กัมบัตเตะ: ล้มเจ็ดครั้ง ลุกแปดครั้ง หนังสือให้กำลังใจคนท้อ อย่ายอมแพ้และลุกขึ้นสู้สิ!

ท้อแท้จัง’ ทำให้ดีกี่ครั้งก็ไม่เคยสำเร็จ
พรุ่งนี้ต้องสอบแล้ว กลัวจังว่าจะทำไม่ได้
กังวลมากเลย ที่ต้องเริ่มต้นทำสิ่งใหม่

ใครๆ ต่างต้องเคยรู้สึกกังวลใจในการเริ่มต้นทำบางสิ่ง รู้สึกท้อแท้กับปัญหาที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต หรือเหนื่อยกับสิ่งที่ทำผิดพลาดมาแล้วหลายครั้งจนนับไม่ถ้วน แต่ทุกความผิดพลาดก็ใช่ว่าจะเสียเวลาไปเปล่าประโยชน์เสียเมื่อไหร่

หากมองอีกมุม ความล้มเหลวนั้นก็คือการเริ่มต้นเรียนรู้ข้อผิดพลาดต่างๆ เพื่อเป็นบทเรียนแก้ไขให้ทุกอย่างราบรื่นในวันข้างหน้า เช่น ถ้าครั้งแรกเรารู้แล้วว่าพลาดตรงไหน ครั้งต่อไปก็จะไม่ทำอีก และหาหนทางอื่นๆ นำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ แม้จะไม่รู้ว่าตัวเองต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไหร่ หรือต้องล้มลุกคลุกคลานอีกสักกี่ครั้ง แต่สิ่งที่ขับเคลื่อนระหว่างทางไปถึงเส้นชัยนั้นต้องมีแรงใจสำคัญที่ว่า ‘อย่ายอมแพ้ต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น’  

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เราได้แรงบันดาลใจจาก ‘กัมบัตเตะ: ล้มเจ็ดครั้ง ลุกแปดครั้ง’ หนังสือจากสำนักพิมพ์อมรินทร์ How to เขียนโดย ‘โนบูโอะ ซูซูกิ’ นักเขียนชาวญี่ปุ่น ที่เล่าความหมายของคำว่า ‘​กัมบัตเตะ’ ผ่านเรื่องราวใกล้ตัวของชาวญี่ปุ่น เช่น บุคคลสำคัญ วัฒนธรรม หรือสิ่งของในชีวิตประจำวันของประเทศญี่ปุ่น ทุกอย่างเหล่านี้ต่างมีหลักปรัชญากัมบัตเตะแทรกซึมในการขับเคลื่อนดำเนินชีวิตทั้งสิ้น

สู้ชีวิตแบบกัมบัตเตะ

คำว่า ‘กัมบัตเตะ’ นั้นมาจากคำว่า ‘กัมบารุ’ เป็นคำกริยาภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ‘ทำให้ดีที่สุด’ ‘อย่ายอมแพ้’ ‘ยืนหยัดไว้’ ‘พยายามปรับปรุงแก้ไข’ หรือ ‘บากบั่นอดทน’ ซึ่งปรับให้เป็นคำสรรพนามบุรุษที่สอง นั่นคือ ‘กัมบัตเตะ’ แปลว่า ‘ทำให้ดีที่สุดและอย่ายอมแพ้’ หากเปรียบเป็นสุภาษิตไทยอาจจะสอดคล้องประโยคที่ว่า ‘ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น’ ถ้าเราได้เราลองพยายามอย่างเต็มที่ ก็ต้องมีสักวันหนึ่งที่เป็นของเรา เพียงแค่อย่าย่อท้อไปก่อน

ยกตัวอย่างเรื่องราวของ ยาโยอิ คุซามะ ศิลปินที่มีภาพจำเป็นผลงานลายจุดต่างๆ เบื้องหลังของเธอไม่ได้ราบรื่นและประสบความสำเร็จได้รวดเร็ว ตลอดชีวิตของเธอไม่เพียงกับเจ็บปวดกับปัญหาครอบครัว แต่ยังต้องเผชิญกับโรคร้ายที่เห็นภาพหลอนเป็นลายจุดและดอกไม้ อย่างไรก็ตามเธอก็ยังฝึกฝนวาดรูปด้วยความยากลำบากกว่าคนอื่นไปหลายสิบปีจนกลายเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดัง สิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอยืนจุดสูงสุดถึงวันนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจาก ‘ความไม่ยอมแพ้’ ในตัวของเธอเอง

เพราะชีวิตคนเราต่างต้องผิดพลาดอยู่เสมอ การไม่ยอมแพ้ในตัวเองและลุกขึ้นสู้จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเดินหน้าต่อ เหมือนกับประโยคที่ว่า ‘ล้มเจ็ดครั้ง ลุกแปดครั้ง’ หมายถึง หากล้มเจ็ดครั้ง ก็ขอให้ลุกยืนแปดครั้ง ไม่สำคัญว่าเราจะต้องล้มอีกสักกี่หน แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่าเราลุกขึ้นยืนหยัดสู้ใหม่ได้อีกครั้งหรือไม่ ซึ่งมันเป็นประโยคที่แสดงถึงการไม่ยอมแพ้ให้กับความผิดพลาดมาทำลายชีวิตหรอกนะ 

