*** บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์***
ในปี 2017 ภาพยนตร์เรื่อง Call Me by Your Name ของ Luca Guadagnino เล่าเรื่องเด็กผู้ชายซึ่งเจอกับรักครั้งแรกที่ฝากบาดแผลติดตรึงใจไว้ หนังรักหวานจ๋อยในฤดูร้อนที่พาคนดูไปซึมซับแรงปรารถนาของวัยหนุ่มสาว ความเจ็บปวดจากรักที่ไม่สมหวัง ชั่วจังหวะหนึ่งของชีวิตที่จะต้องก้าวผ่าน คนดูจะเชื่อมั่นได้ว่าตัวละครจะเติบโต เจอความรัก และผิดหวังอีกนับครั้งไม่ถ้วน เพราะความยังสะพรั่งของขวบวัย
ในปี 2024 ภาพยนตร์เรื่อง Queer ของผู้กำกับคนดีคนเดิม เล่าเรื่องของ วิลเลียม ลี (William Lee) ชายวัยกลางคนที่วันๆ ร่ำสุราและยาเสพติด หวังเติมเต็มจิตวิญญาณด้วยเซ็กซ์จากหนุ่มน้อยทั่วเมืองเม็กซิโก ท่ามกลางเเสงสีในเมืองที่ทึบทึม เขาเหงาและเว้าแหว่งเกินทน บ่มความคิดว่าตัวเองผิดปกติไว้ภายในแล้วชูคอว่าไม่เป็นไรท่ามกลางสังคมที่เขาเลือกแล้ว ว่าจะมีแต่ Queer ด้วยกัน การประสบพบเจอกับรักที่ไม่สมหวังของลี คือการล่มสลายทางจิตวิญญาณที่กู่ไม่กลับ ตราบจนวันสุดท้ายของชีวิต
ความต่างแบบสุดขั้วในภาพยนตร์ 2 เรื่องนี้ฉายให้เห็นภาพของความไม่สมประกอบ ซึ่งความไม่สมประกอบในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพศสภาพแต่หมายถึงห้วงคิดที่ตัวละครคิดต่อตัวเอง เอลิโอ ใน Call Me by Your Name คือความไม่ประสาต่อชีวิต ในขณะที่ลีใน Queer คือการทับถมทวีคูณของการมีชีวิตอยู่มานาน ความไม่สมหวังใหม่ทับทบเก่าจนขมวดตัวแยกกันไม่หลุด

Queer (2024) จึงไม่ใช่หนังรักโรเเมนติกด้วยประการทั้งปวง แต่อาจเป็นหนังใคร่ฝักใฝ่โรเเมนซ์ก็เป็นได้ คุณจะได้พบกับความรู้สึกของความโดดเดี่ยว และเเปลกแยกที่ลึกจนถึงก้นบึ้ง จะได้เผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ เหวอกับมวลอารมณ์ฝั่งลบมากกว่าบวกที่ข้นคลั่ก (ในเชิงอารมณ์ของหนัง) ในบางท่อนบางส่วนจะพบกับสิ่งที่เป็นไปได้มากกว่ากวีเชิงสัญลักษณ์ที่ต้องแคะ แกะความหมายออกมาตีความ แต่มันคือมวลที่ก่อขึ้นมาแรงๆ ภายในปัจเจก ตามเเต่ว่าใครจะเชื่อมโยงกับส่วนไหนได้ มากน้อยไม่เท่ากัน

Queer
คำว่า Queer มีความหมายตรงตัวแปลว่าแปลกประหลาด และอาจจะถูกใช้เรียกแทนอัตลักษณ์ทางเพศครั้งแรกในการพิจารณาคดีของนักเขียน ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) ในปี 1895 ซึ่งอาจมาจากชุดความคิดในช่วงสมัยนั้นที่มองว่า ชาย – หญิง คือเพศปกติ นอกเหนือจากกรอบนี้คือความเเปลกประหลาด คำๆ นี้จึงมีความหมายในเชิงลบซึ่งกีดกันใครบางคนออกไปจากการเป็นส่วนหนึ่ง
แม้บรรยากาศแวดล้อมใน Queer จะไม่ได้กีดกันตัวละครให้ไปอยู่ในสถานะคนนอก แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังเห็นความรู้สึกผิดบาปต่อเพศสภาพตัวเองของ ลี ผ่านคำพูด การกระทำ และการถมถุยตัวเองในหลายฉากหลายตอน คำกล่าวที่ว่า “ฉันคงเป็นคนประเภทที่ต่ำต้อยกว่ามนุษย์พวกนั้นสินะ”
ฉายให้เห็นเบื้องลึกข้างในว่าเขาบอบช้ำแค่ไหนในชั่วขณะแห่งความมาดมั่นยืนกรานว่าจะเป็นตัวของตัวเอง
น่าตั้งข้อสังเกตอย่างหลวมๆ ว่าในเมื่อตัวละครเองถูกรายล้อมรอบตัวด้วยผู้คนที่ยืนอยู่ฟากฝั่งเดียวกับเขา เหตุใดความรู้สึกผิดบาปนั้นถึงตอกฝังอยู่ภายในหัวใจอันฟีบเฉาของเขานัก เลเยอร์ชีวิตของลีจึงซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จากคำบอกเล่าในบทสนทนาเล็กๆ ของเขากับผู้คนอื่นๆ เขารู้สึกเป็นคนนอกจากก้นบึ้งจิตใจของตัวเอง

