สั่นสะเทือนความจริงที่เคยเชื่อ ไปกับ The Blue Hole ละครเวทีที่พาคุณดำดิ่งลงสู่หลุมลึกในจิตใจของมนุษย์ 

มีคนเคยพูดว่า ละครหรือภาพยนตร์ไม่ได้เป็นเพียงสื่อที่สร้างความบันเทิงหรือสอดเเทรกเเง่มุมของชีวิตเท่านั้น แต่ยังเป็นศิลปะที่อนุญาตให้มนุษย์ได้เผชิญหน้ากับประสบการณ์ที่บางครั้งก็อธิบายออกมาได้ยาก 

หลังจากได้รับชมละครเวทีเรื่อง ‘The Blue Hole’ ยิ่งเน้นย้ำประโยคที่กล่าวมาข้างต้นเพราะหลังจากม่านปิดลงนักแสดงกลับเข้าไปยังหลังฉาก ความปั่นป่วนที่เคยมีสงัดลง มวลก้อนสารของความรู้สึกและคำถามอันหลากหลายหลั่งไหลเข้ามาภายในหัวของผู้ชมอย่างเราไม่รู้จบ 

ละครเวทีเรื่องนี้อาจทำหน้าที่ก่อสภาวะบางอย่างข้างในของคนดูเพื่อค่อยๆ กะเทาะท่อนส่วนบางชิ้นบางอันที่เราเองก็ไม่เคยรู้ว่ามีอยู่ แต่ไม่ว่าสภาวะนั้นคืออะไร เรามั่นใจว่าคุณจะต่อบทสนทนากับมันได้ยืดยาวมากเลยทีเดียว

‘The Blue Hole’ เรื่องราวสุดโกลาหลเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1982 ณ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพสตรีอันเงียบสงัดนอกเมืองซานฟรานซิสโก เมื่อ ‘Victoria’ หรือ ‘Vicky’ นักดำน้ำในถ้ำมืออาชีพผู้มุ่งมั่นอยากสร้างครอบครัวอันสมบูรณ์แบบ ได้เข้าไปปรึกษาปัญหาภาวะมีบุตรยากกับ ‘Doctor Elizabeth’ สูตินรีแพทย์ชื่อดัง แต่เรื่องราวกลับซับซ้อนขึ้นเมื่ออดีตของเธอค่อยๆ เผยถึงความใฝ่ฝันในวัยสาวซึ่งขัดแย้งกับความต้องการของสามีและสังคม ความชุลมุนวุ่นวายในบทละครจึงเกิดขึ้น เพราะตัวละครต่างตั้งคำถามต่อมายาคติของสังคมและความจริง ยึดติดกับความฝันและอัตตา แต่ขณะเดียวกันพวกเขากลับไม่รู้ตัวเลยว่า ระหว่างที่กำลังต่อสู้กับความซับซ้อนทางความคิดและจิตใจเหล่านี้ พวกเขาเองกำลังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทดลองลับชื่อ ‘The Blue Hole’ 

ละครเวทีซึ่งมีพล็อตเรื่องสลับซับซ้อน มีเนื้อหาที่ลุ่มลึก และมีบทพูดที่ร้อยเรียงไปด้วยปรัชญามากมายนี้ เป็นผลงานการกำกับและเขียนบท โดย ครูส้ม-ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ และ ครูเอ็ม-ดารัณ เมธาพุทธคุณ สองครูสอนการแสดงจาก The Cave Studio ซึ่งทำงานในโปรเจกต์นี้กับเหล่านักแสดงร่วมปี เพื่อนำเสนอละครเวทีที่ผสานศาสตร์ภาพยนตร์อันสมจริงเพื่อกระชาก เขย่า และกะเทาะความเป็นจริงของมนุษย์

ครั้งนี้ a day ได้มีโอกาสในการพูดคุยกับทั้งสองคน เพื่อขุดคุ้ยถึงจุดเริ่มต้นของไอเดีย และแนวคิดเบื้องหลังการแสดงที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกนี้ 

