พล็อตหนังทำนอง ‘ครอบครัวที่ต้องกลับมารวมกันเพราะมีคนป่วยหนักหรือใกล้ตาย’ เป็นหนึ่งในแนวที่ถูกสร้างมานับครั้งไม่ถ้วน อย่างที่ชาวไทยนึกถึงเป็นเรื่องแรกๆ ก็น่าจะ The Farewell (2019) มีข้อสังเกตว่าหนังอเมริกันกลุ่มนี้มักมีสูตรค่อนข้างตายตัว ช่วงแรกตัวเอกจะทะเลาะเบาะแว้งหรือเข้ากับสมาชิกคนอื่นไม่ได้ แต่สุดท้ายความตายหรือความป่วยไข้จะให้บทเรียนกับพวกเขา จนสามารถกลับมาสมานฉันท์กันในที่สุด ต่างกับหนังครอบครัวยุโรปหลายเรื่องที่พูดถึงสถาบันครอบครัวแตกสลายจนไม่มีอะไรอาจเยียวยา อาทิ หนังเดนมาร์ก The Celebration (1998) หรือหนังฝรั่งเศส A Christmas Tale (2008)

สำหรับ His Three Daughters (เปิดตัวที่เทศกาลหนังโทรอนโตปี 2023 แต่เพิ่งจะออนแอร์ทางเน็ตฟลิกซ์เมื่อ 20 กันยายน 2024) ที่มีฉากหลังเป็นเมืองนิวยอร์กก็หนีไม่พ้นสูตรหนังครอบครัวอเมริกันที่กล่าวไปข้างต้น หนังเล่าถึงสามสาวพี่น้องที่มาดูใจพ่อผู้ป่วยใกล้ตาย แน่นอนว่าพวกเธอมีความไม่ลงรอยกัน จากความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ ลามปามไปถึงฉากวิวาทใหญ่โต แต่ผู้ชมส่วนใหญ่คงคาดเดาได้ไม่ยากนักว่าหนังจะคลี่คลายไปทางไหน
อย่างไรก็ดี His Three Daughters เป็นหนังที่ได้รับเสียงวิจารณ์ไปทางบวก ส่วนหนึ่งเพราะมันมีองค์ประกอบน่าสนใจจนไม่ใช่หนัง ‘พี่น้องและพ่อที่ใกล้ตาย’ เฝือๆ อีกเรื่องหนึ่ง เช่นว่าเหตุการณ์กว่า 80% ของหนังเกิดขึ้นในอพาร์ตเมนต์หลังเดิม จนแทบจะมีรูปแบบใกล้เคียงตัวละครเวทีอยู่เนืองๆ ผู้เขียนคิดว่านี่เป็นทางเลือกอันชาญฉลาดของผู้กำกับ อาซาเซล เจค็อบส์ ที่ต้องการขับเน้นถึงความรู้สึกอัดอึดของตัวละครที่ไม่ได้รักใคร่กันมากนัก แต่ต้องมาอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน

อีกจุดน่าสนใจคือ เกินกว่าครึ่งเรื่องที่คนดูจะไม่ได้เห็นตัวละครพ่อเลย ทั้งที่เขาคือสาเหตุทำให้สามพี่น้องต้องมารวมตัวกัน (อย่างไม่เต็มใจ) หนังแสดงให้เห็นว่าคนใกล้ตายเดี๋ยวก็ต้องตาย แต่คนยังอยู่อาจจะหนักหนากว่า แต่ละคนมีวิธีการรับมือกับความตายของพ่อต่างกันไป ขณะเดียวกันหนังยังเล่าด้วยว่าพวกเขาต่างมีปัญหาชีวิตของตัวเอง คนหนึ่งรับมือกับลูกที่อยู่ในวัยต่อต้าน อีกคนเพิ่งมีลูกเล็กแต่ต้องมาเฝ้าพ่อ แล้วก็ยังมีคนที่ติดทั้งกัญชาและการพนัน
ถึงกระนั้นสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นคุณงามความดีที่สุดของ His Three Daughters คือการออกแบบตัวละครและโครงสร้างความสัมพันธ์ของทั้งสาม (เจค็อบส์เขียนบทด้วยตัวเอง) เราสังเกตโดยไม่ยากนักว่าเคที (พี่สาวคนโต) กับคริสตินา (น้องคนเล็ก) ดูเข้าขากัน แต่ทั้งสองกลับดูห่างเหินกับราเชล (พี่สาวคนกลาง) ก่อนที่หนังจะเฉลยว่าราเชลเป็นน้องคนละแม่ แม้จะใช้ชีวิตวัยเด็กร่วมกัน แต่ราเชลไม่มีทางสนิทใจกับพี่น้องได้ พูดแบบติดตลกได้ว่านักแสดงทั้งสาม มีเคมีที่ดีมาก แต่เป็นเคมีของความไม่เข้ากัน