ชีวิตลิขิตด้วยการกระทำ

เนื้อหาจากหนังสือเล่มนี้ที่เราชอบและทำให้ต้องเอากลับมาคิดตามนั่นคือ ส่วนใหญ่เวลาคนให้กำลังใจใครสักคน เรามักจะกล่าวกับเขาว่า “โชคดีนะ” ซึ่งเป็นคำพูดที่ใครๆ ต่างก็ใช้กันบ่อยๆ แต่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้น เขากลับมองคำนี้แตกต่างจากบ้านเรา โดยคนญี่ปุ่นจะใช้คำว่า “กัมบัตเตะ” แทน เพราะคำว่า ‘โชคดี’ เป็นเรื่องของโชคชะตา ไม่ใช่เรื่องของตัวเราที่จะควบคุมได้ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ทุกสิ่งที่เผชิญก็มาจากเราเองทั้งนั้นที่เลือกลงมือกระทำ ทั้งๆ ที่เราต่างหากเป็นคนกำหนดชะตาชีวิตตัวเองด้วยเช่นกัน แล้วทำไมเราถึงไปเชื่อโชคชะตามากกว่าการเชื่อมั่นในตนเองล่ะ

มีประโยคหนึ่งในหนังสือที่น่าสนใจ ซึ่งสอดคล้องกับการเชื่อมั่นในตนเองมากกว่าโชคชะตา โดยเขากล่าวว่า “ในเชิงปรัชญา คำว่ากัมบัตเตะ หมายความว่า จงทำทุกสิ่งที่คุณทำได้ ทำดีที่สุดเท่าที่พอจะรู้วิธี แต่ถ้าสิ่งต่างๆ ไม่ลงเอยอย่างที่ต้องการก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องรู้สึกแย่ เพราะสิ่งที่คุณทำทุกอย่างอยู่ในอำนาจของตัวเองแล้ว รวมถึงยังเป็นการยอมรับว่า สิ่งต่างๆ อาจไม่สำเร็จอย่างสมบูรณ์ แม้ผลลัพธ์จะไม่เป็นไปตามที่หวังก็ไม่สำคัญเลย เพราะคุณรู้อยู่แก่ใจว่า ตัวเองไม่ได้ทำให้โอกาสที่ได้มานั้นสูญเปล่า”

กำลังใจคือเชื้อไฟให้เราฮึดขึ้นมาลุยต่อ

ในหนังสือมีบอกถึงการพูดให้กำลังใจสไตล์กัมบัตเตะ เช่น ทำให้ดีที่สุดนะ มีเท่าไหร่ใส่ไปให้หมด อย่ายอมแพ้ อย่ารู้สึกหดหู่ใจไปเลยหรือก้าวต่อไปข้างหน้านะ สิ่งเหล่านี้สามารถใช้ได้ในทุกบริบทในชีวิตประจำวัน เช่น ส่งกำลังใจให้ครอบครัวก่อนไปทำงาน ปลอบใจเพื่อนฝูง หรือเมื่อมีเหตุการณ์สะเทือนใจต่อคนในสังคม ก็สามารถใช้คำนี้ปลุกกำลังใจของพวกเขาให้ฟื้นขึ้นมาได้เช่นกัน

อีกหนึ่งบทเรียนที่ตกผลึกจากแนวคิดกัมบัตเตะ ทำให้เราค้นพบว่า คำชมหรือการให้กำลังใจกันก็เป็นสิ่งสำคัญในการให้คนๆ หนึ่งรู้สึกสู้ต่อไป สังเกตได้ว่า หากเราท้อแท้ในการทำบางสิ่ง หากมีใครสักคนที่คอยอยู่เคียงข้างเรา และคอยพูดจาให้กำลังใจกันที่เราเห็นผ่านตากันบ่อยๆ ในโซเชียลมีเดีย เช่น เราทำได้ พรุ่งนี้ต้องดีกว่าเสมอ ไม่เป็นไร เรามาสู้กันใหม่ หรือ เรามันเลือดนักสู้! แน่นอนว่า มันคงรู้สึกอุ่นใจกว่าการอยู่โดดเดี่ยวไม่มีใครสนับสนุน

สุดท้ายนี้กัมบัตเตะ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ถ้อยคำให้กำลังใจผู้อื่นเพียงอย่างเดียว แต่มันยังเป็นกรอบความคิดที่จะช่วยให้ตัวเองก้าวไปข้างหน้าเสมอ ไม่ว่าจะเผชิญอุปสรรคอะไรก็ตาม รวมถึงมันเป็นแนวคิดที่ทำให้เราไม่จมปลักกับความสิ้นหวังจนเกิดเป็นความท้อแท้ในการดำเนินชีวิตต่อไป

“อย่ากลัวที่จะทะยานไปข้างหน้าพร้อมรอยยิ้มและความเชื่อมั่นในตนเอง”

สู้ต่อไป กัมบัตเตะ!


เรื่อง: จารุจรรย์ ลาภพานิช

AUTHOR