แรงบันดาลใจก่อนพาไปดำดิ่ง


ระหว่างถ่ายภาพยนตร์เรื่อง ‘Thirteen Lives’ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับนักดำน้ำในถ้ำ ทำให้ ครูส้ม-ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ ต้องใช้เวลาไปกับการทำความรู้จักนักดำน้ำ ศึกษาเรื่องของถ้ำต่างๆ จนกระทั่งได้ไปรู้จักกับ ‘The Blue Hole’ 

โดยปกติแล้ว ‘The Great Blue Hole’ คือหลุมลึกกลางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งของประเทศเบลีซ ราว 70 กิโลเมตร พื้นที่บริเวณนี้เป็นจุดมุ่งหมายของนักดำน้ำ รวมถึงนักสำรวจถ้ำทั่วโลก เนื่องด้วยความสวยงาม และความน่าพิศวงของมัน 

แม้จะมีเรื่องเล่าขานมากมายที่กล่าวว่าหลุมนี้เป็นเสมือนกับดักที่ลวงล่อเหล่าคนมีฝันมากมายให้ไปจบชีวิตลงในก้นมหาสมุทรนั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแม้จะรู้ว่าชีวิตอาจถึงจุดจบได้ แต่เพราะความงดงามของมัน มนุษย์ก็พร้อมที่จะดำดิ่งลงไปในหลุมยักษ์นั้นอยู่ดี 

“The Blue Hole เป็นเหมือนพื้นที่ต้องคำสาป เพราะเมื่อนักดำน้ำดำลงไปแล้ว พอไปถึงจุดหนึ่งเขาจะไม่แน่ใจว่าควรดำลงต่อไปหรือควรกลับดี และบางทีสารฮีเลียมในถังออกซิเจนที่ทำให้เกิดภาวะ  Nitrogen Narcosis ซึ่งเป็นอาการทางสมอง ทำให้เกิดภาพหลอน หรืออยู่ๆ ก็เบลอในตัวเอง และอาจเข้าใจว่าก้นมหาสมุทรคือทางขึ้นแล้วก็ดำดิ่งลงไป แต่พอถึงก้นมหาสมุทรออกซิเจนที่มีก็ไม่พอที่จะขึ้นมาได้อีกแล้ว” 

ครูส้มเล่าถึงความน่าสนใจของหลุมลึกกลางทะเลนี้ให้พวกเราฟัง ก่อนที่จะแบ่งปันมุมมองในชีวิตของเธอซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจในการสร้างละครเวทีเรื่องนี้เช่นเดียวกัน 

“ส้มเองด้วยความเป็นผู้หญิง พอถึงจุดที่อายุเข้าวัย 35 – 36 ปี เราเกิดภาวะที่ตั้งคำถามกับตัวเองต่อเรื่องของการมีครอบครัว การมีลูก หรือว่าจริงๆ แล้วเราอยากจะทำตามความฝันของเราในฐานะศิลปิน ครู นักแสดง จริงๆ ไม่ใช่แค่เรา แต่คนรอบข้าง และสังคมก็เริ่มตั้งคำถามนี้กับเราเหมือนกัน คือเราไม่ได้อยากคิดตอนนี้หรอก แต่เพราะนาฬิกาชีวภาพ และคำถามเหล่านี้มันกดดันให้เราต้องคิดถึงสิ่งนี้” 

“พอทั้งสองเรื่องนี้เป็นประสบการณ์ที่เราสั่งสมมาเป็นปีๆ จนกระทั่งเราได้ตกผลึกกับมัน เราก็เลยรู้สึกว่าเรื่องนี้มันเหมือนกับสภาวะของผู้หญิงที่ต้องตัดสินใจและไม่แน่ใจว่าทางไหนคือทางขึ้นหรือทางลงกันแน่ เราเลยอยากทำละครสักเรื่องที่ลึกซึ้ง เป็นบทละครที่สื่อความเป็นจริงของมนุษย์ และความเป็นผู้หญิงออกมา”

ดำดิ่งลงไปในความลวง เพื่อหวนสู่คำถามถึงความจริง 

“ผมเคยได้ยินคำพูดที่ว่า มนุษย์คือสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบจนน่าทึ่ง จนบางครั้งแม้แต่เทพเจ้าเองยังอดอิจฉามนุษย์ไม่ได้ แน่นอนว่าเราไม่มีพลัง ไม่มีอะไรเทียบเท่ากับเหล่าเทพได้เลย แต่สิ่งหนึ่งที่มนุษย์มีคือทางเลือก เรามีเจตจำนงเสรี (Free will) เรามีความสามารถในการที่จะพิจารณามันก่อนเลือกเสมอ”

