มด – ณัฐวดี สัตนันท์ ผู้กวนกลิ่นบางลำพูผสมข้าวสารให้ยังหอมหวนดั่งวันเก่า

ต้นลำพูอายุนับร้อยปีตระหง่านข้างป้อมขาว ล้อมด้วยคนหลายชนชาติหาบเร่ขายของพลุกพล่าน ภาพทรงจำ ‘บางลำพู’ ครั้งอดีตเคยเป็นเช่นนั้น กระทั่งต้นไม้ใหญ่ต้นสุดท้ายโค่นลงหลังเหตุการณ์น้ำท่วม ทั้งเวลาที่เวียนผ่าน เสียงของบางลำพูก็ค่อยๆ แผ่วลง

ทว่าระหว่างที่ต้นไม้อายุเก่าแก่ล้มหาย มีเมล็ดพันธุ์อีกมากที่กำลังถูกบ่มเพาะให้เติบโต บางลำพูกลับมาเฉิดฉายอีกครั้งพร้อมเสียงเบิกบานนำทัวร์ของ ‘ไกด์เด็กบางลำพู’ และ ‘ประชาคมบางลำพู’ คอยต้อนรับคนแปลกหน้าที่ย่างกรายเข้ามาให้ได้รู้ว่าที่นี่ยังมีชีวิตอยู่ และไม่เคยหยุดหายใจ 

‘มด-ณัฐวดี สัตนันท์’ สาวร้อยเอ็ดต่างถิ่นคือหนึ่งในนั้น เธอมุ่งเข้าเมืองกรุงเพื่อเรียนคณะโบราณคดี ต่อด้วยปริญญาโทสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในมหาวิทยาลัยศิลปากร และเข้าร่วมทำงานพัฒนาชุมชนตามคำชวนของอาจารย์ 

ในวันที่เจอกัน เธอพาเราเดินออกตรอกซอกซอยอย่างช่ำชองเสมือนคนในย่าน ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก แต่เป็นเรื่องน่าค้นหาว่าอะไรที่ทำให้เธอหลงเสน่ห์ของบางลำพูมากขนาดนี้ มากจนสร้างกลิ่นอายให้หอมไปไกลถึงจมูกของผู้ที่ไม่ค่อยมาเยือนอย่างเราได้ 

เธอขับเคลื่อนสิ่งนี้มานานจนเข้าปีที่ 5 แล้ว เราเชื่อว่าหากได้ลองฟัง คุณอาจจะได้กลิ่นนั้นไม่ต่างจากที่เราได้ไปสัมผัสมาเช่นกัน

NEW เวิลด์ โอลด์ TOWN

ย้อนกลับไปในปี 2020 ที่รู้กันดีว่าโรคโควิด-19 ยังลอยอยู่ในอากาศ (แบบเบาบางลง) โปรเจกต์หนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นจากความสร้างสรรค์ของ รศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ หรือ อาจารย์หน่อง อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เอ่ยปากชวนคุณมดให้มาทำร่วมกันในห้าง New World  หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ วังมัจฉา ณ บางลำพู ห้างนี้ถูกทิ้งร้างนานจนผนังขึ้นตะไคร่ แต่กลับกลายเป็นโลเคชันนิยมที่เตะตาเหล่าช่างภาพ

คุณมดได้จุดประกายไอเดียด้วยคำถามว่า ‘หากนึกถึงบางลำพูแล้วจะนึกถึงอะไร’ เธอนำ 20 เรื่องราวในย่าน พร้อมของ 20 ชิ้นนำมาจัดแสดงบนเก้าอี้พลาสติก บ้างเป็นอาหาร ของประกอบอาชีพ และชุดนักเรียนคือซิกเนเจอร์ (กระซิบว่าบางลำพูเนี่ยเป็นจุดกำเนิดของชุดนักเรียนสำเร็จรูปเชียวนะ)

ครั้งแรกที่มาทำโปรเจกต์ New World ชาวบ้านเขางงไหม

งงนะ มันก็งงตั้งแต่ทำในตึกร้างแล้วแหละ แล้วก็เป็นช่วงโควิดตอนปลายด้วย ก็มีโจทย์ให้ทั้งเราและเขา ว่าจะทำให้กิจกรรมมัน Public ได้ยังไง โดยที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงกับสถานการณ์โควิดในช่วงนั้น เราเลยเลือกจำกัดคนเข้า เน้นรูปแบบกิจกรรมที่ไม่ใช่ใครที่เข้ามาก็ได้ คนในย่านสงสัยอยู่แล้วว่าทำอะไรกัน แต่มันกระตุ้นให้เขาอยากเข้ามาดู ปีแรกเราก็โฟกัสคนข้างใน เน้นให้เขาถ่ายทอดเรื่องราวในย่านให้เราฟัง และมันทำให้พวกเขาคิดถึงพื้นที่นี้ในสมัยก่อน