เนื่องด้วยทุกบทวิจารณ์ล้วนชื่นชมนักแสดงนำทั้งสาม ผู้เขียนเลยขอพูดถึงพวกเธอสักหน่อย คนแรกคือ แครี่ คูน รับบทพี่คนโตผู้เหวี่ยงวีนตลอดเวลา ผู้ชมอาจเคยผ่านตาเธอจาก Gone Girl (2014) หรือ Ghostbusters: Afterlife (2021) อันที่จริงคูนมีผลงานทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ และละครเวทีมากมาย เธอถือเป็นนักแสดงฝีมือฉกาจ ดังนั้นบทเคทีจึงเป็นอะไรที่เธอ ‘เอาอยู่’ ได้ไม่ยาก
ถัดมาคือ อลิซาเบธ โอลเซน ชาวไทยคุ้นหน้ากันดี จากบท Scarlet Witch ในจักรวาลมาร์เวล เป็นเรื่องน่ายินดีที่โอลเซนได้เล่นหนังที่ไม่ใช่แนวซูเปอร์ฮีโรบ้าง เธอรับบทน้องเล็กผู้ชีวิตเหมือนจะเพียบพร้อมไปเสียทุกอย่าง จนเผลอรู้สึกว่าเธอช่างน่าหมั่นไส้เหลือเกิน แต่ท้ายที่สุดเธอก็ทำให้คนดูเห็นว่าตัวละครของเธอมีด้านที่เปราะบางเช่นกัน
แต่คนที่ได้รับคำชมล้นหลามคือ นาตาชา ลีออนน์ ผู้รับบทราเชล พี่สาวคนรองที่พี้กัญชาตลอดเวลา เหล่าเจนวายน่าจะจำลีออนน์ได้จากบทเจสสิก้าในเรื่อง American Pie (1999) ส่วนคนรุ่นใหม่อาจเห็นเธอผ่านซีรีส์ Orange Is the New Black (2013-2019) และ Russian Doll (2019-2022) ราเชลเป็นตัวละครที่คนดูพร้อมจะเกลียด เธอดูหยาบคาย ไร้การศึกษา ไร้รสนิยม แต่ก็เป็นราเชลนี่แหละที่ดูแลพ่อมาตลอด ในขณะที่พี่น้องคนอื่นไปใช้เวลากับครอบครัวตัวเอง การที่ราเชลปล่อยให้พี่น้องเฝ้าพ่อ ส่วนตัวเองเอาแต่หมกตัวในห้องไม่ได้เกิดจากความไร้เยื่อใย แต่เพราะเธอผูกพันกับพ่อจนทำใจได้ยากที่จะเห็นเขาในสภาพนอนโคม่า

ทั้งนี้ภารกิจของตัวละครใน His Three Daughters ไม่ใช่แค่การเคลียร์ความบาดหมางระหว่างกัน แต่ยังต้องจัดการเรื่องคำสั่งปฏิเสธการกู้ชีพ (หรือ DNR ย่อมาจาก Do Not Resuscitate) อันหมายถึงสัญญาทางกฎหมายที่ไม่ต้องช่วยเหลือผู้ป่วยในกรณีหัวใจหยุดเต้น เนื่องจากลูกสาวเห็นพ้องว่าควรปล่อยให้พ่อไปสบาย แต่การเซ็น DNR จะต้องทำในขณะที่ผู้ป่วยมีสติสัมปชัญญะ แต่พ่อของพวกเธออยู่ในภาวะพูดจารู้เรื่องเป็นพักๆ นี่จึงทำให้เรื่องราวยิ่งวุ่นวายไปใหญ่
พล็อตส่วน DNR ทำให้หนังดูยึดโยงกับความเป็นจริง เป็นการดีลต่อความตายแบบอ้างอิงกับการแพทย์ ไม่ได้มัวโรแมนติไซซ์ให้ความใกล้ตายของพ่อเป็นกาวประสานใจเหล่าลูกสาว หรืออีกฉากที่ดีมากคือตอนบุรุษพยาบาลพูดพร่ำปลอบใจให้สามสาวพร้อมรับมือกับการจากไปของพ่อ แต่ท้ายสุดแล้วพวกเธอกลับรู้สึกรำคาญที่อีตานี่ มัวแต่พ่นคำสวยหรู ทั้งที่สิ่งที่ต้องการตอนนี้คือให้พ่อกลับบ้านเก่าเสียที ทุกอย่างจะได้ปิดฉากลง

ช่วงท้ายของหนังที่มีฉากแฟนตาซีออกจะขัดใจผู้เขียนอยู่บ้าง รวมถึงความพยาบามบิลด์ซึ้งต่างๆ ที่อาจเลี่ยนไปสักนิด แต่ผู้กำกับก็คุมโทนอารมณ์ได้ดีจนมันไม่ฟูมฟายเกินไป รวมถึงนักแสดงนำทั้งสามที่ทำให้ฉากที่มีแนวโน้มจะน้ำเน่าหรือสะเหล่อ กลายเป็นความซาบซึ้งที่ยินยอมจะโอบรับไว้ แม้ว่ามันอาจเป็นวิธีการที่ไม่ได้ตรงกับรสนิยมของผู้เขียนนัก ซึ่งนี่อาจเป็นข้อพิสูจน์ได้ถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘หนังดี’