จาก ‘เนติวิทย์’ สู่ ‘คธา’ ในหวานรักต้องห้าม ถึงเวลาของตัวละครแอคทิวิสต์ในสื่อกระแสหลักยุคนี้

“ชุมชนเต่าหลวงเสนาะเป็นชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตที่มีคุณค่ามาก แต่มหา’ลัยเอาพื้นที่ตรงนี้ไปให้นายทุนเช่าทำศูนย์การค้าที่มีอยู่แล้วไม่รู้กี่ที่เกลื่อนทั้งเมือง มหาวิทยาลัยธนบดินทร์เป็นมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติและมีประวัติมาอย่างยาวนาน ผมว่ามหา’ลัยควรทำประโยชน์ด้านการศึกษาและทำเพื่อสังคมมากกว่านี้”

หลังจากได้ยินประโยคนี้จากตัวละคร ‘คธา’ พระเอกในเรื่อง ‘หวานรักต้องห้าม’ ที่ออนแอร์ผ่านทางช่อง 3 เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกคุ้นหูหรือเอะใจไม่ต่างกัน เพราะสิ่งที่ตัวละครกำลังพูดถึงช่างคล้ายคลึงกับเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเสียเหลือเกิน 

ท่ามกลางสภาวะการเมืองที่ปั่นป่วนและไร้ความหวัง ใครจะไปคิดว่าเราจะได้เห็นนักขับเคลื่อนสังคมรุ่นใหม่อย่าง ‘เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล’ กลายเป็นต้นแบบของตัวละครสำคัญในสื่อบันเทิงกระแสหลัก ซึ่งมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงและกำหนดทิศทางความเป็นไปของสังคม

ไม่ใช่แค่พวกเราคนดูที่เซอร์ไพรส์กับฉากนี้ เพราะ ‘เนติวิทย์’ เองก็คาดไม่ถึงกับการหยิบยกประเด็นจุฬาฯ สั่งรื้อถอนและขับไล่ชุมชนมาสอดแทรกในละครเรื่องหวานรักต้องห้ามเช่นกัน แม้แต่ตัวเขาก็ไม่คิดว่า วันนี้จะได้เห็นประเด็นที่พยายามขับเคลื่อนมาตลอดได้รับการยอมรับมากขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากวงการสื่อบันเทิงไทย

กว่าจะเป็น ‘คธา’ ในหวานรักต้องห้าม ‘เนติวิทย์’ ผู้เป็นมากกว่าต้นแบบตัวละคร แต่คือบุคคลตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่กล้าต่อต้านเหตุการณ์ที่ไม่เป็นธรรม เขาคนนี้ทำอะไรบ้างเพื่อปกป้องศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองให้คงอยู่คู่ชุมชนสามย่านต่อไป ในวันที่คนอื่นในสังคมยังเมินเฉยต่อปัญหานี้

“ถ้าผมรับบทคธา ผมจะตอบกลับอาจารย์ในละครว่า อย่าคิดว่าผมรู้ไม่ทันในสิ่งที่อาจารย์พูดนะ คุณทําลายชุมชนไปเกือบหมดแล้วไง ตอนนี้ภาระเลยตกมาที่ผมและเพื่อนนิสิต”

รู้มาก่อนไหมว่าส่วนหนึ่งของตัวละคร ‘คธา’ สร้างมาจาก ‘เนติวิทย์’

ผมไม่ได้ติดตามละครเรื่อง ‘หวานรักต้องห้าม’ มาก่อน แต่คนอื่นแท็กให้ไปดูในเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) เมื่อได้ดูก็รู้สึกว่า บทสนทนาของตัวละครที่พูดถึงชุมชนและมหา’ลัยมีความคล้ายคลึงกับตัวเรา ผมเพิ่งรู้เหมือนกันว่าตัวเองเป็นหนึ่งในต้นแบบของตัวละครนี้ หลังจากพี่นุชี่ (นุชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับละคร ‘หวานรักต้องห้าม’) ตอบคำถามและอธิบายข้อสงสัยของคนดูในแพลตฟอร์มเอ็กซ์

