ลมเย็นๆ พัดพากลิ่นหอมละมุนของดอกไม้ ท้องฟ้าสีครามสดใส ถูกแต่งแต้มไปด้วยสีสันของ
‘ซากุระ’ นี่สินะ..สัญญาณที่บอกว่า ‘ฤดูใบไม้ผลิ’ มาถึงแล้ว
แม้ประเทศไทยจะมีแต่หน้าร้อนและร้อนมาก แต่สำหรับประเทศฝั่งเอเชียอย่าง ‘ญี่ปุ่น’ นี่คือช่วงเวลาของฤดูใบไม้ผลิ ไฮซีซันแห่งการท่องเที่ยวที่ดอกไม้ทั่วประเทศจะพากันอวดโฉม ผลิบานต้อนรับนักท่องเที่ยวกันอย่างสดใส โดยเฉพาะ ‘ซากุระ’ ดอกไม้ประจำชาติแดนอาทิตย์อุทัย ที่บานเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

ความงดงามที่คงอยู่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ กลายเป็นสัญญะของ ‘การเริ่มใหม่’ ที่ถูกนำเสนอในสื่อบันเทิงหลายต่อหลายครั้ง ยังไม่รวมถึงการผูกโยงกับแนวคิด Wabi-Sabi แก่นแท้ของชาวญี่ปุ่นที่ชวนให้เราเห็นคุณค่าในสิ่งที่ไม่สมบูรณ์
แทนที่จะชื่นชมความงามของซากุระแบบที่เราเห็นจนชินตา เราอยากชวนทุกคนไปมอง
‘ความร่วงโรย’ ในมุมใหม่ ผ่านศิลปะแห่ง Wabi-Sabi ที่ซ่อนในฤดูใบไม้ผลิ ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้ข้อคิดดีๆ ในการใช้ชีวิตกลับมาก็เป็นได้~
ดอกไม้ที่บันทึกประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
ซากุระ (Sakura / 桜) ดอกไม้จากต้นเชอร์รีป่าของญี่ปุ่น กลีบดอกมีลักษณะกลม ปลายแหลม ถูกแต่งแต้มด้วยสีขาวนวล ไปจนถึงชมพูอ่อน มักจะบานเพียงช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ และจะร่วงในไม่กี่วันหลังจากบาน
เมื่อ 1000 ปีที่แล้ว ก่อนซากุระจะเป็นที่รู้จักในทุกวันนี้ มันเคยเป็นเพียงต้นไม้ป่าที่ไม่มีใครสนใจ แต่เมื่อสมัยเฮอัน (ปี 794 – 1185) มีการนำมาเพาะปลูกในพระราชวัง ทำให้เกิดความนิยมกันอย่างแพร่หลาย และกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น แทนที่ดอกบ๊วยที่รับมาจากวัฒนธรรมจีน
ถัดมาในยุคเอโดะ (ปี 1603 – 1868) ซากุระเริ่มเข้ามามีบทบาทกับวิถีซามูไรมากขึ้น กับแนวคิด Bushido เชื่อมโยงวงจรชีวิตที่สั้นของซากุระ กับเหล่าซามูไรที่พร้อมตายอย่างงดงามราวดอกไม้ร่วง ทำให้ซากุระกลายเป็นสัญลักษณ์ของเกียรติยศ ความกล้าหาญไปในที่สุด
นอกจากนั้นยุคนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของพิธีฮานามิ หรือชมดอกไม้ที่แพร่หลายไปยังขุนนาง ซามูไร และสามัญชนในที่สุด ผู้คนต่างพากันออกมาชมความงดงามของซากุระตามแม่น้ำ สวนสาธารณะ ทำให้ฤดูใบไม้ผลิกลายเป็นเทศกาลแห่งครอบครัว และอบอวลไปด้วยมวลความสุขที่แพร่หลาย
ไม่เพียงแค่นั้น ‘ซากุระ’ ยังเป็นแรงบันดาลใจในบทกวี วรรณกรรม ภาพพิมพ์ และดนตรีนับไม่ถ้วน ทำให้มันกลายเป็นดอกไม้ที่ฝังรากลึกอยู่ในความทรงจำของชาวญี่ปุ่นจวบจนวันนี้
ความงดงามที่ไม่จีรัง
ภาพดอกซากุระที่ชูช่อโดดเด่นอยู่บนต้น ใครจะเชื่อว่าไม่กี่สัปดาห์หลังจากนี้ มันจะเป็นแค่ความสวยงามในอดีตที่จางหายไปพร้อมๆ กับฤดูใบไม้ผลิ คงเหลือไว้ซึ่งกลีบที่ร่วงหล่นบนพื้นเป็นของดูต่างหน้า
ความงดงามที่ไม่จีรังยั่งยืนเหล่านี้ คือหัวใจของหลัก Mujō (無常) หรือความไม่จีรัง ที่ฝังลึกอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนในดินแดนอาทิตย์อุทัย ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ‘ไม่มีสิ่งใดอยู่กับเราได้ตลอดไป จงเห็นค่าขณะที่ยังอยู่’
นอกจากนั้นการร่วงโรยของซากุระ ยังสะท้อนความไม่สมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นแก่นของปรัชญา Wabi-Sabi แนวคิดการมองภาพความงามแบบญี่ปุ่นที่ให้คุณค่าแก่สิ่งที่ไม่สมบูรณ์และถาวร
โดย Wabi (わび) หมายถึง ความเรียบง่าย ความสงบแบบธรรมชาติ ในขณะที่ Sabi (さび) หมายถึง ความงามที่มาพร้อมกาลเวลา
หลายคนอาจมองการร่วงหล่นของซากุระ เป็นภาพที่น่าใจหายและหดหู่ แต่ในความจริงแล้ว ถ้าเราใช้เลนส์ของ Wabi-Sabi มอง จะเห็นถึงแนวคิดดีๆ ที่ซ่อนอยู่มากมาย โดยเฉพาะในโลกที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ และให้ค่ากับความสมบูรณ์แบบ ซากุระที่ร่วงโรยทำให้ยอมรับว่า ทุกอย่างมีรอยตำหนิได้ และมันไม่เป็นอะไรเลย ถ้าเราจะไม่ได้ดีพร้อมตลอดเวลา
‘การยอมรับความไม่สมบูรณ์ คือการยอมรับชีวิตอย่างแท้จริง’
สัญญะการเริ่มใหม่ที่ซ่อนอยู่
ย้อนกลับไปในสมัยเอโดะ ‘การร่วงโรยของซากุระ’ ถูกใช้เป็นสัญญะที่สะท้อนปรัชญา Wabi-Sabi ผ่านงานศิลปะญี่ปุ่นมานับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่บทกวีไฮกุที่ใช้คำเพียง 3 บรรทัดเพื่อเล่าความรู้สึกขณะชมซากุระร่วง ไปจนถึงภาพวาดสไตล์ Ukiyo-e ที่มักจะนิยมถ่ายทอดความงดงามของซากุระ เพื่อบันทึกช่วงเวลาสั้นๆ ที่งดงามในความเป็นจริง ศิลปะเหล่านี้ไม่ได้พยายาม ‘ หยุดเวลา’ แต่บอกให้เราหยุด ‘มอง’ เวลานั้นให้ลึกขึ้น

