ภาพยนตร์ที่ว่าด้วย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ถูกสร้างบ่อยพอกับหนังรักโรแมนซ์ที่นางเอกกำลังจะตายด้วยโรคร้ายอะไรสักอย่าง แน่นอนว่า สื่อส่วนใหญ่ฉายภาพผู้นำเผด็จการนาซีว่าเขาชั่วร้าย โหดเหี้ยม สังหารชาวยิวไปราว 6 ล้านคน ฯลฯ

แต่ในโลกภาพเคลื่อนไหวฮิตเลอร์ถูกนำเสนออย่างหลากหลาย คนรุ่นใหม่อาจเห็นฮิตเลอร์ในแง่ขบขันจากหนังดัง Jojo Rabbit (2019) ย้อนไปช่วงยุคหลัง Y2K เคยมีหนังสุดอื้อฉาวอย่าง Downfall (2004) ที่พยายามเปิดเผยด้านที่เป็นมนุษย์ของเขา แล้วก็ยังมี Hitler: A Film from Germany (1977) หนังยาว 7 ชั่วโมงที่ใช้ฟอร์มของละครเวทีมาเล่าชีวิตฮิตเลอร์แบบไม่แคร์ความสมจริง
เป็นข้อถกเถียงอยู่เสมอว่า การผลิตซ้ำภาพยนตร์ว่าด้วยฮิตเลอร์หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนี่มันส่งผลดี (การตระหนักรู้ทางประวัติศาสตร์) หรือผลเสีย (การตอกย้ำความเจ็บปวด) กันแน่ บ้างสันนิษฐานว่าฮอลลีวูดมักไฟเขียวกับหนังประเภทนี้อยู่แล้ว เพราะวงการนี้เต็มไปด้วยนายทุนชาวยิวมากมาย ไม่น่าแปลกใจที่มันได้ออสการ์อยู่เสมอ อีกประเด็นถกเถียง คงเป็นเรื่องแนวทางของหนัง มิคาเอล ฮาเนเก (คนทำหนังชาวออสเตรียเจ้าของหนังฉาว Funny Games) เคยวิจารณ์ว่า เขาไม่ชอบหนังแบบ Schindler’s List (1993) หรือ Downfall สักเท่าไร มันเต็มไปด้วยความดรามาติก อคติ และเป็นส่วนตัว (Subjective) เขาชอบหนังที่เลือกมุมมองแบบกลางๆ (Objective) มากกว่า อย่าง Night and Fog (1956) ที่เป็นภาพฟุตเทจของค่ายกักกันชาวยิวหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบลง

สำหรับผู้กำกับ โจ เบอลิงเกอร์ เขาตัดสินใจทำซีรีส์ความยาว 6 ตอน Hitler and the Nazis: Evil on Trial (ออนแอร์ทางเน็ตฟลิกซ์เมื่อช่วงต้นมิถุนายน 2024) ด้วยเหตุว่าคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักแล้วว่าค่ายเอาชวิตซ์คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร อย่างที่เราเห็นดรามาอยู่เนืองๆ ว่าเหล่าหนุ่มสาวไปถ่ายรูปเซลฟีร่าเริงเกินเหตุที่หน้าค่ายเอาชวิตซ์ หรือนักท่องเที่ยวไปปีนป่ายแอกต์ท่ากันบน Holocaust Memorial ที่เบอร์ลิน เมื่อปี 2019 เศรษฐีชาวอิสราเอลถึงขั้นลงทุนสร้างอินสตาแกรมชื่อ Eva.Stories จ้างนักแสดงมารับบทเป็นเด็กสาวชาวยิวชื่ออีวา บอกเล่าชีวิตของเธอในช่วงนาซีบุกฮังการี เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ก่อนหน้านี้เบอลิงเกอร์ทำสารคดีเกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่องมาหลายเรื่องในซีรีส์ Conversations with a Killer (2019-2022) ไม่ว่าจะ เท็ด บันดี้, จอห์น เวย์น เกซี หรือ เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ แต่เมื่อต้องทำสารคดีเกี่ยวกับอาชญากรสงครามอย่างฮิตเลอร์ เขาก็ขนข้อมูลมาให้ผู้ชมอย่างเต็มที่ ซีรีส์มีสองเส้นเรื่องใหญ่ๆ คือช่วงชีวิตของฮิตเลอร์ ไล่เรียงตั้งแต่วัยหนุ่มจนได้ขึ้นมาเป็นผู้ท่านนำ (Führer) ตัดสลับกับการตัดสินคดีของศาลทหารระหว่างประเทศที่เมืองนูเรมเบิร์กในปี 1946 ที่เอาพวกพรรคนาซีมาขึ้นศาล นอกจากนั้นยังมีการสัมภาษณ์นักวิชาการต่างๆ และเสียงบรรยายที่มาจากหนังสือของ วิลเลียม แอล ไชเรอร์ นักข่าวชาวอเมริกัน ดังนั้น Hitler and the Nazis จึงมีความซับซ้อนทั้งภาพและเสียงอยู่บ้าง แต่ผู้ชมก็ใช้เวลาปรับตัวไม่นานนัก