ครูเอ็มได้อ้างอิงถึงแนวคิดทางปรัชญาและศาสนาเพื่อที่เราจะเข้าสู่การอธิบายว่า ถึงแม้มนุษย์เองจะแสนเปราะบางแต่เรายังคงมีเจตจำนงเสรีอยู่เสมอ ซึ่งประเด็นเรื่อง ‘อิสรภาพ’ และ ‘ทางเลือก’ คือสารสำคัญที่ละครเวทีเรื่องนี้กำลังพยายามตั้งคำถามถึง ขณะเดียวกันครูส้มเองก็พยายามอธิบายถึงสิ่งที่จะตามมา 

“การเลือกชอยซ์ การทำในสิ่งที่อยากทำบางทีอาจฟังดูง่าย แต่การเลือกของเรามันมีความรับผิดชอบที่ต้องตามมาเสมอ อย่างตัวส้มเอง เราไม่ได้ตามหาอิสรภาพแบบที่บางคนเข้าใจว่ามันคือความเป็นศิลปินแบบสุขนิยม ชิลๆ ใช้ชีวิตสบายๆ แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันไม่มีคำว่าสุขนิยมนะ ในการทำงานทุกๆ วัน และทุกๆ วินาที มันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พอเราเลือกชอยซ์ด้วยตัวเอง ถึงแม้มันจะเป็นโซ่บางอย่างที่คล้องตัวเราไว้ แต่อย่างน้อยมันคือโซ่ที่เราคล้องด้วยตัวเราเอง ซึ่งแน่นอนว่ามันก็มาพร้อมกับการทำงานที่จะต้องเข้มข้น ต้องอุทิศตัวให้กับงาน แล้วก็ต้องตามมาด้วยวิธีการที่จะทำงานศิลปะนั้นให้สำเร็จด้วย” 

การเข้าถึงอิสรภาพที่แท้จริงอาจดูเป็นสิ่งที่นามธรรมมากเสียจนผู้อ่านบางคนอาจไม่สามารถเข้าใจได้เลย หรืออันที่จริงแล้วเป็นเพราะสังคมที่ห่มคลุมเราอยู่นั้นไม่ได้สนับสนุนให้เรารู้สึก เข้าถึง หรือเข้าใจในอิสระได้อย่างแท้จริง ซึ่งนอกเสียจากสังคมจะมีความสัมพันธ์อย่างตรงไปตรงมากับอิสระทางกายของมนุษย์แล้ว สังคมยังเป็นส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมกรอบทางจิตใจให้มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อกักขังตัวเองจากอิสรภาพด้วยเช่นกัน

“กรอบทางสังคม และกรอบทางความคิดของตัวเรา ที่เข้ามามีอิทธิพลจนทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงอิสรภาพได้อย่างแท้จริง ผู้หญิงในยุคนี้เราอาจจะมีอิสรภาพมากกว่าแต่ก่อน เราอาจจะไม่ได้ถูกกดดันขนาดนั้นแล้ว แต่อิสรภาพที่เรามีทุกวันนี้มันต้องผ่านอะไรมาหลายอย่างเหลือเกิน และจริงๆ แล้วภาพมายาคติที่เราสร้างขึ้นจากความทรงจำ หรือความเจ็บปวดในอดีตบางอย่างก็เป็นกรอบที่ครอบตัวเราไว้อีกทีเหมือนกัน ส้มเลยลองตั้งคำถามว่า ‘แล้วในตัวเราเองมันมีอะไรที่จริงบ้างไหม?’ ถ้าหากในความทรงจำของเรามันประกอบไปด้วยภาพลวงตาเยอะมากเลย แล้วสุดท้ายอะไรคือความจริงที่แท้จริงกันแน่” 