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีที่แล้ว ผมอยากให้มีการขับเคลื่อนประเด็นรื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิมในสื่อบันเทิง เพราะอยากให้ผู้คนไปสักการะตาม จึงพยายามหาแนวร่วมจากศิลปิน โดยพี่นุชี่เองก็เป็นหนึ่งในคนที่ผมติดต่อไป เพราะอย่างที่รู้กันว่า พี่นุชี่เป็นผู้กำกับที่ขับเคลื่อนประเด็นสังคม ในตอนนั้นผมเห็นโฆษณาซีรีส์เรื่อง ‘NOT ME เขา…ไม่ใช่ผม’ ที่นำเสนอเรื่องราวทางการเมืองอย่างเข้มข้น ผมจึงติดต่อและส่งข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ศาลเจ้าแม่ทับทิมให้พี่นุชี่ซึ่งเป็นผู้กำกับซีรีส์เรื่องนี้ 

พี่นุชี่ยินดีและเปิดกว้างมากๆ แต่เนื่องจากซีรีส์ใกล้ปิดกล้องแล้ว ทำให้ไม่สามารถเพิ่มประเด็นนี้ในบทละครได้ เขาบอกว่า “ไว้โอกาสหน้าแล้วกัน” ผมก็ไม่รู้เลยว่า อยู่ดีๆ วันหนึ่งโอกาสนั้นจะมาถึงในอีก 4 ปีต่อมา ผมไม่คิดว่าพี่นุชี่จะยังจําได้ และนำประเด็นไล่ที่ชุมชนไปสอดแทรกในละครเรื่องนี้ด้วย

คิดอย่างไรกับการนำเสนอประเด็นขับไล่ชุมชนในละครหวานรักต้องห้าม

นับเป็นเรื่องที่น่าปลาบปลื้มมาก ละครหวานรักต้องห้ามเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนที่ช่วยนำเสนอเรื่องศาลเจ้าแม่ทับทิม เพราะคนจํานวนหนึ่งมองว่าเป็นการต่อสู้ที่ไร้สาระ และไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหว แต่จริงๆ ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย จากในละครจะเห็นได้ว่า ประเด็นนี้เป็นความสัมพันธ์ทางอํานาจ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน รวมถึงเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่ผสมปนเปกัน ดังนั้น การที่มีคนอื่นหยิบประเด็นนี้ไปถ่ายทอดในละคร ทำให้ผมรู้สึกว่าการต่อสู้ครั้งนี้ได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น

อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องชื่นชมคือ พี่นุชี่ทําในสิ่งที่ผู้กํากับและผู้มีอิทธิพลควรทําอย่างยิ่ง นั่นคือการเป็นกระบอกเสียงให้กับคนที่ขาดโอกาส หรือให้พื้นที่สื่อกับประเด็นที่ถูกละเลย ผมรู้สึกขอบคุณพี่นุชี่และทีมงานมากๆ

บทสนทนาในละครเหมือนเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นไหม

เหมือนเหตุการณ์จริง ตอนนั้นเผชิญอุปสรรคหลายทาง ช่วงแรกในการต่อสู้ คนแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ซึ่งฝ่ายที่ไม่เข้าใจหรือไม่เห็นด้วยกับเราก็เยอะพอสมควร ส่วนทางจุฬาฯ ก็พยายามใช้งานเด็กกับอาจารย์คณะสถาปัตยฯ ในการสร้างศาลเจ้าใหม่ โดยทำโฆษณาว่าจะสร้างที่ใหม่อย่างยิ่งใหญ่ มีเตาไร้ควัน พร้อมบอกว่า พื้นที่เดิมไม่เหมาะสมอย่างไร 

บรรดาเด็กที่เชื่อคำหลอกลวงของมหา’ลัยก็ตำหนิฝั่งเราว่า มันเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต้องพัฒนาต่อไป ทำไมจึงต้องขัดขวางจุฬาฯ แต่กลุ่มคนเหล่านี้ลืมไปว่า ตัวเองไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการพัฒนานี้ ในขณะที่คนในชุมชนเสียประโยชน์อย่างมาก อีกทั้ง การกระทำของจุฬาฯ ยังเป็นการทำงานแบบ Top-Down หรือสั่งการโดยผู้บริหารระดับสูง ซึ่งทำให้คนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา 

