เปิดใจให้กว้าง อย่าเพิ่งรีบกำหมัด คุยกับคนมองต่างมุมอย่างไร ไม่ให้ประสาทพังเสียก่อน

เคยไหม เมื่อต้องมีบทสนทนากับใครสักคนที่มีมุมมอง ทัศนคติ หรือความเชื่อต่อสิ่งหนึ่งต่างกับเรามากๆ แบบยืนกันคนละฝั่ง จนบางครั้งเราต้องถึงขั้น ‘กำหมัด’ เพื่อระงับอารมณ์จากความรู้สึกว่าอีกฝ่ายตรรกะผิดเพี้ยน แถมยังดื้อด้าน หัวแข็ง เรื่องนี้อาจเกิดได้จากเรื่องเล็กๆ อย่างอาหารการกิน การเชียร์กีฬา ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างการเมือง ศาสนา และการใช้ชีวิต

แต่อย่าลืมนะว่า หากลองเปลี่ยนไปมองจากมุมของอีกฝั่ง คนที่ถูกมองว่าตรรกะผิดเพี้ยนในเรื่องความเชื่อก็คือเราเช่นเดียวกัน ดังนั้น อยู่ที่ว่าจะเลือกมองจากฝั่งไหน 

หากเป็นสถานการณ์ปกติที่สามารถเลี่ยงบทสนทนาแบบนี้ได้เราก็อาจทำ แต่หากบางคราวที่สถานการณ์บีบให้จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับอีกฝ่ายโดยเลี่ยงลำบาก ก็คงนำมาซึ่งความกระอักกระอ่วนใจ อึดอัด และบรรยากาศมาคุ ความขุ่นข้องหมองใจจากความคิดของอีกฝ่ายจึงเกิดขึ้น จนอาจนำไปสู่การผิดใจกัน เรื่องนี้มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ

เอาล่ะ ในเมื่อความเชื่อมันเปลี่ยนกันยาก และการเปลี่ยนความคิดคนอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย (หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย) การพยายามทำความเข้าใจอาจเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ 

เช่นนั้นแล้ว ความพยายามเข้าใจเหล่านั้นสามารถทำอย่างไรได้บ้าง?

ไม่คาดหวังว่าใครต้องเปลี่ยน

สิ่งสำคัญคือต้องคิดเสมอว่า การสนทนานั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความเข้าใจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป้าหมายหลักของการสนทนาที่เกิดผลไม่ควรเป็นการเปลี่ยนใจอีกฝ่าย แต่ควรเป็นไปเพื่อให้เข้าใจมุมมองของอีกฝ่ายเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย การพยายามทำให้ใครบางคนเปลี่ยนใจหรือเปลี่ยนความคิดไม่ใช่เรื่องง่าย หากดื้อดึงจะทำเช่นนั้น สิ่งที่ถูกแสดงออกมาผ่านบทสนทนาจากฝั่งเราจะไม่เป็นธรรมชาติและไม่น่าฟังเลยสักนิด ที่สำคัญ การมีความคาดหวังมากเกินไป อาจกลายเป็นความผิดหวังที่ย้อนกลับมาทำร้ายความรู้สึกในท้ายที่สุด เมื่ออีกฝ่ายแสดงออกชัดเจนว่าเขาไม่ต้องการเปลี่ยนความคิด นั่นอาจยิ่งทำให้เรามองอีกฝ่ายด้วยสายตาที่แย่ลงไปอีก

เปิดใจให้กว้าง แม้ความจริงแล้วใจเราแคบ

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะสามารถเปิดใจให้กว้างได้กับทุกสิ่ง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับมุมมองความเชื่อส่วนตัว ก็เราไม่ใช่พระหรือนักบวชนี่นา (บางทีพระกับนักบวชก็ทำไม่ได้) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความใจกว้างเป็นหลักสำคัญในการทำความเข้าใจกับบางสิ่งที่แตกต่าง 