การตั้งคำถามเกี่ยวกับความจริงและจิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่มนุษย์หลายพันปีมาแล้วก็ได้พยายามให้นิยามและตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ นักปรัชญามากมายพยายามให้คำอธิบาย เช่นเดียวกับคำถามที่ว่าแล้วสิ่งที่จับต้องไม่ได้มันมีอยู่จริงหรือเปล่า โดยในเนื้อเรื่องก็เป็นการต่อสู่กันระหว่างความเป็นจริง กับสิ่งที่จับต้องไม่ได้ และเพราะความทรงจำทำให้เราเป็นเราจนถึงทุกวันนี้ แต่เมื่อตัวเราถูกประกอบสร้างมาด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งความทรงจำ ภาพมายาคติของสังคม รวมถึงคาดหวังของผู้อื่น หากเป็นเช่นนั้น ครูส้มจึงตั้งคำถามถึงความจริงหลากหลายชุดที่มันผสมปนเปกันในตัวตนของเรา ก่อนจะทิ้งคำถามให้ชวนสงสัยว่าแล้วความจริงที่ว่านั้นมีจริงหรือไม่กันแน่

“หัวใจสำคัญของละครเราก็คือการตั้งคำถาม เราตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วกรอบเหล่านั้นมีจริงไหมสำหรับเรา และมีจริงแค่ไหน ซึ่งแน่นอนว่าคนที่อยู่ในสังคมต่างกัน บริบทต่างกัน ก็มีกรอบที่ไม่เท่ากันอยู่แล้ว บางครั้งเราคิดว่าเราถูกกรอบอะไรบางอย่างครอบไว้ แต่ปรากฏว่าพอเราได้เลือกชอยซ์ ได้ลองทำในสิ่งที่อยากทำ กลับกลายเป็นว่ากรอบนั้นมันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด” ครูเอ็มทิ้งท้ายถึงมายาคติที่สังคมได้สร้างขึ้นผ่านทัศนะของละครเวทีเรื่องนี้  

โรงพยาบาลแห่งความป่วยไข้ พื้นที่ปลอดภัยในเบื้องลึกจิตใจมนุษย์

โรงพยาบาลจิตเวชอาจดูไม่ใช่พื้นที่ซึ่งน่าอภิรมณ์เท่าไหร่ เพราะคนนอกอาจมองว่ามันคือแหล่งพักฟื้นของคนป่วยไข้ทางใจ แต่หากพูดถึงพื้นที่ที่เราสามารถดำดิ่งลงไปในความรู้สึกนึกคิดและจิตใจ โรงพยาบาลจิตเวชอาจเป็นสถานที่ที่น่าสนใจไม่น้อย ในการเป็นฉากหลังของเรื่องราวโกลาหลทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในละครเวทีเรื่องนี้ 

“ด้วยความที่ละครเรื่องนี้มันกำลังพูดถึงสิ่งที่อยู่ในจิตใจ เราก็เลยเล่าผ่านพื้นที่ของโรงพยาบาลที่รักษาทางด้านสูตินรีเวชและจิตเวชในเวลาเดียวกัน พอสร้างฉากมาเป็นแบบนี้แล้วมันกลายเป็นว่า เรามีพื้นที่ในการให้ตัวละครได้สื่อสารถึงสิ่งที่อยู่ในจิตใจของพวกเขาได้จริงๆ มนุษย์เรามันมีสิ่งที่เรียกว่าจิตสำนึก และจิตไร้สำนึกอยู่ และในโรงพยาบาลจิตเวช หลายๆ ครั้งสิ่งนั้นมันหายไป กรอบต่างๆ การตัดสิน เราจึงมองว่าพื้นที่ตรงนี้มันปลอดภัยในการพูดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ตัวละครเองได้เผชิญมา” 

“ในฐานะของผู้หญิง บางครั้งเราอาจจะมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมในการสนทนา ส้มเคยพูดคุยกับผู้ชายคนหนึ่ง แล้วแค่เราสื่อสารออกมาด้วยความรู้สึก ด้วยจิตวิญญาณของเรา ไม่ต้องถึงขั้นมีอาการทางจิตหรอก เราแค่พูดความจริงที่เรารู้สึก คู่สนทนาเขาก็พูดขึ้นมาเลยว่า ‘นี่จะเป็นประจำเดือนหรือเปล่า ฮอร์โมนกำลังมาหรือเปล่า’ ซึ่งการสื่อสารเรื่องภายในจิตใจแบบนี้มันถูกตีความว่าเป็นสภาวะผิดปกติของฮอร์โมน ในขณะที่เราเป็นแค่มนุษย์ที่สื่อความจริงจากหัวใจเองนะ” 