แม้คนไม่เห็นด้วยจะมีจำนวนมาก แต่เราก็ไม่หยุดผลักดันประเด็นนี้ พยายามสื่อสารจนทำให้ #SAVEศาลเจ้าแม่ทับทิม ติดเทรนด์ในเอ็กซ์ หลายคนเพิ่งรู้ทีหลังว่า จุฬาฯ จะรื้อถอนศาลเจ้าเพื่อทำแค่สวนหย่อมเล็กๆ ซึ่งไม่ได้สร้างประโยชน์ หรือจำเป็นต้องมีพื้นที่นี้ในคอนโดขนาดนั้น พวกเขารับไม่ได้กับเรื่องนี้ จึงเริ่มเปลี่ยนความคิด ยิ่งในช่วงหลังที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมถูกล้อมรอบไปด้วยไซต์ก่อสร้าง ส่งผลให้คนยิ่งเห็นว่า ศาลเจ้าก็สามารถอยู่ร่วมกับตึกสูงได้

“อาจารย์จะมองแค่ด้านเศรษฐกิจไม่ได้ดิ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมโบราณก็มีมูลค่าเหมือนกันนะครับ” – คธา, หวานรักต้องห้าม EP.1

วิถีชีวิตและวัฒนธรรมมีมูลค่าไม่แพ้ด้านเศรษฐกิจอย่างไร

สองมิตินี้อยู่ตรงข้ามกัน มิติหนึ่งเป็นมูลค่าทางจิตใจที่ประเมินยาก แต่อีกมิติเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เป็นตัวเลขและจับต้องได้ ซึ่งการประเมินผลก็แตกต่างกัน แต่จริงๆ ถ้าจะให้ประเมินมูลค่าที่จุฬาฯ ทําลายไป ทั้งวิถีชีวิต และชุมชน รวมถึงการทำให้ค่าครองชีพละแวกสามย่านสูงขึ้น ผมคิดว่าทำได้ และน่าทำด้วย อาจจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การทําลายชุมชนและวัฒนธรรมก่อให้เกิดการสูญเสียจำนวนมาก จุฬาฯ อาจได้เม็ดเงินเพิ่มขึ้น แต่คนจํานวนมากต้องเสียโอกาส หรือพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่ มันก็มีมูลค่าที่คนในชุมชนต้องเสีย สังคมที่ดีมันก็ต้องนึกถึงมิติด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมด้วย 

สําหรับผม 2 มิตินี้สามารถประนีประนอมกันได้ ผู้บริหารมหา’ลัยที่ดีควรหาจุดสมดุลระหว่าง 2 มิติ โดยรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ละทิ้งมูลค่าทางจิตใจ เพราะคนเราไม่ได้อยู่ด้วยตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการที่พึ่งหรือที่ยึดเหนี่ยว รวมถึงสังคมที่ปลอบประโลมจิตใจ และไม่ทําให้เรารู้สึกอยู่ตัวคนเดียว ซึ่งศาลเจ้าและศาสนสถานต่างๆ ก็ทำหน้าที่นี้ อย่างในปัจจุบัน คนไปไหว้ศาลเจ้าแม่ทับทิมเยอะขึ้นมาก เพราะสถานที่นี้มีคุณค่าทางจิตใจ แม้ไม่ได้ประเมินออกมาเป็นตัวเลขอย่างง่ายดาย

“คนที่อยู่ในพื้นที่ก็ไม่ได้เดือดร้อน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นแหละที่ไม่เห็นด้วย ถ้าพวกคุณต้องการให้เกิดแรงกระเพื่อมนะ คุณก็ไปรวบรวมคนที่เห็นด้วยกับคุณมาเยอะๆ เอาคนที่มีผลกระทบจริงๆ ในพื้นที่ ไม่ใช่แค่เด็กมหา’ลัยหน้าเดิมๆ กลุ่มเดิมๆ ต่อต้านกันอยู่แค่นี้” – อาจารย์มหาวิทยาลัย, หวานรักต้องห้าม EP.1