Queer เฒ่า เหงา (คลั่ง)รัก
ใน Chapter แรก ลี วนเวียนอยู่กับความพะว้าพะวังในความใช่หรือไม่ใช่เควียร์ของชายหนุ่มชื่อ ยูจีน อัลเลอร์ตัน (Eugene Allerton) ที่มีความแฮนซัมทำลายล้างสูงจนคนดูหายใจติดขัด
ลี ค่อยๆ ขยับเขยื้อนจากความสนใจเป็นหลงใหลคลั่งไคล้ เมื่อได้สัมผัส ประชิด ดอมดม ฉากเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ลอกคราบชายวัยกลางคนในชุดสูททางการที่สวมหมวกไว้ตลอดเวลา เผยให้เห็นความประหวั่นพรั่นพรึงต่อสิ่งที่ตนเองเป็น และคาดหวังว่าคนที่เขาหลงใหลจะเป็น Queer ด้วย ความเป็นหรือไม่เป็นนี้ สำคัญกับเขามากจนกวนใจตน มากกว่าว่าชายหนุ่มจะชอบหรือไม่ชอบเขาเสียอีก
การยืนยันความ Queer ของยูจีนจึงอาจเท่ากับการเติมเต็มหลุมบ่อกลางใจของ ลี ที่ไม่เคยถูกถมให้เต็มมาเเสนนาน เขาเพียงหวังว่าเขาจะได้เชื่อมจิตกับร่างกายอันงดงาม ซี่โครงไม่ครบส่วนที่เขาหลงใหลได้ปลื้ม และสิ่งที่เขาคาดหวังนี้เองที่กลับมาพันธนาการตัวเอง ให้ดำดิ่งลงไปในหุบเหวทางใจที่ลึกลงไปกว่าเดิม
ตัวละคร ลี ติดอยู่ในเงื่อนปมเรื่องเพศที่ไม่ได้เปิดรับความหลากหลาย สำหรับเขามนุษย์ไม่ได้เป็นเพียงผู้เปลือยเปล่าล่อนจ้อนแต่มีอวัยวะเพศที่ถูกต้องติดมาเป็นเครื่องยืนยันความสมบูรณ์พร้อม เขาไม่อาจหลุดพ้นจากข้อจำกัดที่ว่า ผู้หญิงต้องรักกับผู้ชาย Queer ต้องรักกับ Queer ไม่มีสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากนี้ เขาจึงไม่สมประกอบ