ดังนั้น หากต้องมีบทสนทนากับใครบางคนที่มองต่างมุม เราควรต้องเตรียมใจพร้อมรับข้อโต้แย้งที่จะเกิดขึ้นในบทสนทนาและทำให้ต้องกำหมัดแน่น พยายามตระหนักว่าภูมิหลังการใช้ชีวิตคือตัวกำหนดโลกทัศน์ของแต่ละคน และไตร่ตรองว่าความเชื่อหรือมุมมองของอีกฝ่ายเกิดขึ้นได้อย่างไร และเราจะมีความคิดเห็นอย่างไร เข้าใจว่ามันยาก แต่หากทำได้ก็เป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้เราสามารถตัดอารมณ์ส่วนตัวออกได้ไม่มากก็น้อย และโฟกัสกับเนื้อหาที่อีกฝ่ายพูดอย่างแท้จริงโดยปราศจากอคติ

ฟังไว้ก่อน พ่อ(หรือแม่)สอนไว้

หลายครั้งในการสนทนาถึงมุมมองที่แตกต่าง เรามักมีคำตอบของอีกฝ่ายไว้ในใจล่วงหน้า แทนที่จะใส่ใจกับสิ่งที่เขากำลังพูด และตั้งท่ารอสวนกลับอยู่แล้ว นั่นทำให้บทสนทนามักถึงทางตัน ก่อนจบลงด้วยอารมณ์หงุดหงิดผิดใจกัน ดังนั้น หากเป็นไปได้ ลองให้ความสำคัญและให้ความสนใจกับการฟังอีกฝ่ายก่อน โดยไม่ตั้งธงคำตอบในใจของตัวเอง เพราะมันอาจกลายเป็นอคติที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ และเมื่อมีข้อสงสัย ก็เพียงใช้คำถามที่จริงใจและชัดเจน ก็เพียงพอแล้ว 

การฟังไม่ได้แปลว่าเราเห็นด้วย ไม่ต้องกลัวรู้สึกแพ้ เพราะเป้าหมายของการสนทนาไม่ควรเป็นการลบล้างประเด็นของกันและกัน แต่เป็นไปเพื่อทำความเข้าใจ

ความคิดของเราไม่ได้ถูกต้องเสมอไป

ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ หากมนุษย์เราจะเลือกเชื่อความรู้สึก มุมมอง ของตัวเองก่อนสิ่งอื่นใด เพราะสิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกับความเชื่อส่วนตัวที่ไม่ต้องการถูกสั่นคลอน แต่เมื่อถึงวันหนึ่งที่เริ่มเติบโตขึ้น ทีละเล็ก ทีละน้อย เราจะค่อยๆ มองเห็นว่าสิ่งต่างๆ อาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราเคยเชื่อเสมอไป เช่นเดียวกับความคิดเห็นต่อบางสิ่ง ดังนั้น หากตระหนักได้ถึงข้อนี้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเปิดใจและทำความเข้าใจต่อความแตกต่างที่มาจากอีกฝ่ายได้มากขึ้น

อย่าลืมว่า เราทุกคนเกิดและเติบโตมาแตกต่างกัน รายละเอียดของสภาพแวดล้อมในชีวิต ผู้คน สถานที่ สิ่งของ คือสิ่งที่ก่อร่างสร้างทัศนคติ มุมมอง ที่มีต่อบางสิ่งขึ้นมา บางครั้งเราหลงลืมไปว่า ความถูกต้องในมุมมองหรือความเชื่อของเรา อาจไม่ใช่คำตอบของคนอื่น นั่นเพราะความเชื่อเป็นเรื่องของปัจเจกอย่างแท้จริง

การเปิดใจให้กว้างและพยายามทำความเข้าใจต่อสิ่งที่แตกต่าง อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากมันคือหนทางเดียวของการอยู่ร่วมกัน ก็เป็นสิ่งพึงกระทำ ในที่สุดเราอาจค้นพบว่า แท้จริงแล้วในความแตกต่างนั้น อาจมีบางส่วนที่เหมือนกันอยู่ก็เป็นได้

AUTHOR