เมื่อน้ำท่วมมาพร้อมความทุกข์ที่ท่วมท้นกว่า ฮีลใจอย่างไรดีในยามเผชิญหน้ากับภัยพิบัติ

ช่วงปลายฝนของเดือนกันยายนที่ผ่านมา หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเมืองไทยคือน้ำท่วมภาคเหนือและภาคอีสาน ยกตัวอย่าง ที่เชียงใหม่ จังหวัดที่ผมอาศัยอยู่ แม้ผมอาจจะไม่ได้เป็นผู้ประสบภัยโดยตรง (แต่ก็เฉียดมากแล้ว) แต่ก็เข้าใจดีถึงความยากลำบากของเพื่อนพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย เพราะคงไม่มีใครสนุกแน่ที่ต้องขนย้ายข้าวของหนีน้ำ หรือต้องใช้ชีวิตอยู่กับน้ำที่ท่วมในบริเวณบ้านตลอดเวลา ไหนจะหลังน้ำลดที่ต้องทำความสะอาดครั้งใหญ่อีก

ข้อเท็จจริงก็คือ น้ำท่วมปี 2567 นี้ ระดับน้ำแม่ปิงสูงเป็นประวัติการณ์ วัดได้ 4.93 เมตร สูงกว่าน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 และปี 2565 ที่วัดระดับได้ 4.90 เมตร และ 4.65 เมตร ตามลำดับ 

สถานการณ์น้ำท่วมย่อมส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในพื้นที่ประสบภัย ภาพอาคาร บ้านเรือน และร้านค้าจำนวนมาก รวมถึงย่านเศรษฐกิจหลายจุดที่ถูกมวลน้ำไหลหลากเข้าครอบครอง ถูกแชร์ตามหน้าสื่อโซเชียลฯ พร้อมด้วยการรายงานข่าวสาร กำลังใจ และปัจจัยในรูปแบบต่างๆ

ในวันนี้ ผมและคุณ (ผู้อ่าน) อาจจะไม่ได้เป็นผู้ประสบภัย แต่ใครจะรู้ล่ะ วันหนึ่งข้างหน้าสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นกับพวกเราก็ได้ โดยเฉพาะสาเหตุของความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลกที่ผันแปรขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น ในแง่หนึ่ง สิ่งที่ผู้ประสบภัยเผชิญร่วมกันคือความเสียหายทางทรัพย์สินที่เกิดจากน้ำท่วม ต่างกันตรงที่ความหนักหรือเบา มากหรือน้อย และในอีกแง่หนึ่ง คือการเผชิญกับความรู้สึกวิตกกังวลต่างๆ นานาต่อสถานการณ์

เรื่องของการรับมือกับภัยพิบัติอาจเป็นเรื่องที่ยากจะควบคุม เพราะมันเกี่ยวข้องกับลม ฟ้า อากาศ แต่สิ่งที่พวกเราพอจะควบคุมได้คือเรื่องของอารมณ์หรือปฏิกิริยาที่จะตอบสนองต่อเหตุการณ์ตรงหน้า เพื่อไม่ให้กลายเป็นผู้ประสบภัยทางความรู้สึกที่มากเกินไป เชื่อว่า ทุกคนมีเงื่อนไขในชีวิตที่แตกต่างกัน และมีวิธีแสดงออกต่อสิ่งที่พบเจอต่างกัน แต่ถ้าจะมีสิ่งแบ่งปันเล็กๆ น้อยๆ เมื่อยามที่ความรู้สึกกำลังดาวน์ได้บ้างก็เป็นเรื่องที่ดี แล้วคำแนะนำเหล่านั้นคืออะไรบ้างล่ะ?

พักข่าวสักหน่อยหากรู้สึกเครียด

การอ่านข่าวเยอะสามารถพาให้เครียดและวิตกกังวลพอๆ กับที่รับรู้ข่าวสารเพิ่มเติมได้ เพราะบางเรื่องมันทำให้เราต้องรับรู้สิ่งที่ ‘อยู่เหนือการควบคุม’ ของเราเกินจำเป็น ยิ่งเราอยู่ในยุคที่โซเชียลอยู่ในมือ ข่าวสารไหลท่วมฟีด และใครก็สามารถเป็นนักข่าวได้ ทุกอย่างจึงอาจขาดการถูกกลั่นกรองตามข้อเท็จจริง ยังไม่นับเรื่องของเฟกนิวส์อีก ดังนั้น ถ้าเริ่มรู้สึกวิตกจากการเสพข่าวมากเกินไป ลอง ‘ถอน’ ตัวเองออกมาจากฟีดสักหน่อย และหากยังไม่มีอะไรเร่งด่วนนัก ลองกำหนดเวลาในการเข้าเช็คข่าวสารเป็นช่วง หรือเลือกปักเฉพาะเว็บไซต์หรือเพจข่าว ที่เชื่อถือได้ก็พอ