New World เรียกว่าเป็นจุดสานสัมพันธ์ระหว่างเราและชาวบ้านไหม

จะเรียกแบบนั้นก็ได้ เพราะมันเป็น 9 วันที่เราอยู่ด้วยกัน เราทำในนามสถาปัตย์ศิลปากร บนโจทย์ว่าจะดีไซน์ยังไง เล่าเรื่องยังไง คนในชุมชนก็จะหาคีย์มาให้ เด็กๆ ในชุมชนเป็นสตาฟต้อนรับคนกันเอง เพราะเขารู้เรื่องในย่านมากกว่า ส่วนเราก็เอาความสามารถในความเป็นนักออกแบบไปจับคอนเทนต์ที่เขามี ปกติเราจะเล่าผ่านนิทรรศการกับรูปถ่าย เราก็เลือกใช้ Projection Mapping แทนที่จะทำเป็นบอร์ดนิทรรศการก็เขียนเป็นตัวอักษร หยิบของมาจัดแสดงใหม่ให้คนเข้าถึงง่ายขึ้น เล่าเรื่องในย่านให้เข้าใจง่ายมากขึ้น

ฟีดแบ็กการทำงานที่ผ่านมาที่ได้รับจากคนในชุมชนเป็นยังไงบ้าง 

อย่างเราทำ Bangkok Design Week จะมีชุมชนทำงานร่วมกันเป็น Host เขาก็จะบอกเราว่าอันนี้ดีไม่ดี ก็คงมีคนไม่ชอบบ้างแหละที่มีคนเยอะขึ้น แค่ถ้าอะไรที่แตะสิ่งไม่โอเค คนในชุมชนก็จะคอยบอกคอยกรอง อย่างเวลาเลือกพื้นที่ให้เด็กไปทำงาน เขาก็จะพาเราไปคุยก่อน มันก็อาจจะยังมีความไม่เข้าใจกันบ้าง ด้วยความที่ Bangkok Design Week เพิ่งจัดเป็นปีแรก ประมาณว่าเอ! สายไฟเยอะๆ นี่มันยังไงนะ (หัวเราะ) แต่ก็ทำให้เราโตไปพร้อมกับพวกเขา ทำงานด้วยกัน เรียนรู้กัน เด็กบางคนเห็นตั้งแต่ยังไม่เข้าป.1 ตอนนี้เขาอยู่ม.3 แล้ว มันเหมือนเราโตไปด้วยกัน 

เสกข้าวสาร

หากพูดถึงข้าวสาร สิ่งแรกที่จะแวบเข้ามาในหัวใครหลายคนคงเป็นแสงวิบวับ เสียงตื๊ดดังในลำโพงที่สั่นจนถึงพื้นถนน คนหลายเชื้อชาติแวะเวียนเข้าออกไม่ขาดสาย เรียกได้ว่าเป็นแหล่งเอนเตอร์เทนให้ร่างกายกระโดดดึ๋งไปตามจังหวะยามค่ำคืน แต่ถ้าเดินหลุดจากข้าวสารก็จะเหมือนข้ามประตูมิติไปอีกโลกหนึ่งที่ผู้คนเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ ทำให้ได้รู้ว่าซอยบันเทิงนั้นก็เป็นอวัยวะหนึ่งของย่านบางลำพูเช่นกัน 

การรวมตัวกันจนเกิดเป็นข้าวซอย-ข้าวสารมีที่มาที่ไปยังไงบ้าง

มีผู้ประกอบการของข้าวสารติดต่อมาว่าอยากทำร่วมกันจากการเห็นโปรเจกต์ New World เลยเกิดเป็นข้าวซอย-ข้าวสาร ในความรู้สึกของคนวัยแม่ๆ ถ้าพูดถึงบางลำพูเขาจะนึกถึงตั้งฮั่วเส็ง สวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์ แต่จริงๆ แล้วบางลำพูมันใหญ่มาก มี 7 ชุมชนย่อย ย่านข้าวสารก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ย่อยของบางลำพูอีกที

แต่ข้าวสารและบางลำพูดูมีความคอนทราสต์กันมาก คุณจับทั้งสองที่นี้มาเชื่อมกันยังไง

เราเห็นตรงกันกับผู้ประกอบการข้าวสารว่าทั้งสองที่นี้มีความหลากหลาย ทั้งในแง่ของคนและวัฒนธรรมที่เหมือนกัน แต่ข้าวสารอาจจะมีความเอนจอย วาไรตี้มากกว่า ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 30 – 40 ปีที่แล้วมันก็เงียบเหมือนกันนะ ข้าวสารเป็นย่านเอนเตอร์เทนสุดๆ ก็จริง แต่เดินข้ามถนนไปน่ะเป็นวัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรอยู่ด้วยกันเลย หรือถ้ามาช่วงเช้าก็จะเห็นพระบิณฑบาต ผู้ประกอบการข้าวสารเองก็ไม่อยากให้คนรู้จักข้าวสารแค่ว่าเป็นแหล่งสุราสถานบันเทิง เขาอยากให้มันดูเฟรนลี่ด้วย ถ้ามาแล้วก็จะได้เจอเพื่อนหลากหลายเชื้อชาติ ได้รู้จักคนหลายประเทศ