คิดอย่างไรกับคำพูดข้างต้นของอาจารย์ในละครหวานรักต้องห้าม EP.1

คำพูดของอาจารย์ไม่ถูกต้องขนาดนั้น เพราะไม่ใช่ว่าไม่มีคนต่อต้าน จริงๆ คธาอาจหาพวกได้มากกว่านี้ แต่มหา’ลัยทำลายชุมชน และทำร้ายคนที่ต่อต้านไปไม่รู้กี่คนแล้ว กําจัดกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยไปจนหมด หากพิจารณาจากบันทึกประชุมสภามหาวิทยาลัยของจุฬาฯ จะเห็นว่า สํานักงานทรัพย์สินจุฬาฯ โดนฟ้องร้องคดีผู้อาศัยหลายครั้ง เช่น ช่วงบูรณะตลาดสามย่านใหม่ ตอนนั้นก็มีกลุ่มนิสิตออกมาประท้วงเพื่อฝ่ายชาวบ้านจำนวนไม่น้อย ดังนั้น คำพูดของอาจารย์จึงไม่ต่างอะไรกับการหลอกลวงเด็ก ซึ่งการต่อสู้ในชุมชนจุฬาฯ ก็เป็นเช่นนี้จริงๆ อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มคนต่อต้านจะเหลือเพียงส่วนน้อย แต่พวกเราก็ยังต่อสู้เพื่อความยุติธรรมได้

ส่วนด้านชาวบ้าน บางคนไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย หรือแค่เห็นว่าอีกฝ่ายมาจากจุฬาฯ ชาวบ้านก็ไม่กล้าต่อต้านหรือคัดค้านแล้ว ทั้งที่จริง บางสิ่งที่จุฬาฯ ทำอาจจะไม่ได้ถูกกฎหมายตั้งแต่ต้น เช่น จุฬาฯ สร้างศาลใหม่โดยไม่ได้ขอใบอนุญาตจากเขต ผมกับเพื่อนจึงไปแจ้งทางเขตให้เอาป้ายมาติดประกาศว่าต้องจ่ายค่าปรับ เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงการใช้อำนาจบาตรใหญ่กับคนธรรมดาที่ไม่มีปากมีเสียงในสังคม

อีกนัยหนึ่ง เรื่องความเป็นชุมชน คนอื่นมักบอกว่า ในเมื่อศาลเจ้าแม่ทับทิมต้องอยู่กับชุมชน แต่ตอนนี้ไม่มีชุมชนเหลืออยู่แล้ว จะเก็บศาลเจ้าไว้ทำไมอีก ความคิดแบบนี้เป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะชุมชนเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เมื่อก่อนชุมชนของศาลเจ้าแม่ทับทิมคือชุมชนสามย่าน ตลาดสามย่าน และชุมชนเซียงกงที่ถูกไล่ที่ แต่ปัจจุบัน ชุมชนของศาลเจ้าคือเด็กรุ่นใหม่ กลุ่มคนที่ศรัทธาและสักการะเจ้าแม่ทับทิม ดังนั้น ความเป็นชุมชนจึงไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ ต่อให้วันนี้ชุมชนเก่าแก่จะถูกไล่ออกไปจนหมด แต่ก็ยังมีชุมชนใหม่ที่ต้องการศาลเจ้าแม่ทับทิม ดังนั้น นิสิตนักศึกษาจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเช่นกัน

ทำไมทุกคนจึงควรหันมาขับเคลื่อนประเด็นนี้

ถ้าเราไม่คัดค้านการสร้างห้างหรือคอนโดในพื้นที่ชุมชน แสดงว่าเรายอมรับการพัฒนาที่ไม่ชอบธรรม ลองคิดดูสิ ผู้บริหารมหา’ลัยที่สั่งให้รื้อถอนชุมชนออกไปเพื่อสร้างห้างสร้างคอนโด หลังจากดำรงตำแหน่ง 4 ปี เขาก็ไม่อยู่แล้ว เขาไม่จำเป็นต้องแบกรับผลกระทบอะไร อย่างตอนสร้างห้างจามจุรีสแควร์ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ขาดทุนเพราะไม่มีคนเข้าใช้บริการห้างเท่าที่ควร 

