มาจากภูเขาไฟฟูจิ กลิ่นจะไม่เหมือนที่ปลูกตามที่ทั่วไป ส่งมาหาคนที่กินไม่เหมือนกัน ตั้งแต่แหล่งที่ปลูก เจตจำนงของคนทำ พลังงานของคนเก็บชาเขาคิดอะไรอยู่ ถ้าของมันดีก็จะรู้สึกแอปพรีชิเอต เราจะได้กินมากกว่ารสชาติ เราได้ความสุข อย่างเชฟที่เขาตั้งใจทำอาหารให้กินมากๆ แม่งโคตรอร่อยเลย!”

การชงชาเองต่างกับสั่งชารถเข็นเร็วๆ ยังไง
“มี 2 แบบ เช่น บางวันอยากได้คาเฟอีนของมัน งั้นวันนี้ไม่ต้อง Mindful มากก็ได้ แต่ถ้าชงชาช้าๆ เบสิกที่เข้าใจง่าย สำหรับคนไทยคือมัทฉะ มันเป็นเรื่องดีนะที่ตอนเช้าเราได้มีเวลาสัก 5 นาที จากจับโทรศัพท์ฟังเสียงน้ำเดือด ตอนที่เทน้ำไปรอบๆ มันละลายเลยมั้ย ชาแตกเม็ดดีมั้ย ตีฟองเป็นพระจันทร์เสี้ยวมั้ย เป็น One Kind of Meditation เลย เราได้เริ่มต้นวันอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งมันหายากในชีวิตประจำวันที่มันเร่งรีบมากๆ
“จ๋าว่าแค่ 5 นาทีที่เราได้ชงชามันทำให้รู้สึกว่าวันนี้มันคอมพลีต พอเราได้ชงช้าๆ แล้วจะส่งผลต่อจิตใจทำให้รู้สึกว่าวันนี้จะเป็นวันที่ดี”
สาวน้อยตรงหน้าเราแอบกระซิบบอกหนังสือที่เธอชอบจนอ่านมันซ้ำหลายรอบ ‘ความสุข 15 ประการที่การชงชาสอนฉัน’ นี่คือเล่มที่เธอแนะนำว่าถ้าอ่านแล้วจะได้เรียนรู้ว่าชาเป็นมากกว่าชา ฤดูปลูกที่ผันผ่านไปนั้นเปรียบเป็นฤดูชีวิตคนได้ไม่ต่างกัน
ตั้งแต่สำรวจโลกของชาได้เปลี่ยนวิถีชีวิตบ้างไหม
“เราเข้าใกล้ชามานานมากแล้วแต่ไม่เคยรู้ตัว อย่างช่วงแรกคือตอนฝึกงานที่ญี่ปุ่น บริษัทจะให้ชงชาทุกอาทิตย์ ตอนนั้นไม่เข้าใจเลยว่าชงทำไม ชงช้ามากด้วย มันเมื่อย เราก็ทำเร็วๆ ได้นี่ สักพักเข้าช่วงสองเป็นช่วงทำวิจัยก็เจอเข้ากับ ‘ชาอาวะบังฉะ’ ชาหมักต้นตำรับของญี่ปุ่นที่นำพาให้เราไปอยู่ในโลกของชาอีกครั้ง ได้มีโอกาสเก็บใบชา ตอนแรกก็สนุกแต่หลังๆ เริ่มค่อยๆ หายไป ว่าง่ายๆ คือตอนนั้นยังไม่รู้อะไรหรอก”
“แต่พอกลับมาทบทวนกับตัวเอง เราเริ่มคิดว่าทำไมคนญี่ปุ่นเขากินชาจริงจังกันมากเลย จัดอีเวนต์ทุกวันศุกร์แล้วก็ให้คนนั่งจิบชา แบบไม่พูดอะไรกันเลยนะ ชาเป็นเหมือนตัวกลางที่ทำให้ได้อยู่กับตัวเอง เป็นสิ่งที่ทำให้โฟกัสเรื่องตรงหน้า มีสติอยู่กับปัจจุบัน และรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นอยู่รอบๆ ตัว ชาทำให้เราช้าลงกับความไฮเปอร์ของตัวเอง”

