Adolescence : เลี้ยงลูกอย่างไร(ไม่)ให้เป็นฆาตกร 

สารภาพตามตรงว่าแม้ผู้เขียนจะใช้บริการเน็ตฟลิกซ์มากที่สุดในบรรดาสตรีมมิงทั้งหมด แต่ช่วงหลังมาก็มีหลายโปรแกรมที่ดูไม่จบ-ดูค้าง-เทกลางทาง เป็นผลให้ลิสต์ continued watching ยืดยาวไม่สิ้นสุด จนมีมินิซีรีส์จากอังกฤษเรื่อง Adolescence นี่แหละที่ตราตรึงชนิดหยุดไม่ได้ ดูรวดเดียวจบ แถมยังต้องบอกต่อผู้คนว่า “ดูกันเถอะ มันดีจริงๆ นะ”

Adolescence มีความยาว 4 ตอน ว่าด้วยเจมี่ เด็กชายวัย 13 ขวบที่ตำรวจบุกมาจับถึงบ้านในฐานะผู้ต้องสงสัยว่าฆ่าเพื่อนร่วมชั้นสาว ซีรีส์ได้รับคำชื่นชมมากมาย ทั้งในแง่บทอันเข้มข้น การแสดงอันน่าเชื่อถือและแสนตึงเครียด การวิพากษ์ถึงประเด็นสังคมที่ร่วมสมัย (ถึงขั้นมีการพูดในรัฐสภาของอังกฤษว่าควรฉายซีรีส์นี้ในทุกโรงเรียน) แต่สิ่งที่คนฮือฮามากที่สุดคือการที่ซีรีส์นี้ใช้วิธีถ่ายการแบบ One shot หรือถ่ายยาวรวดเดียวจบโดยที่ไม่ตัดต่อ ทั้งที่แต่ละตอนของซีรีส์มีความยาวราวหนึ่งชั่วโมง!

ต้องเกริ่นก่อนว่าการถ่ายแบบ One shot นั้นมี 2 แบบใหญ่ๆ หนึ่ง-Actual one-shot คือการถ่ายเทคเดียวจริงๆ และสอง-การถ่ายที่ ‘เหมือน’ จะเป็น One shot แต่ที่จริงแล้วเป็นการถ่ายมากกว่าหนึ่งเทค แล้วเอามาตัดต่อให้ดูแนบเนียนว่าเป็นเทคเดียว (จะเรียกว่า One shot เทียมก็ได้) ตัวอย่างหนังดังๆ ก็เช่น Birdman (2014) หรือ 1917 (2019) ซึ่งกรณีของ Adolescence เป็น One shot แบบ ‘ของแท้’ แน่นอน ตามที่เห็นในวิดีโอเบื้องหลังการถ่ายทำที่มีให้ดูมากมาย

ความยากสาหัสของ One shot คือ หากมีความผิดพลาด เช่น นักแสดงลืมบท หรือทีมกล้องสะดุดล้ม (สมมติ) แปลว่าทุกอย่างพัง ต้องเริ่มใหม่ทุกอย่าง หัวใจสำคัญของถ่ายแบบนี้คือการซ้อม ซ้อม และซ้อมนั่นเอง ฝ่ายนักแสดงนอกจากบทพูดแล้ว ยังต้องจดจำตำแหน่งและการเคลื่อนไหวของตัวละคร ส่วนฝ่ายทีมกล้องเองก็ต้องซ้อมการเคลื่อนกล้องเช่นกัน จนผู้กำกับภาพให้สัมภาษณ์ว่ามันกลายเป็น muscle memory เลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี เทคนิค One shot ของ Adolescence ไม่ได้ทำไปเพื่อโอ้อวดโชว์ของ ผู้สร้างกล่าวว่าเขาเลือกวิธีการนี้เพื่อเป็นการบังคับให้คนดูจดจ่อหรืออยู่กับเหล่าตัวละครอย่างกลายๆ และด้วยการไม่ตัดต่อผู้ชมจะรู้สึกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมันช่างจริงแสนจริง ประกอบกับตัวบทที่ไม่ได้หวือหวาเกินชีวิตจริง ถึงจุดหนึ่งเราเริ่มรู้สึกว่า “เรื่องพวกนี้มันก็อาจจะเกิดกับฉันได้” เช่นว่า ลูกฉันหลานฉันน้องฉันจะทำอะไรแบบนี้หรือเปล่า เป็นไปตามเป้าประสงค์ของผู้สร้างที่บอกว่าแก่นเรื่องของซีรีส์คือการสะท้อนความเป็นจริงของโลกทุกวันนี้ 

ข้อดีอีกอย่างของ Adolescence คือมันไม่ใช่ซีรีส์แนวจิตวิเคราะห์ที่มาโฟกัสว่าเจมี่ฆ่าคนจริงหรือไม่ ฆ่าไปเพราะอะไร แต่เลือกขยายมุมมองไปเล่าถึงมิติอื่นๆ ของเจมี่ด้วย อย่างตอนที่ 2 เล่าถึงโรงเรียนของเจมี่ ซึ่งเป็นสถานที่บ่มเพาะให้เขากลายเป็นคนอย่างที่เขาเป็น ช่วงที่ขนลุกที่สุดคือตอนที่นักเรียนคนหนึ่งอธิบายความหมายของอีโมจิที่เด็กเจนอัลฟ่าใช้กัน ซึ่งทำให้เราตระหนักว่านี่เป็นโลกที่เราไม่รู้จักเอาเสียเลย และมันอาจจะดำมืดกว่าที่เราคิด อย่างที่ตอนนี้ยังบอกเล่าถึงแนวคิดแบบ Incel, ชายเป็นใหญ่, ความเกลียดชังต่อผู้หญิง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญยิ่งในยุคที่คนอย่าง แอนดรูว์ เทต หรือ อีลอน มัสก์ ยังมีอิทธิพลอยู่