คนที่ต้องรับผลกระทบเหล่านี้ไม่ใช่ผู้บริหารมหา’ลัย แต่คือคนในชุมชนที่ไม่ได้มีปากมีเสียง ก่อนหน้านี้พื้นที่นั้นเป็นชุมชนที่คึกคักมาก มีโรงเรียนให้กับเด็กๆ ด้วย แต่การสร้างห้างจามจุรีสแควร์ ทำให้โรงเรียนก็ต้องย้ายออก สิ่งที่แลกมากับคุณค่าวิถีชีวิตของผู้คนคือ ห้างที่ไม่ประสบความสำเร็จ คนสั่งการอย่างผู้บริหารก็ไม่ได้รับผิดชอบอะไร ทั้งยังอาจได้รับรางวัลในการไล่ที่สำเร็จเป็นเงินใต้โต๊ะอีกก็ได้

ทั้งที่ทุกคนเห็นอยู่แล้วว่า การรื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิมนั้นสร้างผลกระทบเชิงลบมากมาย ทั้งทำลายวิถีชีวิตของชุมชนละแวกนั้น และวัฒนธรรมซึ่งหาจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว รวมถึงชุมชนร้านค้าที่นิสิตเคยผูกพัน และศาลเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็จะสูญหายไปเช่นกัน เมืองที่ดีไม่ควรเป็นไปตามกลไกทุนนิยมเพียงอย่างเดียว ผลกระทบเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากผู้บริหารเปลี่ยนทัศนคติ  ดังนั้น เราจึงไม่ควรเสียรู้ให้กับผู้บริหารมหา’ลัยที่หวังเพียงผลกำไร แต่ไม่เคยรับผิดชอบผลกระทบด้วยใจจริง 

การต่อสู้เพื่อรักษาศาลเจ้าแม่ทับทิมถือว่าประสบความสำเร็จไหม ?

ศาลเจ้าแม่ทับทิมยังอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกล้าหาญของ ‘พี่นก’ ผู้ดูแลศาลเจ้า เขาเสี่ยงชีวิตมากในการอยู่ตรงนั้น ถ้ามีเหล็กหรืออิฐหล่นลงมา เขาอาจเสียชีวิตได้เลย ซึ่งเคยมีเหตุการณ์ที่หินหล่นลงมาจริงๆ แทบไม่มีอะไรมาการันตีความปลอดภัย แต่เขาก็ยังตัดสินใจอยู่ต่อ เพื่อรักษาวัฒนธรรมนี้ให้แก่ผู้คนที่ศรัทธาเจ้าแม่ทับทิม โดยที่ไม่ได้เงินสักบาท ทั้งยังถูกฟ้องร้องนับร้อยล้าน 

ผมเชื่อว่า ทุกคนที่มาสักการะศาลเจ้าแม่ทับทิมก็กังวลเรื่องความปลอดภัย แต่ทำไมทุกคนถึงยังกล้าเดินเข้าไป นั่นเป็นเพราะพวกผมและคนอื่นๆ ได้รับพลังความกล้าหาญที่ส่งต่อมาจากผู้ดูแลศาลเจ้า เมื่อมีคนกล้าอยู่ที่นั่น คนอื่นๆ ก็กล้าเข้าไปสักการะ

สื่อมวลชนควรช่วยผลักดันเรื่องนี้หรือไม่

ผมรู้สึกผิดหวังกับคณะนิเทศศาสตร์หลายแห่งในประเทศไทย เพราะด้วยความสามารถของเด็กนิเทศฯ พวกเขาสามารถช่วยผลักดันปัญหานี้ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่ตอนผมทำสารคดี ‘The Last Breath of Sam Yan’ กลับไม่มีนิสิตคณะนิเทศศาสตร์มาช่วยเหลือขนาดนั้น หาคนมาช่วยทำยากมาก 

ในทางกลับกัน ผมเรียนคณะรัฐศาสตร์ แต่ตัดสินใจทำสารคดี เพราะอยากให้คนอื่นรับรู้ถึงปัญหานี้ อยากสร้างความตระหนักในสังคม แทบไม่มีใครคิดว่าผมจะทำสำเร็จ หรืออาจจะมองว่าผมเป็นพวกงมงาย แต่โชคดีที่มีเพื่อนของผมจากคณะนิเทศ จุฬาฯ และศิษย์เก่าม.กรุงเทพ มาช่วยทำจนสำเร็จ และได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม ในปี 2566 ซึ่งผมสนใจเรื่องการเป็นกระบอกเสียงมากกว่ารางวัลที่ได้รับ