ในทุกประโยคที่จ๋าพูดมาพร้อมกับแววตาระยิบระยับเสมอ นั่นบ่งบอกได้ดีเหลือเกินว่าเธอรักในสิ่งที่กำลังทำมากขนาดไหน และเป็นคนเนิร์ดชนิดว่ารู้อะไรต้องรู้ให้ลึก ห้องคราฟต์นี้ที่มีอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด ถึงขาดคนสอนอย่างเธอไปไม่ได้ เพราะต่อให้เราหยิบอากู๋มาค้นดู คงจะไม่เข้าใจลึกเท่าได้เรียนวิชากลิ่นและรสจากจ๋าแบบตัวต่อตัวแน่
ฟีดแบ็กของคนที่มา Kaori Craftroom เป็นอย่างไรบ้าง
“อย่างแรกเลยเขาจะบอกว่าสนุก เราทำเรื่องที่ดูยากให้มันเข้าใจง่าย ได้เปิดโลก และรู้ว่าจริงๆ แล้วทุกคนอยู่กับสิ่งสังเคราะห์มาเยอะมาก เดินเข้าห้างตอนนี้ แบรนด์น้ำหอม แบรนด์เครื่องหอมเยอะมาก จ๋าจามฉ่ำเลย คนที่เข้ามาในนี้เขาบอกว่ามันหอมแบบไม่เวียนหัว นอกจากชิมจินเยอะนะ (หัวเราะ) มันเหมือนที่ที่ได้หยุดเวลา ได้ปลีกวิเวก”
ในอนาคตมีแผนจะทำอะไรอีกไหม
“คิดไว้เยอะ ตอนนี้จะเรียนแพทย์แผนไทย ก็เริ่มคิดว่ามันไปทางไหนได้อีก เราชอบสอนนะ แต่เริ่มๆ เจ็บคอแล้ว เพราะพูดเสียงดัง มองไว้ว่าอยากทำจินเป็นแนวคอนเซาต์หรือไม่ก็คอลแลปกับคนอื่น ไม่อยากเปิดแบรนด์เป็นของตัวเอง ส่วนเชิงที่ไม่แอลกอฮอล์ ในอนาคตอาจจะเปิดเป็น Herb Cafe เราอยากทำให้มันดู Gen Z (พร้อมสองนิ้วกัดฟันออกสำเนียงเจนซือ) ให้คนเข้าถึงง่าย และรักษาสุขภาพได้ด้วยสมุนไพร”
ถ้าให้นิยามกลิ่นของ Kaori Craftroom คิดว่าเป็นกลิ่นอะไร
“ดอกไม้ที่ไม่ถึงกับทุ่ง เป็นกลิ่นเฟมินีน ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายเข้าไม่ได้นะ แต่คือตัวแทนของดอกไม้ที่เติบโตมาในดินแข็งๆ กร้านๆ และมันไม่ใช่แค่ดอกเดียว อาจจะสัก 10 ชนิดที่มีคาแรกเตอร์ต่างกัน ไม่ได้แค่ให้กลิ่นหอมหวาน บางตัวให้กลิ่นเผ็ดก็ได้ แต่ที่เลือกดอกไม้ เพราะในบรรดาพฤกษศาสตร์มันเป็นตัวที่อ่อนแอ บอบบางที่สุด ทั้งหอมหวาน ยั่วยวน แล้วแม่งก็ดันเซนซิทิฟชิบเป๋งเลย”

สิ่งที่ทำอยู่มันให้อะไรบ้าง
“โห! เป็นคำถามที่ตั้งแต่คุยมาน่าจะชะงักที่สุด อืม (หยุดคิด) จ๋าคิดว่ามันให้การเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ไม่ใช่แค่เรียนรู้กับคนที่มา แต่กับเราก็ด้วยเหมือนกัน อย่างเครื่องกลั่นจินที่กลั่นมาไม่รู้กี่รอบแล้ว แต่กลายเป็นว่าทุกครั้งมันไม่เคยเหมือนกันเลย คือคนเราแม่งไม่มีวันหยุดเรียนรู้หรอก นอกจากจะหยุดเอง มันมีเรื่องใหม่ให้เราเรียนรู้เสมอ”
เรามองจ๋าอย่างชื่นชม และอดนึกภาพถึงแม่มดตัวน้อยไม่ได้เลย ถ้าเธออยู่ในคอมมิวนิตีแม่มดจริงก็คงกำลังยืนอุ้มหนังสือตั้งใหญ่ หรือไม่ก็เป็นบรรณารักษ์ในโลกเวทมนตร์ที่มีงานอดิเรกเป็นการกลั่นจิน ชงชา เก็บดอกไม้สมุนไพรนานาชนิด
“จ๋าเหมือนสาวน้อยมหัศจรรย์เลยเนอะ”
“สาวน้อยโดเรมี มี ซอล ลา เหรอ”
เป็นอีกครั้งที่เธอเรียกเสียงหัวเราะลั่นจากผู้ฟังทั้งห้อง