ลองพูดคุยกับคนอื่นดูบ้าง

ข้อนี้อาจเหมาะกับคนที่อยู่คนเดียวเป็นพิเศษ บางทีการจมอยู่กับความรู้สึกของความวิตกกังวลมากเกินไป อาจกลายเป็นการสะสมความเครียดโดยไร้ที่ซึ่งระบาย และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงได้ ดังนั้น การได้พูดคุย แชร์สถานการณ์ เล่าความรู้สึกกับคนอื่นบ้าง ถือเป็นหนทางบรรเทาทุกข์ที่ดี มากไปกว่านั้น การได้พูดคุยกับคนที่อยู่นอกสถานการณ์ภัยพิบัติที่เราเผชิญ และเป็นคนที่เราไว้ใจ นอกจากจะเป็นการทำให้เราได้ถอยออกมามองปัญหาชัดเจน ก็อาจนำไปสู่การค้นพบหนทางของการแก้ปัญหาบางเรื่องที่เราคาดไม่ถึง ไปพร้อมกับช่วยฮีลใจตัวเองจากบทสนทนาได้

ห่างแอลกอฮอล์สักพัก

เข้าใจดีว่าสำหรับบางคน แอลกอฮอล์อาจเป็นที่พึ่งเมื่อยามต้องการฮีลใจชั่วครู่ชั่วยามได้ แต่ในบางสถานการณ์อย่างเช่นการอยู่ในช่วงเผชิญสภาวะของภัยพิบัติ สิ่งที่ดูเหมือนจะช่วยได้อย่างแอลกอฮอล์ อาจกลายเป็นตัวสร้างปัญหาเพิ่มเติม หรือเพิ่มความเครียดที่มีอยู่แล้วให้ทวีขึ้นได้ ทางที่ดี รอให้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายสักหน่อย แล้วค่อยกลับไปรินลงแก้วจะดีกว่า ระหว่างนี้ลองปรับพฤติกรรมมารักษาสมดุลจิตใจผ่านการดูแลตัวเองง่ายๆ เช่น หาเวลาในการพักผ่อนหรือรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ (เท่าที่จะทำได้หรือหาได้) เพื่อเติมพลังในการคิดหาทางต่อสู้กับช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ดีกว่า

อย่ากลัวจะขอความช่วยเหลือ

บางครั้งการขอความช่วยเหลือไม่ว่าจะด้านใดก็ตามเป็นเรื่องที่ควรทำ โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพจิตในสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างภัยพิบัติ อารมณ์ของเราอาจแปรปรวนได้ สิ่งสำคัญคือต้องหมั่นสังเกตความรู้สึกของตนเองให้ดี หากมีสัญญาณบางอย่างที่ผิดปกติ เช่น นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย มีปัญหาด้านสุขภาพ ปวดหัว นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความวิตกกังวลที่มากขึ้น ดังนั้น การขอความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด

แน่นอนว่าทุกคนต่างเป็นปัจเจกบุคคล และย้ำว่าแต่ละคนมีเงื่อนไขในการรับมือกับสถานการณ์เมื่อเผชิญกับภัยพิบัติที่ต่างกันไป ดังนั้น ไม่มีวิธีการใดที่ถูกหรือผิด แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องเริ่มต้นด้วยการตระหนักรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง เพราะมันจะเชื่อมโยงกับอารมณ์ความรู้สึก และนำไปสู่ผลลัพธ์ต่อตนเองหรือคนรอบข้าง คอยดูแลรักษาดวงใจในช่วงนี้ให้ดี เพราะมันจะค่อนข้างเปราะบาง  เช่นเดียวกับอารมณ์ความรู้สึก ถ้ามันได้ปลดปล่อยถูกทาง หรือได้รับการปกป้องอย่างดีพอ เราจะมองเห็นว่า ทุกปัญหาจะมีวันคลี่คลายเสมอ

AUTHOR