ถัดมายุคปัจจุบัน ซากุระก็ยังคงเป็น Soft Power ที่สำคัญในสื่อบันเทิงของญี่ปุ่น โดยนอกจากจะเป็นสัญญาณของการสิ้นสุดฤดูหนาวที่แห้งแล้งแล้ว ยังหมายถึงการเริ่มต้นบทใหม่ของชีวิตอีกด้วย ดังนั้นการร่วงหล่นของกลีบซากุระ จึงไม่ใช่ภาพของความเศร้า แต่คือสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง และการเติบโต
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืออนิเมะน้ำดีเรื่อง 5 Centimeters per Second (秒速5センチメートル, Byousoku 5 Centimeter) หนึ่งในผลงานที่ถือว่าคลาสสิกที่สุดของ มาโกโตะ ชินไค (Makoto Shinkai) ที่หยิบเอาความเร็วของดอกซากุระที่ร่วงหล่น แทนคนสองคนที่ค่อยๆ ถูกกาลเวลาและระยะทางพรากจากกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

‘การร่วงโรย ไม่ใช่จุดจบ
แต่มันคือพื้นที่ว่างให้การเริ่มต้นใหม่ได้ผลิบาน’
กลีบซากุระกลายเป็น สัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่ค่อยๆ ห่างไกลกันตามกาลเวลา แต่ในตอนท้าย กลับสะท้อนให้เห็นว่า แม้สิ่งใดจะผ่านไป ความทรงจำจะยังคงผลิบาน และเราจะเดินหน้าต่อได้ ดังนั้นการร่วงของซากุระจึงไม่ใช่จุดจบของความรัก แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตภายในใจ
ดังนั้นแล้ว ยามเมื่อกลีบดอกซากุระร่วงหล่น มันจึงไม่ใช่เพียงแค่การจบลงของฤดูใบไม้ผลิเท่านั้น แต่เป็นสัญญาณให้เราเรียนรู้ที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่งดงาม เช่นเดียวกับแนวคิด Wabi-Sabi ที่ซ่อนอยู่ในทุกอณูของธรรมชาติ เป็นดั่งเครื่องเตือนใจ ที่ทำให้เรารู้ว่า ทุกการโรยรา มีเมล็ดพันธุ์ของชีวิตใหม่ รอเบ่งบานเสมอ