ในแง่เทคนิคการถ่ายทำ ตอนสองก็มีเรื่องน่าพูดถึงเยอะอยู่ ในขณะที่ตอนอื่นๆ ที่ถ่ายในบ้านหรือโรงพักจะเป็นการเซ็ตฉากขึ้นมา ตอนสองนั้นถ่ายในโรงเรียนจริง มีเหล่านักเรียนที่ร่วมแสดงหลักร้อยคน ทำให้การถ่ายแบบ One shot ยิ่งโหดหินไปอีก รวมไปถึงฉากสุดท้ายของอีพีที่เป็นการเอากล้องติดโดรนลอยจากโรงเรียนของเจมี่ไปยังลานจอดรถที่เกิดเหตุฆาตกรรม เพื่อเป็นการเชื่อมโยงว่าในขณะที่เหล่าเด็กๆ ใช้ชีวิตต่อไป บริเวณไม่ไกลนักก็เพิ่งมีนักเรียนคนหนึ่งถูกฆ่าตายไป

ส่วนตอนสามนั้นน่าจะเป็นตอนที่ชวนหายใจไม่ทั่วท้องมากที่สุด มันเล่าถึงการพูดคุยกันระหว่างเจมี่กับนักจิตวิทยาหญิงล้วนๆ ราวหนึ่งชั่วโมง จากที่เราเคยเชื่อว่าเจมี่อาจจะไม่ได้เป็นคนทำหรือมีความผิดพลาดบางอย่าง ตอนนี้จะเปิดเผยให้เห็นความร้ายกาจของเขา แต่จุดที่น่าสนใจคือเจมี่มีทั้งช่วงที่ดูเป็นเด็กวัยรุ่นธรรมดาและจังหวะที่เขาอารมณ์ร้ายจนน่ากลัว มันทำให้ยากจะตัดสินว่าเจมี่เป็นแค่เด็กอารมณ์แปรปรวนหรือเด็กนรกโดยสัมบูรณ์

มีเกร็ดเล็กน้อยแต่สำคัญสำหรับตอนสาม กล่าวคือ โอเวน คูเปอร์ ผู้รับบทเจมี่ แทบไม่เคยมีประสบการณ์แสดงมาก่อน แต่เขากลับต้องถ่ายอีพีสามที่ยากที่สุดเป็นฉากแรก นอกจากนั้นยังมีฉากเล็กๆ ที่ทรงพลังอย่างตอนที่เจมี่ออกจากห้องไปแล้วทุบกระจก จากนั้นกล้องก็มารับหน้านักจิตวิทยาที่น้ำตาไหลได้อย่างพอดิบพอดี หรือแซนด์วิชที่เธอเอามาให้เจมี่ด้วยความหวังดี ในตอนท้ายเธอแทบไม่อยากแตะมันด้วยซ้ำ อาจสะท้อนถึงทัศนคติต่อเจมี่ของเธอที่เปลี่ยนไป 

น่าแปลกดีในตอนสี่ของ Adolescence ไม่มีการปรากฏตัวของเจมี่เลย แต่ซีรีส์กลับเลือกเล่าถึงครอบครัวของเขา ผู้สร้างบอกว่าต้องการสะท้อนถึง ‘ผลกระทบ’ ที่ครอบครัวได้รับ นัยว่าบางทีคนรอบข้างก็เจ็บปวดพอกันหรืออาจจะมากกว่า ซึ่งความตั้งใจอย่างแน่วแน่ของผู้สร้างคือการไม่โทษครอบครัวเด็ดขาด พวกเขาเลยเลี่ยงการนำเสนอตัวละครแบบซ้ำซาก ประเภทพ่อซ้อมลูก-แม่ติดเหล้า-ลูกกลายเป็นเด็กมีปัญหา เราจะเห็นว่าครอบครัวของเจมี่อาจไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่มันห่างไกลจากคำว่าบกพร่อง มันจึงยิ่งน่าเจ็บปวดกับการตั้งคำถามว่าความผิดพลาดมันเกิดขึ้นตรงไหน เมื่อไร จากใคร

ช่วงที่ซีรีส์เป็นกระแสไวรัล เพื่อนผู้หญิงของผู้เขียนส่งคำถามมาว่า “นี่เราควรดูมั้ย ดาร์คมากเปล่าอะ ลูกชายเราเพิ่ง 8 ขวบ เรายังอยากโลกสวยอยู่” แน่นอนว่า Adolescence เป็นผลงานที่ดีควรค่าแก่การดู ส่งผลต่อการรู้เท่าทันโลก แต่มันอาจสร้างบาดแผลทางอารมณ์กับคนเป็นพ่อเป็นแม่พอสมควร ผู้เขียนจึงลังเลในคำตอบ เช่นเดียวกับพ่อแม่ของเจมี่ในตอนจบที่ตกอยู่ในห้วงความสับสน พวกเขาตั้งคำถามว่าตัวเองเป็นพ่อแม่ดีที่ดีหรือเปล่า พวกเขาอาจพยายามเลี้ยงลูกอย่างดีแล้ว แต่สิ่งเจมี่ทำลงไปก็ช่างเลวร้ายเหลือทน จนทำให้พวกเขาสรุปได้เพียงว่า “ใช่ พวกเราเป็นพ่อแม่ที่ดี เราตั้งใจเลี้ยงดูเขามา แต่ก็พวกเรานั่นแหละที่ทำให้ลูกเป็นแบบนี้”

AUTHOR