ฉากหลังของละคร คือการย้อนกลับไปในยุคสมัย 1980s ซึ่งเป็นช่วงยุคเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางการแพทย์ และการต่อสู้ทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสิทธิสตรี เพราะฉะนั้นในทางหนึ่งนอกจากพื้นที่ของโรงพยาบาลจะปลอดภัยสำหรับตัวละครที่อยากปลดปล่อยเบื้องลึกในจิตใจแล้ว ในแง่ของการสังเคราะห์และตีความ โรงพยาบาลแห่งนี้ยังเปรียบเสมือนกับสังคมหนึ่งๆ ด้วยเช่นกัน 

“ในมุมมองของส้ม โรงพยาบาลแห่งนี้มันก็เป็นสัญญะที่สื่อถึงองค์กรต่างๆ ที่ควบคุมเราอยู่ในทุก ระดับ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน มหาวิทยาลัย รัฐบาล ระบบทุนนิยม ทุกอย่างที่ควบคุมมนุษย์อยู่ ซึ่งการพูดถึงผู้หญิงก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงสังคมด้วย” ครูส้มเปรียบเปรยขึ้นมาเพื่อชวนให้เราคิดถึงภาพใหญ่อีกภาพที่ละครเรื่องนี้ได้นำเสนอต่อผู้ชม 

ปล่อยให้ชีวิตของตัวละครได้โลดเเล่น

ในด้านของกระบวนการสร้างสรรค์งาน ครูส้มและครูเอ็มให้ความสำคัญกับความสมเหตุสมผลในการตัดสินใจของตัวละคร พวกเขาจะถอยออกมาเพื่อดูว่าตัวละครควรจะมีเส้นทางชีวิตแบบไหนผ่านความน่าจะเป็นในทางออกของตัวละครเอง ดังนั้นในการเเคสติงนักแสดงจึงสำคัญมากๆ นักแสดงในเรื่องนี้ต้องผ่านการวิเคราะห์บท ทำความเข้าใจตัวละคร ศึกษาในอาชีพที่พวกเขารับบทอยู่จริงๆ

“ละครเวทีเรื่องนี้มีนักแสดง 2 ชุดเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับบทละคร นักแสดงที่รับบทเป็น ’วิกกี้’ (ตัวละครเอกที่เป็นนักดำน้ำหญิง) ต้องไปเรียนดำน้ำจริงๆ เพื่อทำความเข้าใจว่าคนที่ทำอาชีพนี้เขาเผชิญกับอะไรบ้าง ด้านนักแสดงอีกคนเป็นนักดำน้ำจริงๆ แต่เขาก็ยังต้องไปศึกษาการดำน้ำในถ้ำ เพราะทั้งสองศาสตร์มีข้อแตกต่างกันอยู่” ครูเอ็มเล่าถึงการทำงานกับนักแสดงที่ต้องมีความจริงจังในเรื่องการทำรีเสริชและเวิร์กช็อปเป็นอย่างมาก

“เราให้นักแสดงที่รับบทเป็น ‘เท็ด’ (ตัวละครศาสตราจารย์ด้านอักษรศาสตร์และสามีของวิกกี้) ไปอ่านปรัชญาที่ถูกพูดถึงในบท และกลับมาเลกเชอร์ให้ทุกคนฟังจริงๆ เพราะตัวละครของเขาพิจารณาในสิ่งนั้นอยู่” ครูส้มช่วยเสริมถึงกระบวนการที่ทำให้นักแสดงเข้าใจตัวละครมากยิ่งขึ้น