เทรนด์ของคนในตอนนี้จะไปข้าวสารเพื่อถือมะพร้าว ทัดดอกไม้ และเซลฟี่ แต่จริงๆ แล้วข้าวสารมีอะไรที่น่าสนใจอีกบ้าง

จริงๆ ข้าวสารมันมีความเป็นย่านเครื่องเงิน มีสถานที่ hidden ซ่อนอยู่ อยากให้ลองมาข้าวสารตอนกลางวันกัน เดินดูช้าๆ ก็จะได้เห็นบรรยากาศอีกรูปแบบหนึ่ง ส่วนถ้าเป็นกลางคืนเราจะเห็นแต่ละร้านตะโกนหาลูกค้า แต่พวกเขาไม่ใช่คู่แข่งกันเสมอไป พนักงานหรือการ์ดแต่ละร้านเขาก็ทำงานด้วยกัน คุยกันได้ เราเข้าใจว่าพอมีคำว่าข้าวสาร มันเลยดูน่าสนใจกว่าบางลำพู แต่ความจริงแล้วมันอยู่ด้วยกันนะ มันคือสิ่งเดียวกัน

เศรษฐกิจในย่านดีขึ้นด้วยหรือเปล่า

เรารู้แค่มันช่วยกระจายรายได้ให้คนในย่านได้บ้าง แต่เรายังไม่มีการบันทึกหรือเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง แค่พูดคุยปากเปล่า เก็บฟีดแบ็กระหว่างทางไปกับคนในพื้นที่ มีป้าบอกว่าคนมาเที่ยวเยอะขึ้นนะ ป้าเปิดร้านนานขึ้นด้วย แต่ในความยั่งยืนและระยะยาวเราไม่รู้หรอกเพราะมันเพิ่งเริ่ม เราไม่กล้าเคลมว่าเราช่วยให้คนเข้ามาที่ย่านเยอะขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวมากันอยู่แล้ว มันเพียงแต่ช่วยกระจายให้คนเดินกันมากขึ้นจากที่กระจุกอยู่ข้าวสารหรือพื้นที่แลนด์มาร์กของย่าน

เสน่ห์บางลำพู

บางลำพูไม่ใช่พื้นที่ติดขนส่งใต้ดินและรถไฟลอยฟ้าทำให้การเดินทางอาจจะมีเหงื่อผุดกันบ้าง แต่ระหว่างนั้นจะได้เห็นชีวิตที่ดำเนินไปแบบเรียบง่าย รอยยิ้มของผู้คนที่ประดับอยู่ตามบ้านเรือนและร้านค้า เสียงหัวเราะของเด็กๆ ที่วิ่งซุกซน มากไปกว่านั้นคือเสียงต้อนรับที่คุณจะรู้สึกว่า ‘ฉันมาถึงบางลำพูแล้วจริงๆ’ เพียงเดินไปที่พิพิธบางลำพู ก็จะได้เจอแววตาใสๆ จากเหล่าไกด์เด็กบางลำพูที่พร้อมจะพาเดินวนชมวิถีจนต้องหลงเสน่ห์ย่านนี้ และลืมร้อนกันไปเลย

ทั้งหลายโปรเจกต์ที่คุณมดเคยทำร่วมกับชาวบ้าน ก็มีน้องๆ อยู่ในขบวนการเสมอ เช่น เทศกาลเสน่ห์บางลำพู ที่เด็กๆ ในย่านรวมตัวกันขึ้นเวทีร้องเล่นเต้นรำ แวดล้อมไปด้วยบรรดาผู้ใหญ่มาสอนงานคราฟต์ ร่วมกันทำเวิร์กช็อปศิลปะชุมชนสร้างสรรค์ แต่กว่าจะเกิดเป็นเทศกาลนี้ได้ ย่อมต้องผ่านอะไรมามากมายเช่นกัน

การทำงานร่วมกับเด็กๆ เป็นยังไงบ้าง

โจทย์คือให้เด็กๆ มีส่วนร่วมใน Bangkok Design Week เทศกาลเสน่ห์บางลำพูหรืองานอื่นๆ ที่จัดในย่าน เรามีกระบวนการเพื่อให้เด็กๆ ได้ช่วยกันคิด ช่วยกันออกแบบร่วมกัน พวกเขาอยู่ในทุกขั้นตอนเลย อยากเป็นอะไร อยากทำอะไร เป็นคนแสดง สตาฟขนของ คนรับลงทะเบียน 