สมุนไพรในป่าความบ้าที่ลูก้ามอบให้
แม้ใครที่เคยได้อ่านหนังสือเรื่อง Queer ของ วิลเลียม เอส. เบอร์โรห์ส (William S. Burroughs) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็อย่าเพิ่งวางใจ เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ได้เพียงหยิบยกเรื่องราวในหนังสือมาเล่าผ่านภาพ แต่กลับเป็นส่วนต่อขยายให้เรื่องราวเหล่านั้นขยายกว้างออกไปอีก ความเหวอแดกใน Chapter ที่ 3 ยืนยันสิ่งนี้ได้เป็นอย่างดี
หลังจากฉากความสัมพันธ์ท็อกซิก รักใคร่ เฉยชา หวาดหวั่น กระอักกระอ่วนใจ ผ่านพ้นไป หนังพาคนดูเเละตัวละครเข้าในป่ารกทึบปลอมๆ ที่แสงแข็งโป๊กเหมือนอยู่ในสตูดิโอ เพื่อเข้าไปหาสมุนไพรสื่อจิต เป็นแรงปรารถนาของเควียร์เฒ่าอย่างลี ที่อยากจะเชื่อมต่อกับยูจีนผ่าน Spiritual โดยไม่มีสิ่งอื่นใดมากั้น เขาเชื่อว่าสมุนไพรนี้ช่วยเขาได้
ฉับพลันทันใดที่งูเห่า (ปลอมๆ) ปรากฏเข้ามาในฉาก เราแทบจะอยากวิ่งออกไปดูป้ายหน้าโรงว่านี่เข้ามาผิดเรื่องหรือไร เหตุใดหนังได้นำพาพวกเรา (และตัวละคร) มาจนถึงจุดนี้ หลังจากนั้นเรื่องราวที่เกิดขึ้นคือความบ้าบอสุดลิ่มทิ่มประตูจนดูไปแล้วเริ่มสงสัยว่า นี่กูยังต้องแงะสัญญะไหมนะ
ฉากร่างกายผสมกลมกลิ้งเต้นระบำภายใต้เนื้อหนังมังสาเดียวกันท่ามกลางป่ามืด ประกอบกับเสียงดนตรีอันน่าขนลุกที่บีบคั้นอารมณ์อย่างแปร่งๆ เปลวไฟจากกองฟืนที่สาดกระทบภาพผิวเนื้ออันเซอร์เรียลที่คนดูคงไม่เคยคาดหวังมาก่อนว่าจะได้เห็น สิ่งเหล่านี้เราอาจเรียกมันว่าประสบการณ์ที่อนุญาตให้เราประจันหน้ากับมวลต่ออารมณ์มากกว่าการรู้ความ
ในพาร์ตครึ่งหลังนี้เราต้องเผชิญหน้ากับภูมิทัศน์ทางอารมณ์ของ ลี ซึ่งช่าง Abstract และยากที่จะหยั่งถึง เราอาจต้องสละส่วนของนึกคิดและคลำหาทางไปต่อของหนังด้วยจังหวะการหายใจ และแรงดันภายในร่างกายของตัวเอง คุณรับรู้แบบไหนอาจสำคัญกว่าว่าใครกำลังทำอะไรที่ไหนอย่างไร นี่คือลูกบ้าที่ผู้กำกับใส่มา คือรสชาติเฉพาะที่สำคัญไปกว่าการให้สาระสำคัญ

หลุมกลางใจของมนุษย์เฒ่าผู้เปราะบาง
สุดท้ายแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้คงไม่ได้เล่าเรื่องอื่นใดมากไปเสียกว่าเรื่องของมนุษย์ผู้อ่อนแอ วิงวอนขอการเติมเต็ม และถูกแรงปรารถนากัดกิน เราจะได้เห็นความร่วงโรยรา บุบสลายลงไปด้วยใจที่ยังคงวนคิดติดตรึง งูยังคงกัดกินหางตัวเองอนันต์ เหมือนปรารถนาที่ไม่มีวันจบสิ้นลงของลี

ฉากสุดท้ายในห้องพักอันอ้างว้าง ลีอยู่ในนั้น เขามองเห็นตัวเองได้เจอกับ ยูจีน ชายหนุ่มในความทรงจำ ยูจีน อยู่ตรงนั้นพร้อมกับแก้วที่วางไว้บนหัว ลีลั่นไกปืนหวังให้ยิงโดนแก้ว แต่ไม่ ลูกปืนทะลุเข้าไปในศีรษะของคนที่เขารัก ภาพเหนือจริงเหล่านั้นช่างทรงพลังจนน่าขนลุกเมื่อเรารู้ว่านี่คือเรื่องจริงของผู้ประพันธ์
ในงานปาร์ตี้ วิลเลียม เอส. เบอร์โรห์ส (ผู้ประพันธ์หนังสือเรื่อง Queer) เมามายเล่นเกมส์อันน่าหวาดเสียว วางแก้วไฮบอลไว้บนศีรษะของภรรยา และเขายิงกระสุนปืนเข้าหัวของเธอ ภายหลังเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆ่าคนตาย ไม่มีใครรู้นึกคิดของเขาในขณะนั้น
และฉากสุดท้ายในหนังที่ตัวละคร (ซึ่งเกิดมาจากบทประพันธ์ของเขา) อย่าง วิลเลียม ลี สิ้นลมหายใจลงในวัยชรา ความฝังจำจากปรักหักพังของชีวิตยังคงอยู่คู่เคียงเจ้าของจนเฮือกสุดท้าย
เช่นเดียวกัน แม้นักประพันธ์ผู้นี้จะสร้างงานเขียนมามากมายแต่สิ่งเดียวที่วิลเลียม เบอร์โรห์ส ไม่เคยได้เข้าใจคือวิธีที่จะรักษาหัวใจที่แตกสลายของตัวเอง
และไม่ว่าคุณจะเป็นใครที่ไหนอย่างไร การมีชีวิตก็ไม่เคยสมประกอบเลยสักครั้งเดียว ดังนั้นพวกเราคงเป็น ‘เควียร์’ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ข้อมูลอ้างอิง