อยากให้คนที่เรียนด้านนิเทศศาสตร์ และสื่อสารมวลชนทั่วประเทศหันกลับมาสนใจปัญหาที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยของตัวเอง และชุมชนโดยรอบมากขึ้น เพราะในแง่หนึ่ง ถือเป็นการฝึกฝนการทำหน้าที่สื่อที่ดี ผ่านการเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มคนที่ไร้สิทธิ์ไร้เสียงในสังคม หลายคนเลือกไปฝึกงานในบริษัทต่างๆ เพื่อความมั่นคงในชีวิต แต่จริงๆ การทำเพื่อสังคมในรูปแบบที่ตนถนัด อาจทำให้เราเป็นที่สนใจมากกว่าก็ได้ ถ้าเด็กนิเทศฯ หรือเด็กคณะสื่อสารมวลชนใส่ใจประเด็นเหล่านี้มากขึ้น จะสามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่าที่ผมทําเสียอีก

“สารคดี The Last Breath of Sam Yan เลือกข้างผู้ที่ถูกเอาเปรียบ เลือกข้างวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่กําลังจะถูกทําลายไป นี่คือสารคดีที่ผมทํา”

สารคดี ‘The Last Breath of Sam Yan’ มีคุณค่าอย่างไร

หลังรับชม The Last Breath of Sam Yan หลายคนอาจรู้สึกตกใจ เพราะสารคดีเรื่องนี้เล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้นำเสนอความจริง 2 ด้านจากมหา’ลัยและชุมชน แต่เป็นสารคดีที่ยืนอยู่ข้างชุมชน เพราะปัจจุบันมีชุมชนเหลือไม่กี่แห่ง ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองอาจเป็นแหล่งสุดท้ายด้วยซ้ำ 

ผมภูมิใจในผลงานชิ้นนี้ของตัวเอง ขณะเดียวกัน ผมก็ไม่อยากให้  The Last Breath of Sam Yan  เป็นสารคดีเรื่องเดียวที่นำเสนอประเด็นปัญหาในจุฬาฯ เพราะยังมีประเด็นอีกมากมายที่ถูกละเลย และส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก 

ในฐานะคนที่มีสื่ออยู่ในมือ เราสามารถช่วยให้เสียงของผู้ถูกเอาเปรียบกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพื่อเปลี่ยนจินตภาพของจุฬาฯ จากมหาวิทยาลัยหน้าเลือด เอาเปรียบและทําร้ายประชาชนโดยอ้างว่าทําเพื่อนิสิต ให้กลายเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน เพื่อวิถีชีวิต เพื่อความยั่งยืน ซึ่งมันเป็นไปได้ ถ้าเราทุกคนช่วยกัน

ละคร ‘หวานรักต้องห้าม’ ช่วยขับเคลื่อนสังคมอย่างไร

จริงๆ ละครแทบทุกเรื่องมีนัยทางสังคมอยู่แล้ว ว่าแบบแผนสังคมของตัวละครดีและไม่ดีเป็นอย่างไร ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไปมากแล้ว ผู้ชมบางส่วนไม่อยากเสพสื่อที่นำเสนอแบบแผนความคิดเดิม หรือรับชมตัวละครตบตีกัน สื่อบันเทิงสามารถไปได้ไกลกว่านั้น เพราะโลกความจริงซับซ้อนกว่า ทําไมละครจะต้องทําตามขนบแบบเดิม

ละครควรสะท้อนสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันก็ช่วยชี้นําสังคมให้ตระหนักถึงประเด็นบางอย่างที่ถูกละเลย การที่ผู้กำกับสอดแทรกประเด็นนี้ในละครไทย ส่งผลให้ผู้ชมจํานวนมากมีโอกาสได้มองเห็นและทบทวนประเด็นดังกล่าว สื่อบันเทิงสามารถสอดแทรกประเด็นสังคมพร้อมกับมอบความบันเทิงให้แก่ผู้ชมได้ ซึ่ง ‘หวานรักต้องห้าม’ ถือเป็นหนึ่งในละครที่แหวกขนบเดิม เพราะ ‘พี่นุชี่’ ผู้กำกับของเรื่องนี้กล้าที่จะเปลี่ยนบรรทัดฐานของละครไทย