องค์ประกอบทางภาพยนตร์ของ Hitler and the Nazis ยังมีเรื่องน่าสนใจ อย่างการทำเทคโนโลยีมาช่วย เช่นการแปลงฟุตเทจขาวดำเป็นสี (Digital Colorization) หรือข้อความจากหนังสือของไชเรอร์ ก็ใช้ AI ทำให้เสียงบรรยายใกล้เคียงกับเสียงไชเรอร์มากที่สุด ส่วนดนตรีประกอบดัดแปลงมาจากสกอร์ที่แต่งโดยเหล่าผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างชาวยิว และน่าเซอร์ไพรส์ว่าหนึ่งในคนทำเพลงคือ เซิร์จ แทนเคียน นักร้องนำของวงเมทัลรุ่นเก๋า System of a Down ซึ่งสามารถทำเพลงแนวคลาสสิกได้เหมาะเจาะกับซีรีส์อย่างยิ่ง
หากเป็นผู้ศึกษาสงครามโลกครั้งที่สองมาถี่ถ้วน Hitler and the Nazis อาจไม่ได้น่าตื่นเต้นอะไรนัก แต่ผู้เขียนคิดว่าข้อดีของซีรีส์คือทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ช่วงนั้นได้ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะสาเหตุที่ฮิตเลอร์รังเกียจยิวจนถึงขั้นต้องสร้างค่ายกักกันและห้องรมแก๊ส, ความเลวร้ายของนาซีที่แผ่กระจายไปถึงประเทศอื่นอย่างออสเตรีย โปแลนด์ เบลารุส, ความสัมพันธ์ของเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตที่แปรผันจากมิตรเป็นศัตรู แต่ข้อเสียหลักของซีรีส์ที่ผู้ชมล้วนเห็นตรงกันคือบรรดาฉากสร้างขึ้นใหม่ (Recreation) ไม่ว่าจะฉากฮิตเลอร์กับพวกพ้องนาซี หรือฉากขึ้นศาลที่เมืองนูเรมเบิร์กที่ออกจะเยิ่นเย้อเกินความจำเป็น ยิ่งไปกว่านั้นนักแสดงที่รับบทฮิตเลอร์ก็ดูไม่เหมือนตัวจริงเอาเสียเลย แถมยังแอกต์ติงเล่นใหญ่จนกลายเป็นขบขัน (แม้ว่าฮิตเลอร์จะขึ้นชื่อเรื่องการออกท่าออกทางก็ตาม)

ตอนหนึ่งที่สำคัญมาก Hitler and the Nazis คือการอธิบายว่าคนเยอรมันนิยมชมชอบในตัวฮิตเลอร์ด้วย 3 เหตุผลด้วยกัน หนึ่ง-เขาทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นหลังจากภาวะ Great Depression ในยุค 30 สอง-ฮิตเลอร์เป็นนักพูดที่มีเสน่ห์ และสาม-เขาสร้างภาพว่ายิวคือตัวร้ายทางเศรษฐกิจที่กัดกินประเทศ หรือทำให้มวลชนมีศัตรูร่วมกัน ซึ่งทุกสิ่งที่กล่าวมาล้วนสอดคล้องกับสถานการณ์ในยุโรปช่วงหลังโควิดที่พรรคฝ่ายขวาได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนเริ่มเห็นตรงกันว่านโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมไม่อาจกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจได้, พรรคขวาจัดในฝรั่งเศสมีนักการเมืองหนุ่มรูปหล่ออย่าง จอร์แดน บาเดลลา ที่ได้ใจคนรุ่นใหม่ และนโยบายหลักๆ ของพรรคฝ่ายขวาคือกีดกันผู้ลี้ภัยหรือส่งกลับประเทศบ้านเกิด ซึ่งประชาชนบางส่วนมองว่าเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศ
ในแง่หนึ่งอาจมองได้ว่าคนเยอรมันคล้อยตามฮิตเลอร์เพราะในยุค 30 ผู้คนยังไม่ตระหนักเรื่องความเท่าทันสื่อมากนัก พวกเขาเชื่อสุนทรพจน์ของท่านผู้นำ, ข่าววิทยุ, ภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อ มันเป็นโลกที่ยังไม่มีโซเชียลอันช่วยให้เห็นมุมมองที่กว้างขวางและหลากหลาย (ชาวเยอรมันหลายคนไม่รู้ถึงการดำรงอยู่ของค่ายกักกันชาวยิวด้วยซ้ำ) แต่ในอีกทางโซเชียลมีเดียก็เป็นตัวแปรสำคัญของเกมการเมืองปัจจุบัน หลายเสียงเห็นตรงกันว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ใจคนอเมริกันเพราะการทวีตสุดปั่นของเขา นี่อาจรวมถึงปรากฏการณ์ ‘ฟ้ารักพ่อ’ ในยุคพรรคอนาคตใหม่ และการใช้สื่อโซเชียลฯ อย่างชาญฉลาดของพรรคก้าวไกลจนได้มาซึ่ง 14 ล้านเสียง
ผู้เขียนสังเกตว่าคอมเมนต์ตามโซเชียลมีเดียของชาวไทยในช่วงหลังเริ่มไม่น่าสบายใจมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน (ที่เชียร์รัสเซียออกนอกหน้า โดยมักอ้างว่ายูเครนแส่หาเรื่องเองที่จะเข้านาโต้) และความขัดแย้งในฉนวนกาซา (ที่เชียร์ให้อิสราเอลจัดการอย่างเบ็ดเสร็จโดยอคติและความเกลียดชังต่อมุสลิม) เดิมทีผู้เขียนหวังว่ามันจะเป็นแค่ชาวเน็ตเกรียนๆ หรือไอโออะไรสักอย่าง แต่เมื่อมันมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็แอบหวั่นใจอยู่เหมือนกัน ทำให้นึกถึงตอนหนึ่งของ Hitler and the Nazis ที่ว่า “ปัญหาใหญ่ที่สุดของฮิตเลอร์คือเขาเป็นคนขาดความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ผู้อื่น” มันคือสิ่งสามัญธรรมดาสำหรับการเป็นมนุษย์ แต่เมื่อมนุษย์หลงลืมมัน ประวัติศาสตร์อันเลวร้ายก็จะกลับมาซ้ำรอยได้ไม่ยาก