‘อิจฉาเขาแต่ก็แสดงออกไม่ได้’ ทั้งรักทั้งหมั่นไส้ จะทำยังไงดี ถ้าเริ่มรู้ตัวว่ากำลังอิจฉาชีวิตดีๆ ของเพื่อนสนิท

เป็นเรื่องปกติที่เราจะมี ‘เพื่อนสนิท’ อยู่ในชีวิต มากน้อยแล้วแต่บุคลิกของแต่ละคน

เพื่อนสนิทก็คือเพื่อนที่เราไว้วางใจให้โคจรอยู่ในชีวิตแบบใกล้ชิดกว่าเพื่อนทั่วไป เป็นเพื่อนที่พูดคุย ปรึกษา แสดงความรู้สึกต่อกันได้ทุกเรื่อง หรือจะตบหัว กระโดดถีบกันก็เป็นเรื่องปกติ ไม่โกรธมึงเล้ย เรียกได้ว่าถ้าเติบโตมาด้วยกัน ยังไงเราก็จะกอดคอร่วมทุกข์ร่วมสุขต่อกันไป

แต่เอาเข้าจริง หลายครั้งพอโตขึ้น และชีวิตเริ่มพาให้เรากับเพื่อนสนิทมีเส้นทางเรื่องราวแตกต่างกันไป เรากลับมีความรู้สึกแปลกๆ เกิดขึ้นกับเพื่อนสนิท โดยเฉพาะเมื่อยามที่เราเห็น ‘เรื่องเชิงบวก’ ของพวกเขา ไม่ว่าจะผ่านเหตุการณ์ในชีวิต หรืออัพเดตทางโซเชียลมีเดีย

ความรู้สึกแปลกที่ว่า คือ ‘อิจฉามันจัง’ ทำไมในไอจีมันลงแต่การไปเที่ยว กินอาหารดีๆ ออกกำลังกายทุกเช้า เจอสังคมใหม่ๆ มีคนให้ความสนใจ มีกิจกรรมที่ดูน่าสนุกตลอดเวลาขนาดนั้น

มันเป็นความรู้สึกที่ผสมปนเป และเป็นอารมณ์ที่ยุ่งยาก แน่นอนว่าเราไม่มีทางเลิกคบกับพวกเขาเพียงแค่ความอิจฉาแน่ๆ แต่มันก็ห้ามความรู้สึกเปรียบเทียบไม่ได้ คือบางครั้งให้โกรธจนเลิกคบเพราะมันหักหลังเราไปเลยอาจจะดีกว่าต้องมารู้สึกอิจฉาแบบนี้

เพราะบางทีความอิจฉาก็น่ากลัวถึงขั้นเริ่มทำให้เรามองพวกเขาเปลี่ยนไป เรารู้สึกเศร้า เสียใจ ผิดหวัง หรือแม้แต่โกรธเพื่อนสนิท ทั้งที่จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้พูด หรือทำอะไรที่ทำร้าย หรือผิดเลย

แม้ว่าความรู้สึกอิจฉา หรือเปรียบเทียบนี้จะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่บางทีอาจถึงเวลาที่เราต้องทำความเข้าใจอารมณ์เหล่านี้ให้ดี เพื่อไม่ให้มันกลายเป็นสารตั้งต้นในความรู้สึกเชิงลบที่อาจเพิ่มมากขึ้น แล้วจะทำยังไงดี?

เรื่องอะไรกันนะที่เราอิจฉามัน

ลองถามตัวเองให้ดีว่าอะไรกันแน่ที่ทำให้รู้สึกอิจฉา สิ่งสำคัญคือต้องระบุสารตั้งต้นของความอิจฉานี้ให้ได้ แม้ในตอนแรกเราอาจคิดว่าเราอิจฉาบางสิ่งที่ผิวเผิน แต่หากเริ่มมองความรู้สึกอิจฉาให้ลึกขึ้น เราอาจตระหนักได้ว่ามีต้นตอของความอิจฉาที่อาจ ‘เกี่ยวข้องกับเรา’ ก็ได้ เช่น หลายครั้งสิ่งที่เราอิจฉามักชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เรา ‘ไม่พอใจ’ กับตัวเอง ยกตัวอย่าง ถ้าเรารู้สึกว่าทำไมผมเพื่อมันสวยจังวะ นั่นอาจหมายความว่าเราไม่ได้พอใจ หรือถึงขั้นอายกับทรงผมของตัวเอง 

ทีนี้เมื่อรู้ชัดเจนแล้วว่ากำลังอิจฉา ‘เรื่อง’ อะไร เราก็สามารถเริ่มพัฒนาตัวเองเพื่อเอาชนะความอิจฉานั้นได้

ความรู้สึก หรือความเป็นจริง

บางครั้งเราก็สับสนระหว่าง ‘ความรู้สึก’ ที่มีต่อบางสิ่งกับ ‘ความเป็นจริง’ ของสิ่งนั้นๆ ลองพิจารณาความรู้สึกอิจฉาที่เกิดขึ้น และ ‘แยก’ ความรู้สึกนั้นออกจากความเป็นจริงของสถานการณ์ บ่อยครั้งที่เราอิจฉาบางสิ่งที่เป็นเรื่อง ‘ชั่วครั้งชั่วคราว’ และไม่ได้สลักสำคัญ ถ้าตั้งสติได้ ลองถามตัวเองว่าสิ่งที่เรากำลังอิจฉาเพื่อน มันจะมีความสำคัญในอีกหนึ่งปีข้างหน้าไหม ความอิจฉาเป็นความรู้สึกตามธรรมชาติ แต่สิ่งสำคัญคืออย่าปล่อยให้ความรู้สึกนี้มาควบคุมชีวิตของเรา เช่น หากเราอิจฉาที่ใครสักคนชมเพื่อนของเรา (บางครั้งมีคนอิจฉาเรื่องนี้จริงๆ) ให้เตือนตัวเองว่าแค่เพื่อนของเราได้รับคำชม ไม่ได้แปลว่ามันดีกว่าเรา หรือหมายถึงเรากับเพื่อนกำลังแข่งขันกัน ก็แค่คำพูดดีๆ เกี่ยวกับเพื่อนเท่านั้นเอง เอาน่าๆ

ลด ละ เลิก การเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อน

เป็นเรื่องยากที่เราจะไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับชีวิตคนอื่นที่เรามองว่าดีกว่า แต่เมื่อเราใช้ชีวิตโดยเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา เราจะรู้สึกไม่มั่นคง และมองเห็นความแตกต่างที่ก่อให้เกิดความอิจฉา แม้ไม่ง่าย แต่ให้พยายามเปรียบเทียบตัวเองกับตัวเองก็พอ เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราก็คือเรา ที่มีทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน ข้อดี ข้อด้อย มีทั้งด้านบวก และด้านลบ

ถ้าการเลิกเปรียบเทียบยาก ลองทำ ‘โซเชียลดีท็อกซ์’ ดูก็เป็นวิธีที่ดี โซเชียลมีเดียมักแสดงด้านดีๆ ของคนอื่นให้เราเห็น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนก็มีปัญหาของตัวเองไม่ต่างจากเรา ไม่เว้นแม้แต่เพื่อนสนิทของเรา เพียงแค่พวกเขาไม่ได้เอาสิ่งนั้นมาแสดงบนโซเชียลเท่านั้นเอง

และเมื่อลอง ‘โซเชียลดีท็อกซ์’ ดูแล้ว ก็ลองใช้เวลานั้นในการลิสต์เป้าหมายที่เราอยากทำดู ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมสนุกๆ หรือความท้าทายในเรื่องการเรียน การงาน ที่ทำให้เราได้จดจ่อกับความคิดสร้างสรรค์ มากกว่าคิดถึงความสำเร็จของเพื่อนจนต้องอิจฉา

หันมาสำรวจตัวเองดีกว่า

หลายครั้งความอิจฉาเป็น ‘กลไกป้องกันตัว’ ที่จิตใจของเราเรียนรู้เพื่อปกป้องตัวเราเองจากสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอดีต และกลายเป็นบาดแผลในจิตใจ ลองหาเวลาในการสำรวจตัวเองว่า ความอิจฉาที่มีต่อเพื่อนสนิทนั้น เป็นผลจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจในอดีตไหม และค้นหาวิธีรักษา เช่น การบำบัด เช่น เราอาจเคยโดนเพื่อนสนิทในอดีตหักหลังด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง และตอนนี้เราอาจกังวลไปว่าไอ้เพื่อนยากคนนี้มันอาจทำเรื่องแบบเดียวกัน แต่ความจริงแล้วต้องพยายามตระหนักให้ได้ว่าแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน และไม่แฟร์ที่จะไว้วางใจเพื่อนสนิทน้อยลง เพียงเพราะเราเคยเจอเรื่องแบบนี้จากคนอื่นในอดีต

ความอิจฉาเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ มันเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งสำคัญคือการตระหนักว่าแท้จริงแล้ว หากลองค้นดูดีๆ ความอิจฉานั้นอาจมีที่มาที่เราคาดไม่ถึง การไม่ปล่อยให้ ‘ความรู้สึก’ มาควบคุม ‘ความเป็นจริง’ นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ ก่อนที่มันจะเลยเถิด

บางทีการลองพยายามสำรวจความอิจฉาของตัวเราเองก็อาจเป็นโอกาสสำหรับการเติบโต และเป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองมากขึ้น หรือเชื่อมโยงเรากับเพื่อนผ่านเรื่องที่มีความหมายลึกซึ้ง

หากเราตระหนักว่าเขาคือเพื่อนสนิทของเราจริงๆ มันอาจไม่ได้ยากเกินไปในการพยายามก็ได้

AUTHOR