ที่สำคัญผู้สร้าง The Blue Hole เลือกตัดสินใจทำในสิ่งที่ยากและท้าทายอย่างการนำศาสตร์การเเสดงแบบภาพยนตร์มาใช้กับละครเวทีเรื่องนี้ นักแสดงในเรื่องจะใช้เสียงในแบบที่คนธรรมดาใช้บนเวที ซึ่งโดยปกติแล้วนักแสดงละครเวทีจะต้องโปรเจกต์เสียงเพื่อให้คนดูได้ยินชัดเจน แต่ในเรื่องนี้ตัวละครต้องเผชิญกับสภาวะ Blue Hole ที่เกิดความขัดแย้งอยู่ภายในจิตใจ สิ่งเหล่านี้จะไม่มีทางปรากฏตนออกมาผ่านเสียงที่ดังฟังชัด ดังนั้นเมื่อทำการแสดงการพูดเสียงเบาบ้าง ดังบ้าง หรือกระทั่งงึมงำไปเลยอาจจะสะท้อนสภาวะภายในของตัวละครได้มากกว่า แต่ความยากคือทีมงานต้องวางแผนเรื่องเสียงกันอย่างหนักภายใต้ข้อจำกัดที่มี 

Psychological Thriller’ 

กลอุบายที่กระชากเราออกจากความเชื่อเดิม

คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครสักคนจะสามารถถ่ายทอดสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างความรู้สึกภายในของมนุษย์ ให้ไหลโอนไปสู่ใครอีกหลายคนได้ แรกเริ่มเดิมทีละครเวทีเรื่องนี้เป็นบทกวีที่มีความนามธรรมมาก่อน หลังจากนั้นพวกเขาจึงค่อยๆ ช่วยกันก่อร่างนามธรรมให้กลายมาเป็นรูปธรรมที่พอจะจับต้องได้ออกมา ผ่านนักแสดง ฉาก เรื่องราว โดยที่ยังคงความรู้สึกภายในที่มีความละเอียดอ่อนสูงซึ่งเป็นสารตั้งต้นเอาไว้ จากนั้นจึงพบว่าพวกเขาควรจะเล่าเรื่องแบบ Realistic ที่บ่มรอช่วงระเบิดความ Surreal ออกมาผ่านการแสดงอารมณ์ที่เข้มข้นสูงของนักแสดง 

ทั้งคู่คิดว่าการเล่าเรื่องแบบ Thriller จังหวะที่ลุ้นระลึก ความหวาดหวั่นในฉากถัดไป สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ ทลายกำแพงในใจของคนดู ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ความตื่นเต้นตกใจจะพาเราออกจากความปลอดภัยเดิมที่ตัวเองกอดเอาไว้อยู่ และจังหวะนั้นแหละที่เรื่องเล่าหรือสารที่ผู้สร้างต้องการถ่ายโอนจะเจาะทะลุเข้าไปในจิตใจผู้คนได้ 

แต่การที่จะสร้างความรู้สึกเหล่านั้นให้เกิดขึ้นกับคนดูก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นสิ่งที่ทั้งสองคนต้องทำการบ้านอย่างหนักเลยคือเรื่องความจริงของสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาหยิบจับมาใช้ 

“Psychology คือการที่เราใช้จิตวิทยาและอารมณ์ที่ซับซ้อนของมนุษย์แสดงออกไปให้คนดูรับรู้ ในระหว่างที่ความเป็น Thriller จะเข้ามาสร้างสภาวะที่กะเทาะบางอย่างในใจเขาออกไปเเล้ว” ครูส้มอธิบายสิ่งที่เธอพยายามใช้เป็นกลอุบายในการถ่ายทอดประเด็นที่ละครเวทีเรื่องนี้อยากจะเล่า

คราบน้ำตา และการพังทลายภายใน 
ซากปรักหักพังของอาชีพนักแสดง

ฉากกรีดร้องโหยหวนและเสียงร่ำไห้ติดตรึงตกค้างอยู่ในห้องแสดงละครจบลง เหล่านักแสดงถอดหมวกของมนุษย์ผู้ล่มสลายวางทิ้งไว้บนเวทีและเดินกลับเข้าหลังม่านไปด้วยใจที่เบิกบาน