บางคนเขาก็มีความฝันว่าอยากเป็นนางแบบนายแบบ อยากมีชุดเป็นของตัวเอง เราก็ให้เขาลองสเกตช์เสื้อผ้าที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับย่าน มีนักออกแบบช่วยพัฒนาแบบที่พวกเขาวาดไว้ อย่างในงาน Bangkok Design Week ที่ผ่านมาก็จะมีนักศึกษาจากวิทยาลัยเพาะช่าง มาช่วยพัฒนาแบบ ช่วยดูเรื่องการตัดเย็บ ทำให้มันสมบูรณ์ขึ้น สานฝันให้เด็กในย่านนี้ได้มีโอกาสเดินแบบอย่างที่เขาอยากเป็น

เด็กๆ ก็เป็นคนในย่านทั้งหมด พวกเขารู้ดีว่าบ้านเขาเป็นยังไง สิ่งเหล่านี้มันทำให้เขารู้สึกภูมิใจในบ้านของตัวเอง มันยั่งยืนตรงที่ตราบใดที่คนข้างในแข็ง เสน่ห์ของย่านก็จะอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ 

ปลายทางคืออยากให้ที่นี่แมสไปเลยไหม

เราไม่ได้รู้สึกว่ามันต้องแมสนะ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำกับอาจารย์หน่องคือเราต้องรู้สึกสนุกกับงานก่อน แล้วการทำงานที่บางลำพูก็ทำให้เรารู้สึกสนุก ด้วยคนที่เราทำงานและคาแรกเตอร์ย่าน เราอยากผลักดันไปเรื่อยๆ สนุกกับการได้ทำงานกับคนในพื้นที่และเด็กๆ ให้มันเกิดประโยชน์กับเขา เราไม่ได้เป็นฮีโร่ขนาดจะเปลี่ยนคุณภาพชีวิตคนให้ดีขึ้น แค่ทำให้เมืองมันดีขึ้นอีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้คนรู้ว่าพวกเขามีเสน่ห์อะไรโดยไม่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเขา

อาจารย์หน่องเป็นต้นแบบในการทำงานชุมชนของเราอีกคน เขาเคยบอกเราว่า “เราไม่ใช่ฮีโร่ คือเวลาเราทำงานพัฒนาชุมชนเราก็เผลอคิดไปว่าเราช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้น เราเข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน แต่จริงๆ ชีวิตพวกเขาอาจจะดีอยู่แล้ว เราแค่มาทำให้มันดีแบบนี้ไปด้วยกัน” 

ถ้าไม่ใช่ฮีโร่แล้วเราเป็นใคร 

ก็คงเป็นคนในเมืองคนหนึ่งที่อยากอยู่ในเมืองที่ดี ถ้าอยากอยู่ในเมืองที่ดีก็ต้องทำให้มันดี ไม่เคยนึกภาพตัวเองจะมาทำอะไรแบบนี้เลย แต่พอได้มาทำมันก็สนุกดี เราเริ่มไม่รู้สึกว่าเหมือนมาทำงานแล้ว แต่รู้สึกเหมือนที่นี่เป็นบ้าน เป็นเซฟโซนอีกที่หนึ่งของเราไปแล้ว ในอนาคตถ้าเป็นไปได้ก็อยากกลับไปทำอะไรแบบนี้ที่จังหวัดร้อยเอ็ด บ้านเกิดของเราเหมือนกันนะ (ยิ้ม)

คุณมดเป็นคนพูดไม่ค่อยเก่ง เธอมักจะยิ้มแบบเขินๆ และนั่นเป็นอะไรที่น่ารักมาก เธอบอกเราระหว่างพูดคุยกันว่าไม่รู้จะเรียบเรียงคำให้มันสวยงามยังไง แต่ถึงแม้มันจะเป็นคำธรรมดา เราก็สัมผัสได้ว่ามันสวยงาม ไม่ใช่แค่ความตั้งใจที่จะพัฒนาชุมชน แต่ความชอบและความสนุกที่เธอมีได้หลอมรวมเป็นความรักในบางลำพูผ่านสายตาเธอออกมาแล้ว 

เสน่ห์ของบางลำพูคือคนในย่านอย่างป้ายแปะไว้ ระหว่างทางขากลับเราได้มีโอกาสเดินไปตามซอยบนที่แห่งนี้ ต้องยอมรับเลยล่ะว่ากลิ่นของบางลำพูยังหอมหวนอยู่จริงๆ

ขอบคุณภาพประกอบเพิ่มเติมจากก่อเกียรติ กิตติโสภณพงศ์ และวีระพล สิงห์น้อย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นอยบอย

ช่างภาพที่ชอบนอยเพราะน้ำตาลตก 🥲