‘สู้ๆ ไม่มีอะไรที่เธอทำได้’ เมื่อการให้พลังงานบวกมากเกินไป อาจส่งผลเชิงลบจนกลายเป็นพังพินาศได้

เป็นเรื่องปกติที่คนส่วนใหญ่จะชื่นชอบ ‘คำชม’ หรือ ‘ให้กำลังใจ’ ไม่ว่าจะเป็นคนรับหรือให้ เพราะข้อดีของมันมีมากมาย แต่เคยคิดไหมว่า บางทีพลังงานบวกที่มากเกินไป อาจทำให้ทุกอย่างตีกลับ จนกลายเป็นพลังงานลบได้

แน่นอนว่าการแสดงความเป็นคนบวก มองโลกในแง่ดี คุณลักษณะเหล่านี้ทำให้มนุษย์เราเจริญรุ่งเรือง หากแต่ความคิดเชิงบวกเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหา เมื่อมันทำหน้าที่ ‘ปฏิเสธ’ อารมณ์เชิงลบ ยกตัวอย่างสถานการณ์

เมื่อใครคนหนึ่งตกงาน ผู้คนอาจจะพูดทำนองว่า “คิดบวกเข้าไว้นะ” หรือ “มองโลกในแง่ดีเข้าไว้นะ” แม้จะเป็นคำพูดที่มุ่งหวังเรื่องความเห็นอกเห็นใจ แต่ในความเป็นจริงมันอาจ ‘ปิดกั้น’ สิ่งที่อีกคนต้องการพูดเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังประสบอยู่ได้

หรือ สถานการณ์ที่ใครบางคนเผชิญความสูญเสียในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อาจมีบางคนให้กำลังใจทำนองว่า “ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะมีเหตุผลนะ” แม้ว่าจะเป็นคำพูดที่เชื่อว่าคนฟังจะรู้สึกสบายใจขึ้นได้ แต่ในแง่หนึ่ง มันก็อาจกลายเป็นการพยายามทำให้อีกฝ่าย ‘หลีกเลี่ยง’ ความเจ็บปวดเช่นกัน

ยิ่งอีกฝ่ายกำลังเผชิญสถานการณ์ที่หนักหนา คำพูดที่ต้องการให้มองโลกในแง่บวก ยิ่งกลายเป็นความเจ็บปวดที่ทิ่มแทงมากเท่านั้น เพราะแทนที่จะสามารถแบ่งปันอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงและได้รับการซัปพอร์ตอย่างไม่มีเงื่อนไข คนที่ได้รับความคิดบวกที่มากเกินไปจะพบว่า ความรู้สึกของตนถูกเข้าใจคลาดเคลื่อน ถูกเพิกเฉย หรือถูกมองว่าไร้ค่าโดยสิ้นเชิง

แล้วจะทำอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงกำลังใจดีๆ เชิงลบนี้ได้บ้าง?

It’s Okay to Not Be Okay

ไม่ใช่ชื่อซีรีส์ แต่อยากให้จำไว้ว่า การ ‘ไม่โอเค’ บ้างก็ไม่เป็นไร แทนที่จะมองว่าการมีความรู้สึกเชิงลบเป็นเรื่องผิด แต่คอยเตือนตัวเองว่า ถ้ารู้สึกไม่โอเค ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะมันปกติมากที่จะยอมรับว่าเราก็เหนื่อยล้าจากภาระ ความคิด ความรับผิดชอบ หลายอย่างที่แบกอยู่บนบ่า การยอมรับว่ามันไม่โอเค ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อค้นหาหนทางในการปรับปรุงแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น และก้าวต่อไปโดยที่ปัญหาไม่ได้ถูกซ่อนไว้ภายใต้การหลอกตัวเองว่าทุกอย่างนั้นดีแล้ว

หาทางจัดการอารมณ์โดยไม่ปฏิเสธ

อารมณ์เชิงลบอาจทำให้เกิดความเครียดได้ หากไม่ได้รับการควบคุม แต่เช่นเดียวกันว่าที่อารมณ์เชิงลบสามารถ ‘บอก’ ข้อมูลสำคัญที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ เพราะการเริ่มต้นด้วยการ ‘ยอมรับ’ ว่าความเครียดหรือแรงกดดันในชีวิตที่กำลังเผชิญทำให้เรามีปัญหา จะนำไปสู่การ ‘ทำความเข้าใจ’ ว่าความเครียดนั้นมาจากจุดไหน ส่งผลต่อชีวิตอย่างไร และจะค้นหาวิธีจัดการได้อย่างไร ตรงกันข้าม หากเลือกปฏิเสธและกลบมันไว้ด้วยกำลังใจดีๆ เชิงลบ มีโอกาสที่ความเครียดนั้นจะถูกปิดซ่อน และนำไปสู่ความซับซ้อนของปัญหาด้านสุขภาพจิตและร่างกายมากขึ้นได้

โฟกัสไปที่การรับฟัง

เมื่อมีใครสักคนแสดงอารมณ์ที่ยากจะเข้าใจ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก พยายามอย่าปิดกั้นด้วยคำพูดสวยหรูที่ส่งเสริมพลังงานดีๆ เชิงลบ แต่ให้รับฟังอย่างตั้งใจ เพื่อให้พวกเขารู้ว่าสิ่งที่กำลังรู้สึกนั้นเป็นเรื่องปกติ และมีเราอยู่เคียงข้างเพื่อคอยรับฟัง สิ่งนี้จะทำให้เราได้มองเห็นชัดถึงปัญหาที่แท้จริงในชีวิตเขา และสามารถให้การซัปพอร์ตหรือแนะนำอย่างตรงจุดได้ โดยปราศจากการตัดสิน

เปลี่ยนคำให้กำลังใจเป็นบทสนทนา

เมื่อใครบางคนเล่าสถานการณ์ที่ยากลำบากให้ฟัง ก่อนอื่นลองถามตัวเองว่าเรารู้สึกอย่างไร กังวล เศร้า โกรธ ให้จำไว้ว่านั่นอาจเป็นภาพสะท้อนของคนที่เล่าให้เราฟังเช่นกัน การที่ใครสักคนได้ฟังแล้วพูดว่า “สู้ๆ นะ” “เอาน่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” อาจไม่ได้เป็นกำลังใจหรือช่วยแก้ปัญหาเลย นอกจากฟังดูแล้วเหมือนเป็นการปัดความรำคาญต่อสถานการณ์ของอีกฝ่ายเท่านั้น ดังนั้น หากอีกฝ่ายคือคนที่เราและเขาต่างไว้ใจซึ่งกัน แทนที่จะหาคำพูดเพื่อช่วยให้สบายใจ ลองเปลี่ยนเป็นการสร้างบรรยากาศบางอย่างเพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการสนทนากันอย่างลึกซึ้งขึ้นจะเป็นผลดีกว่า แถมยังเป็นการเสริมสร้างมิตรภาพให้แน่นแฟ้นขึ้นด้วย 

เมื่อกุญแจสำคัญในการรับมือกับพลังงานดีๆ เชิงลบ คือ การเปิดพื้นที่ให้กับอารมณ์ ความรู้สึก ที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม แทนที่จะปิดกั้นมันด้วยคำให้กำลังใจสวยหรูหรือปัดมันออกไปให้พ้นตัว หลังจากนี้เมื่อไหร่ก็ตามที่เราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากบ้าง และหากมีใครเดินมาตบบ่าแล้วพูดว่า “มองโลกในแง่บวกไว้นะ” ให้ลองหันไปยิ้มให้เขาแล้วบอกไปว่า 

“ก็แล้วแต่”

AUTHOR