 นี่คือหมุดหมายและความตั้งใจของครูส้มและครูเอ็มที่ตั้งใจก่อตั้ง The Cave Studio มาเพื่อให้เหล่านักแสดงเลือดใหม่ไม่ต้องมีบาดเจ็บทางใจจากการถอดตัวละครไม่ออก ตัวครูส้มเอง เธอก็เป็นนักแสดงตั้งแต่ยังเด็กและแตกสลายทางจิตใจจากการเข้าไปเป็นตัวละคร นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอต้องพาตัวเองออกไปศึกษาเทคนิคที่นักแสดงจะไม่ต้องเผชิญกับความรู้สึกแบบเดียวกับที่เธอเจอ และกลับมาเพื่อส่งต่อเทคนิคเหล่านั้นให้กับคนรุ่นใหม่ เธอตั้งใจที่จะลบล้างความเชื่อที่ว่านักแสดงต้องยอมให้ตัวละครกลืนกินตัวเองเข้าไปเพื่อมุ่งไปสู่ความสมจริง

สิ่งเหล่านี้ถูกพิสูจน์ด้วยการที่นักแสดงของเธอในเรื่องนี้ล้วนรับบทที่รุนแรง แต่เมื่อพวกเขาเล่นจบก็สามารถที่จะเดินออกมาจากตัวละครได้อย่างสบายใจ

“ที่ The Cave Studio เราให้ความสำคัญกับเรื่องความทรงจำ เพราะการที่เราจะกลายเป็นใครสักคน ขึ้นอยู่กับว่าเรามีความทรงจำของเขาไหม ที่ทุกวันนี้เราเป็นเรา เพราะความทรงจำที่ผ่านมาของตัวเองฝังอยู่ในห้วงความคิด ในศาสตร์ของการเเสดงจะมีวิธีการฝึกสร้างความทรงจำ เพื่อให้นักแสดงสามารถหยิบสิ่งเหล่านั้นมาใช้ตอนเป็นตัวละครได้ จริงๆ แล้วความรู้สึกของการพังทลายมักจะเกิดจากภาพความทรงจำที่ดีนั่นแหละ เช่น เมื่อเราสูญเสียคนที่รัก ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นอาจคือการที่เราคิดถึงความทรงจำดีๆ ที่มีร่วมกัน การที่นักแสดงจะรู้สึกเสียใจ เราต้องทำให้เขามีความทรงจำที่ดีอยู่ภายในก่อน” ครูเอ็มเล่าถึงวิธีทำงานที่สร้างความเข้นข้นให้กับอารมณ์ของตัวละคร ในขณะเดียวกันก็ทำให้นักแสดงไม่ใช้ตัวเองเข้าไปอยู่ในบท

และอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของ The Cave Studio คืออยากสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสโชว์ของและการสร้างสรรค์งานศิลปะของตัวเอง ครูส้มและครูเอ็มเองรู้สึกว่านักเรียนของพวกเขาฝึกมานานและมีฝีมือมากๆ ทั้งคู่จึงอยากให้พวกเขาได้เล่นเป็นตัวละครที่ซับซ้อนและมีความลุ่มลึก นับเป็นอีกเหตุผลที่พวกเขาตัดสินใจสร้างละครเวทีเรื่องนี้ขึ้นมา

การตกผลึกทางความคิดของคนดู ของขวัญของคนทำงานศิลปะ

เพราะการทำละครเวทีได้สร้างความสัมพันธ์บางอย่างระหว่างผู้สร้างและผู้ดู ไม่ว่าต้นทางจะคืออะไร หากคนดูรับเอาส่วนเสี้ยวที่ผู้สร้างได้หว่านเมล็ดไว้ให้โตงอกงามภายในของเขา จะถูกต้องตรงกันหรือเฉไปคนละทาง อาจไม่สำคัญเท่ากับการที่พวกเขาต่อยอดอะไรบางอย่างจากสิ่งที่คนทำได้บ่มก่อเอาไว้ เพียงเท่านี้ก็เป็นของขวัญสำหรับคนสร้างสรรค์งานศิลปะแล้ว 

“รู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นไอเดียที่เราทำมีชีวิตของเขาเอง และยังสามารถส่งต่ออะไรบางอย่างไปให้คนอื่นๆ ได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ผมได้ตกหลุมรักการเเสดง เพราะทำให้เราได้เข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น” ครูเอ็มบอกเล่าด้วยสายตาที่เป็นประกาย ณ วินาทีนั้นเราเชื่อว่าเขาศรัทธาในสิ่งเหล่านี้จริงๆ 

“ผู้ชมหลายคนเดินเข้ามาคุยกับเราว่าเขาแบลงก์ไปหลังจากละครจบ แต่พอสักพักเมื่อความคิดอุ่นมากขึ้นเขาก็มีความคิดมากมายเกิดขึ้น รู้สึกมีความสุขที่ผลงานของเราทำให้เขาได้มองโลกในมุมใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งมองเห็นมุมที่มีอยู่แล้วแต่เผลอลืมเลือนไป การที่ได้ฟังว่าคนดูคิดอะไรเป็นเหมือนของขวัญที่ทำให้หายเหนื่อยไปเลย เพราะบางสิ่งที่เขาพูดมามันอยู่ในจิตใต้สำนึกของเราด้วยซ้ำ แต่เขาสัมผัสได้ สิ่งนี้          มันมหัศจรรย์สำหรับเรามากๆ และการได้ทำงานกับคนรุ่นใหม่ทำให้เราศรัทธากับโลกใบนี้ เพราะพวกเขาลึกซึ้ง มุ่งมั่น มันคุ้มค่ามากๆ กับผลตอบเเทนที่เราได้รับกลับมา” ครูส้มพูดถึงของขวัญที่เธอได้รับจากการสร้างละครเวทีเรื่องนี้ด้วยความสุข

The Blue Hole อันลื่นไหลที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

ไม่ว่าสุดท้ายแล้ว The Blue Hole จะคืออะไรในละครเวทีเรื่องนี้ แต่ทันทีที่ดูจบทุกคนก็คงจะมีความหมายเกี่ยวกับสิ่งนี้เป็นของตัวเอง และสำหรับตัวคนเขียนบทละครเองก็ได้ตกผลึกเกี่ยวกับสภาวะนี้ไปไกลมากกว่าตอนเริ่มต้นแล้ว ไม่ว่าพวกเขาจะก้าวไปถึง Blue Hole ที่ตั้งไว้หรือไม่ แต่ระหว่างทางก็ได้ฝากฝังความหมายที่สำคัญต่อตัวตนเเละอัตตาของพวกเขาแน่นอน

“ผมมองว่าทุกคนมีสภาวะ Blue Hole นี้อยู่ในตัว บางคนอาจจะมองว่ามันเป็นหลุมดำหรืออะไรบางอย่างที่ทำร้ายตัวเอง เป็น High Pressure ที่เกิดขึ้น แต่สำหรับผม ทุกครั้งที่ผมเจอสถานการณ์ที่ยากลำบากกลับทำให้ผมพัฒนาขึ้น เลยนึกได้ว่าบางครั้งปัญหาหรือวิกฤตก็ส่งผลดีต่อตัวเรา สำหรับผมแล้ว Blue Hole จะเป็นสถานที่ที่สวยงาม เป็นแรงบันดาลใจใหม่ๆ หรือเป็นหลุมดำที่กลืนกินตัวเรา สำหรับผม Blue Hole มันเลยเป็นอะไรที่เปลี่ยนเเปลงได้ตลอดเวลา สุดท้ายมันคืออิสรภาพและทางเลือกที่เราจะเลือกว่าให้สิ่งนี้เป็นอะไร”

“ณ ตอนนี้ของชีวิต ส้มกำลังพยายามพิจารณาถึงสภาวะที่ไร้ตัวตนของสิ่งที่จับต้องไม่ได้ การทำงานสร้างสรรค์ที่เรากำลังทำอยู่ มันคือทางเลือกที่เอาโซ่มาคล้องคอตัวเองด้วยตัวเอง แน่นอนว่าคนทำงานเหล่านี้มันมีอัตตาอยู่แล้ว เราจึงพยายามเข้าสู่สภาวะ Blue Hole ในเชิงละวางอัตตาตัวเองมากกว่า เราจะวางตัวตนได้อย่างไร ในขณะที่ยังคงทำงานต่างๆ ได้อยู่ นี่คือสเต็ปถัดไปที่เราเองกำลังจะพาตัวเองไป จริงๆ สิ่งที่ช่วยได้มากๆ คือกัลยาณมิตรที่ช่วยชี้ให้เห็นว่าเราถืออัตตาแบบไหนไว้บ้าง พอเริ่มมองเห็นสิ่งเหล่านี้ เราก็จะเริ่มเเก้ปัญหาไปได้”

AUTHOR